พท.ยันยิ่งลักษณ์ไม่หนี ศาลฎีกากลับจําคุกจตุพร

ไต่สวนพยานนัดสุดท้ายคดีจำนำข้าว “บิ๊กตู่” กระทุ้งสื่อเขียนเตือนประชาชนอย่าก่อความไม่สงบในพื้นที่ศาล ฮึ่มอย่าจ้องจุดชนวน ยันไม่ต้องกำชับเจ้าหน้าที่ รู้งานตัวเองดีอยู่แล้ว ผบ.ทบ. คาดมวลชนมา 300-500 คน ตร.-ทหาร สนธิกำลังดูแลทั่วบริเวณศาลตามปกติ ไม่มีอะไรน่าห่วง พท.ยัน “ยิ่งลักษณ์” ไม่คิดหลบหนี คาดแถลงปิดคดีด้วยตัวเอง “วัฒนา” อัด “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” ไม่เคารพสิทธิประชาชน เบรกมวลชนไปให้กำลังใจ “หมวดเจี๊ยบ” แฉทหารบุกสกัดมวลชนต่างจังหวัด ศาลฎีกาสั่งจำคุก “จตุพร” 1 ปี คดีหมิ่น “มาร์ค” คุมตัวเข้าเรือนจำทันที เจ้าตัวยังฝืนยิ้มไหว จ๊ะเอ๋ “เณรคำ” แดนแรกรับ พท.แทงหนังสือนายกฯยื่นศาล รธน.ตีความ ก.ม.คดีอาญานักการเมือง ย้ำขัดหลักการ เลือกปฏิบัติ ตั้ง กมธ.ร่วมปรับร่างพรรคการเมืองตามคาด นายกฯเปิดโลกนวัตกรรม เสนอไอเดียพิสดารแหวกแนว อัดเอ็นจีโอค้านตะบันราดชาติไม่ต้องทำอะไร ฉุน ขรก.ทำงานแบบลิงหลอกเจ้า

งวดเข้าไปทุกขณะ ใกล้วันตัดสินเข้าไปทุกที สำหรับคดีจำนำข้าวที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตกเป็นจำเลยในความผิดฐานปล่อย ปละละเลยไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวจนทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท โดยเรื่องเข้าสู่กระบวนการของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตั้งแต่ต้นปี 2558 และวันที่ 21 ก.ค.นี้ จะเป็นการไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้ายแล้ว

...

“บิ๊กตู่” โวยสื่อไม่เตือนกองเชียร์ “ปู”

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. เวลา 10.45 น. ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่จะมีประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งจะไต่สวนคดีจำนำข้าวนัดสุดท้ายในวันที่ 21 ก.ค.ว่า “ไม่ต้องกำชับเจ้าหน้าที่ เขาก็มีหน้าที่ของเขา สื่อเองก็ต้องกำชับประชาชน เตือนอย่าก่อความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ศาล จะต้องเคารพศาล สื่อต้องเขียนแบบนี้ มาให้ผมสั่งทุกเรื่อง สื่อต้องเตือนประชาชนบ้างว่าอะไรที่ทำได้ทำไม่ได้ หรือหน้าที่สื่อมีเพียงอย่างเดียวว่ารัฐบาลจะทำอะไร ประชาชนจะเอาอะไร แล้วมาตีกันสองข้าง หน้าที่สื่อคืออยู่ตรงกลาง เขียนแล้วให้ศาลและกระบวนการยุติธรรมตัดสิน คุณก็เขียนแค่นี้ไอ้นี่จะมาประท้วง ไอ้นี่จะมาเดินขบวนหรือมาสนับสนุน รัฐบาลจะทำอย่างไรจะใช้กฎหมายจัดการหรือไม่ มันก็ตีกันอยู่แบบนี้ คุณก็ต้องสอนคนว่าถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องมา ดูที่บ้านก็ได้ มาแล้วจะเกิดอะไรขึ้น คุณก็รู้ว่าคนต้องการอะไร คุณก็จะไปจุดชนวนแบบนี้ให้ผมตลอด แบบนี้ไม่ไหว พอแล้ว”

ผบ.ทบ.คาดมวลชน 300–500 คน

ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช.กล่าวถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยว่า ไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ เพราะเคยชี้แจงไปแล้วว่าการออกมาให้กำลังใจสามารถทำได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็มาขึ้นศาลหลายครั้งแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายก็จะมีมวลชนมาให้กำลังใจมากขึ้น แต่เชื่อมั่นทุกคนมีวุฒิภาวะ เบื้องต้นทราบว่าน่าจะมาไม่มากเท่าใด ประเมินยอดได้ประมาณ 300-500 คน มากกว่าครั้งก่อนเพียงเล็กน้อย สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยก็เป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะไปดูแลเรื่องความปลอดภัยและการจราจร ขณะที่ทหารในส่วนกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ก็ดูแลในภาพรวมด้วยเช่นกัน ดำเนินการเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ไม่มีอะไรที่น่าห่วงใย เมื่อถามว่า กลัวมือที่สามจะสร้างสถานการณ์หรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัยตอบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามหน้าที่อยู่แล้ว เมื่อถามว่า หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกพิพากษาคดีจริงแล้วหลบหนีออกนอกประเทศ ทางคสช.จะดำเนินการอย่างไร เลขาธิการ คสช.ตอบว่า ต้องว่ากันอีกที คงไม่หรอก ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบกฎหมาย อย่าไปคิดอะไรที่ไกลเกินเลย บางทีอาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ขอให้ผ่านวันที่ 21 ก.ค.ไปก่อน เรายังมีเวลากว่า 2 เดือน เมื่อถามอีกว่า ถ้าทำเรื่องอนุญาตไปต่างประเทศ พล.อ.เฉลิมชัยตอบว่า เป็นอีกเรื่องหนึ่งตนไม่ทราบ

“วิษณุ” ชี้คดีอาจหน่วงไปอีกนิด

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกระบวนการพิจารณาคดีจำนำข้าวว่ามาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ขัดรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่ว่า ขึ้นอยู่กับศาลจะพิจารณาว่าสมควรต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากเห็นสมควรต้องยื่นตีความ การสืบพยานต้องดำเนินต่อไป แต่ยังพิพากษาไม่ได้ ต้องรอคำวินิจฉัยก่อน เมื่อถามว่า หากผลวินิจฉัยระบุว่ามาตรา 5 ขัดรัฐธรรมนูญ หลักฐานใหม่ที่อัยการยื่นเพิ่มเติมต้องเอาออกจากสำนวนหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า หากศาลบอกว่าขัดก็ควรจะเป็นเช่นนั้น เมื่อถามว่า จะทำให้กระบวนการพิจารณาล่าช้าออกไปหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า กระบวนการมันต้องเป็นเช่นนั้น ไม่โทษกันว่าช้า

เด็ก พท.ยัน “ยิ่งลักษณ์” ไม่คิดหนี

นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันที่ 21 ก.ค. ซึ่งเป็นวันสืบพยานนัดสุดท้ายคดีจำนำข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ คงมีคนเดินทางมาให้กำลังใจมากกว่าเดิม อดีต ส.ส.ที่เคยไป 10 คน อาจเพิ่มเป็น 20-30 คน ประชาชนครั้งที่แล้วประมาณ 700 คน ครั้งนี้คงเพิ่มประมาณเท่าตัว ตนบอกคนที่อยากจะมาหลายคนว่าไม่ต้องมาก็ได้กลัวไม่มีที่ยืน รัฐบาลไม่ต้องกลัวว่าคนที่มาจะก่อปัญหา ไม่มีมือที่ 3 ไม่มีปัญหาอะไรทั้งนั้น ทุกครั้งเขามาฟังเสร็จก็กลับ ขออย่าให้เจ้าหน้าที่ไปข่มขู่อดีต ส.ส. ขอร้องไม่ให้พามวลชนมา ถ้ารัฐบาลทำใจมองเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องธรรมดาก็จบ ไม่มีอะไร อย่ากังวล ทุกคนต่างรักประเทศ คนที่เดินทางมาเพราะรักและศรัทธา รัฐบาลคุมกำลังคุมได้เป็นแสนๆคน กลัวอะไรกับประชาชนที่จะมาไม่กี่คน เมื่อถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะแถลงปิดคดีด้วยตัวเองหรือไม่ นายสมคิดตอบว่า เท่าที่ได้คุย เข้าใจว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะแถลงปิดคดีด้วยตัวเอง ไม่มีเหตุผลที่จะทำเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องการพิสูจน์ตัวเองอยู่แล้ว ไปศาลด้วยตัวเอง และไม่หลบหนีอย่างที่บางคนวิเคราะห์กันไป

ซัด “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” ไม่เคารพสิทธิ ปชช.

นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เชื่อว่าจะมีประชาชนเดินทางไปให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯที่มาจากประชาชน กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. รวมทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ออกมาให้สัมภาษณ์ในลักษณะห้ามไม่ให้มวลชนเดินทางมาที่ศาลฯนั้น แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของผู้มีอำนาจที่ไม่เคยเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญเลย อยากถาม พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ว่าการที่มวลชนจะเดินทางไปให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้นผิดกฎหมายข้อไหน นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงออกถึงการไม่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งไม่เคารพรัฐธรรมนูญที่พวกท่านตั้งคนมาร่างเองกับมืออีกด้วย ประชาชนที่จะมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้มาชุมนุมทางการเมือง สร้างความวุ่นวาย เขาใช้เงินส่วนตัว ไม่ได้ใช้งบหลวง หรือเบิกรถหลวง เครื่องบินหลวงเดินทาง

แฉทหารสกัดมวลชนแห่ไปศาล

ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคเพื่อไทยว่า ในช่วง 1-2 วันนี้ อดีต ส.ส.ภาคอีสาน พรรคเพื่อไทย ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาติดตามทั้งตัวอดีต ส.ส. และลูกน้อง คนสนิท นอกจากนี้ ยังห้ามรถยนต์ของชาวบ้านที่รวมเงินกันเช่าเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวันที่ 21 ก.ค.นี้ด้วย

ข้องใจ “บิ๊กตู่” กลัวอะไรนักหนา

ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่อาจมีประชาชนจำนวนมากไปให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ศาลฎีกาฯ วันที่ 21 ก.ค. ว่าไม่แปลกที่จะมีคนสนใจการพิจารณาคดีวันที่ 21 ก.ค. เพราะประชาชนจำนวนมากรู้สึกเห็นใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ถูกดำเนินคดี ทั้งๆที่ทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องเกษตรกร ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯต้องตื่นเต้นด้วย หากเป็นห่วงประชาชนที่จะเดินทางมาที่ศาลจริง ควรอำนวยความสะดวกให้แก่พวกเขา และรักษาความปลอดภัยให้บรรยากาศเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่ใช่ส่งเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจไปกดดันมวลชนถึงที่บ้านตามจังหวัดต่างๆ เพื่อสกัดกั้นมวลชนไม่ให้เดินทางมา ซึ่งอาจทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ดูไม่ดี หรือถูกนินทาว่ากลัวอะไรกับผู้หญิงตัวเล็กๆคนหนึ่ง

ศาลฎีกาถกคดี “จตุพร” หมิ่น “มาร์ค”

วันเดียวกัน ที่ห้องพิจารณา 914 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาฎีกา คดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตนายกฯ เป็นโจทก์ฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา กรณีเมื่อวันที่ 14 เม.ย.52 และวันที่ 10 พ.ค.52 นายจตุพรปราศรัยในที่ชุมนุม นปช.ใส่ความนายอภิสิทธิ์ทำนองว่า เป็นรัฐบาลชั่ว เลวที่สุด สั่งการให้คนเสื้อน้ำเงินยิงคนเสื้อแดงช่วงการประชุมอาเซียน สร้างสถานการณ์ที่กระทรวงมหาดไทยว่าถูกกลุ่มคนเสื้อแดงทุบรถ เป็นการจัดฉากของรัฐบาลทรราชฟันน้ำนมและเป็นฆาตกรมือเปื้อนเลือด โจทก์จะต้องถูกประหารชีวิต ข้อหาฆ่าคนตาย และข้อความอื่นๆล้วนเป็นเท็จ ทำให้โจทก์เสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างมาก ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จำเลยให้การปฏิเสธ คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ยื่นฎีกา

ไม่เห็นพ้องศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง

ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงนายอภิสิทธิ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเสร็จไปก่อนเกิดความไม่สงบที่กระทรวงมหาดไทย ไม่มีเหตุผลใดที่จะสร้างสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีก เมื่อพิจารณาภาพเหตุการณ์ประกอบมีกลุ่มคนสวมเสื้อแดงรุมทุบทำลายรถนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นได้รับบาดเจ็บ หากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์จัดฉากน่าจะนำนายนิพนธ์ออกไปพร้อมนายอภิสิทธิ์ด้วย ข้ออ้างจำเลยไม่มีน้ำหนัก เลือกที่จะหยิบยกข้อเท็จจริงเฉพาะส่วนนี้มาใส่ความเพื่อหวังผลทางการเมือง ไม่ได้แสดงความเห็นโดยสุจริตแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามโจทก์ฟ้อง ที่ศาลล่างพิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

สั่งจำคุก 1 ปีคุมตัวเข้าเรือนจำทันที

ศาลฎีกาพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 1 ปี พร้อมให้โฆษณาคำพิพากษาลงในหนังสือพิมพ์รายวัน 3 ฉบับ ติดต่อกัน 7 วัน โดยให้จำเลยชำระค่าโฆษณา จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้าคุมตัวนายจตุพร พร้อมนำตัวขึ้นรถตู้เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยระหว่างที่นำตัวขึ้นรถนายจตุพรยังคงยกมือไหว้ทักทายสื่อมวลชนด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ก่อนเจ้าหน้าที่จะนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯรับโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไป

เจอ “เณรคำ” แดนแรกรับ

นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า เมื่อนายจตุพรถูกส่งตัวมาควบคุมยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะนำตัวไปตรวจสุขภาพร่างกายทำประวัติผู้ต้องขัง และส่งตัวไปคุมขังยังแดนแรกรับเพื่อให้ปรับตัว ประมาณ 2 อาทิตย์ จึงย้ายไปแดนอื่นตามความเหมาะสม หากนายจตุพรมีอาการเจ็บป่วยเพิ่มเติมหรือมีโรคประจำตัวอื่นๆ ต้องแจ้งรายละเอียดให้แพทย์ภายในเรือนจำทราบ ส่วนกรณีที่นายจตุพรเคยป่วยด้วยโรคกรวยไตอักเสบและติดเชื้อขณะที่ถูกควบคุมตัวอยู่ภายในเรือนจำก่อนหน้านี้ โรคดังกล่าวไม่ใช่โรคประจำตัวแต่เป็นอาการที่สามารถรักษาให้หายได้ โดยนายจตุพรเข้ามาอยู่ในแดนแรกรับวันเดียวกับนายวิรพล สุขผล หรือเณรคำ ทั้งคู่ก็คงเจอกัน แต่ไม่มีอะไรเพราะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลตลอด

ยกฟ้องแกนนำพันธมิตรชี้ฟ้องซ้ำ

ขณะเดียวกันที่ศาลอาญา ศาลมีคำพิพากษาที่อัยการยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายสุริยะใส กตะศิลา นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายอมร อมรรัตนานนท์ และนายเทิดภูมิ ใจดี เป็นจำเลยที่ 1-9 ในความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา และใช้กำลังเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเมื่อวันที่ 25 พ.ค.2551 จำเลยทั้ง 9 คน เป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรจัดชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นกล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลและเคลื่อนที่ไปสถานที่ราชการหลายแห่ง ศาลพิเคราะห์เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1-6 ได้ดำเนินคดีไปแล้วเป็นฟ้องซ้ำให้ยกฟ้อง และเนื่องจากการชุมนุมถือว่าสงบและปราศจากอาวุธ ส่วนความไม่สงบเกิดจากฝ่ายตรงข้าม และการปราศรัยมีมูลความจริงหลายเรื่อง ถือว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมในระดับหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 7-9 จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิด แต่มีความผิดเป็นหัวหน้าจัดชุมนุมวุ่นวายในบ้านเมืองสั่งให้เลิกไม่เลิก เห็นควรให้รอการกำหนดโทษไว้มี 2 ปี

พท.จี้นายกฯส่งศาล รธน.ตีความ

เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ศูนย์บริการประชาชน บริเวณสำนักงาน ก.พ. นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ขอให้พิจารณาส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ สนช.แก้ไขว่าตราขึ้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยนายอนุสรณ์กล่าวว่า เหตุที่ต้องมายื่นเรื่องกับนายกฯเพราะมองไม่เห็นช่องทางอื่นที่จะส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้

ย้ำ ก.ม.อาญานักการเมืองขัด รธน.

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานด้านกฎหมาย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคได้มีหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้พิจารณาและส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ใน 2 ประเด็น คือ 1.ร่างกฎหมายดังกล่าวตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคแรก หรือไม่ เพราะเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวตราขึ้นโดยไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ และไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม 2.ข้อความในร่างมาตรา 24/1 ที่บัญญัติไม่ให้นำบทบัญญัติเรื่องอายุความในคดีอาญามาใช้บังคับ ร่างมาตรา 26 วรรคแรกและมาตรา 27 วรรคสอง กรณีที่ให้อำนาจศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ และตามร่างมาตรา 67 ที่ให้กฎหมายนี้มีผลใช้บังคับย้อนหลังไปใช้กับคดีที่ได้มีการยื่นฟ้องไว้แล้ว ก่อนที่ร่างกฎหมายนี้จะมีผลใช้บังคับ อันเป็นการตรากฎหมายที่มีผลใช้บังคับย้อนหลังเป็นโทษกับบุคคล ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคแรก มาตรา 27 วรรคแรก และวรรคสาม หรือไม่

หลักการไม่ถูกต้อง เลือกปฏิบัติ

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลักการพิจารณาคดีอาญาที่เป็นหลักสากลต้องพิจารณาคดีต่อหน้าจำเลย และบังคับกับคดีอาญาทุกประเภท เพราะคดีที่ไปสู่ศาลฎีกาฯ นักการเมือง เช่น คดียื่นบัญชีทรัพย์สิน เมื่อเทียบกับคดีอาญาอื่น บางครั้งคดีอาญาอื่นก็รุนแรงมากกว่า เช่น คดีฆ่ายกครัว หรือคนที่ยึดอำนาจรัฐ ความผิดฐานกบฏ ก็ร้ายแรงกว่าคดีอาญานักการเมือง ถ้านำวิธีพิจารณาคดีลับหลังมาใช้กับคดีอาญากับนักการเมือง ทำไมคดีเหล่านั้นไม่ใช้วิธีพิจารณาคดีลับหลังด้วย แสดงว่าไม่ใช่หลักการที่ดี เพราะถ้าดีต้องใช้กับทุกคดี และหลักทั่วโลกคดีอาญาต้องทำต่อหน้าจำเลย ต้องให้จำเลยได้รับสิทธิ์ในการต่อสู้คดี ไม่มีเหตุผลต้องเร่งรัดคดี และที่ผ่านมาไม่เคยเห็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ศาลยุติธรรม รัฐบาลแสดงท่าทีต้องการทำแบบนี้เลย ข้อบกพร่องที่เห็นได้ชัด คือ หลักการไม่ถูกต้อง และเลือกปฏิบัติ

“วิษณุ” แจง ก.ม.ยึดหลักสากล

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีที่พรรคเพื่อไทยขอให้นายกฯยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยืนยันว่าตรวจสอบแล้วทั้งหลักนิติธรรมหลักสิทธิมนุษยชน ประเด็นที่สังคมถกเถียงกันมากคือกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ย้อนหลังหรือไม่ หลักที่ยึดถือมาโดยตลอดเป็นอันเดียวกับที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุกฎหมายอาญาจะไม่มีผลย้อนหลังไปลงโทษหรือเพิ่มโทษคน แต่กฎหมายแพ่งและวิธีพิจารณาคดีย้อนหลังได้ ซึ่งจะไม่กระทบในสองเรื่องคือ คดีที่มีคำพิพากษาไปแล้วและคดีที่ย้อนหลังไปเพื่อเพิ่มโทษหรือกำหนดความผิด ส่วนคดีที่กระบวนการเริ่มต้นไปแล้วแต่ยังไม่มีคำตัดสิน กระบวนการที่เหลือก็ใช้วิธีพิจารณาใหม่ต่อไป เมื่อพรรคเพื่อไทยยื่นเรื่องมาก็จะได้พิจารณาว่าจะเป็นอย่างไร เมื่อถามว่า การพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ถูกมองว่าไม่เป็นไปตามหลักสากล นายวิษณุตอบว่า ที่จริงหลักสากลยอมให้พิจารณาลับหลังได้ในบางกรณี เช่น กรณีที่จำเลยหลบหนี จากเดิมไม่สามารถพิจารณาลับหลังได้เลย เพราะต้องให้จำเลยซักค้าน ต่อมามีทนายมาซักค้านแล้วจำเลยจึงไม่จำเป็นต้องมาศาลก็ได้ คือให้โอกาสมาแต่ไม่มาก็ได้ เมื่อเจอประเภทจำเลยหนี หลักกฎหมายคือพิจารณาไม่ได้ และหลายประเทศจึงได้เปลี่ยนแปลงกฎหมายใหม่ เราเองก็ได้แก้ไขกฎหมายในหลายฉบับ เช่น วิธีพิจารณาคดีทุจริต กำหนดว่าถ้าหนีต้องออกหมายจับ ถ้าจับไม่ได้ก็สามารถพิจารณาลับหลังได้

ย้ำไม่มุ่งเน้นเล่นงานตัวบุคคล

เมื่อถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการแก้กฎหมายดังกล่าวมุ่งไปที่ตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นายวิษณุตอบว่าไม่ใช่อย่างนั้น แต่มันชวนให้เข้าใจเช่นนั้น ในอดีตเคยมีกรณีที่ขอประกันตัวแล้วหลบหนีเป็นจำนวนมาก ทำให้คดีหยุดชะงัก ยิ่งเป็นคดีที่มีผู้กระทำผิดหลายคนก็จะยิ่งทำให้ยุ่งยาก มันมีบทเรียนจากหลายคดี จึงได้นำมาสู่การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เช่นเดียวกับต่างประเทศที่มีตัวอย่างหลายอย่าง กรณีของอดีตนายกฯก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ามีพฤติการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้น แต่เรื่องเหล่านี้ได้มีการคิดกันมานานแล้วไม่ใช่เพิ่งมาคิด เพราะเมื่อครั้งที่ตนเป็นรองนายกฯครั้งแรก ในสมัยที่นายทักษิณ เป็นนายกฯ ก็มีการเสนอเรื่องเช่นนี้มา

ตั้ง 11 กมธ.ร่วมปรับร่างพรรคการเมือง

เมื่อเวลา 12.40 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ตามมาตรา 267 วรรคห้าของรัฐธรรมนูญ 2560 ภายหลัง กรธ.ทำความเห็นโต้แย้งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ว่ามีเนื้อหาขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 5 ประเด็น อาทิ มาตรา 50 ขั้นตอนให้สมาชิกพรรค การเมืองร่วมสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ไม่มีมาตรการจัดการทุจริตในชั้นประชุมสาขาพรรค มาตรา 51 (4) การให้หัวหน้าพรรคการเมืองต้องลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 เท่านั้น มาตรา 138 การระบุให้พรรคการเมืองที่จัดตั้งสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดในจังหวัดใดไว้แล้ว สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดนั้นได้ทุกเขตเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งแรกทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบพรรคเล็ก ทั้งนี้ ที่ประชุม สนช.มีมติให้ตั้ง กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย 11 คน มาพิจารณาทบทวนข้อโต้แย้งดังกล่าวได้แก่ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายกล้านรงค์ จันทิก นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ พล.อ.วิชิต ศรีประเสริฐ สนช. นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง นายอุดม รัฐอมฤต นายภัทระ คำพิทักษ์ นายนรชิต สิงหเสนี นายประพันธ์ นัยโกวิท กรธ. และนายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. โดยกำหนดกรอบเวลา 15 วัน นับจากวันได้รับ การแต่งตั้ง และนัดประชุมครั้งแรกวันที่ 25 ก.ค.

“บิ๊กตู่” ขอทำจริง 4.0 อย่าขึ้นแค่ป้าย

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 09.00 น. ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “ตลาดนัดเปิดโลกผลงานวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพบผู้ใช้” และเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามสัญญาความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างมหาวิทยาลัย และบริษัท หน่วยงานผู้ใช้ผลงานวิจัยจำนวน 12 ผลงาน โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า การวิจัยพัฒนา และความมั่นคง ต้องพัฒนาเพื่อนำมาเพิ่มพูนรายได้นอกเหนือจากการส่งออก ขณะนี้พืชผลทางการเกษตรยังมีปัญหา ถ้าการศึกษาไม่สอนให้คนคิดและวิเคราะห์เป็นก็จะไปกันใหญ่ ประเทศก็จะอยู่ลำบาก วันนี้รัฐบาลพยายามทำทุกอย่างเพื่อกระจายรายได้ให้ทั่วถึง ลดความไม่เป็นธรรมทางกายภาพ ขอร้องทุกหน่วยงานว่า จะต้องปฏิบัติจริง พัฒนาให้เป็น 4.0 ไม่ใช่เพียงแต่ขึ้นป้ายให้เห็นเท่านั้น ถ้าไปสอนเด็กเพียงว่ามีเงิน 3 แสนบาทเราจะใช้อย่างไรให้เงินครบทั้งหมดภายใน 3 วัน ถ้าครูสอนแบบนี้ตนว่าต้องเอาไปฆ่าทิ้ง แล้วมันมีจริงๆ เป็นปัญหาของบ้านเรา ทั้งเด็ก ครู ผู้ปกครอง แล้วยังมีปัญหาทางการเมืองเข้ามาอีก

เสนอไอเดียแหวกแนวสุดพิสดาร

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า พวกที่ทำรถแว้นแข่งขัน เราควรไปล้วงคนพวกนี้มา เพราะถือว่ามีความสามารถ สมัยก่อนนวัตกรรมหลายอย่างผิดกฎหมายก็คือผิดกฎหมาย แต่ควรเอามาทำให้ถูก ไม่ใช่ทำให้เสียงดังอย่างเดียว แต่ทำให้รถเร็วขึ้น แข่งขันได้ สมัยก่อนมีการกวาดล้างพวกทำปืนแอบซ่อนทำ ต้องเรียกพวกนี้มาบรรจุที่กรมสรรพาวุธเพื่อให้มาผลิตปืนให้เป็นเรื่องราวไป คนพวกนี้หลบซ่อนหนีตำรวจยังคิดออก เราไม่ได้หลบซ่อนทำไมคิดไม่ออก ตนพูดในหลักการทางบริหารว่า ต้องเอาคนเหล่านี้มาช่วยกันพัฒนาประเทศ ไม่เช่นนั้นก็ไล่จับกัน อยากให้คิดนวัตกรรมแหวกแนว เช่น ตู้เย็นกับหม้อหุงข้าวเอามารวมกันได้หรือไม่ หรือตู้เย็นเอามารวมกับกระติกน้ำร้อนได้หรือไม่ เมื่อเราคิดนวัตกรรมแล้วต้องคิดกำหนดตลาด เพื่อรองรับการผลิตด้วย

วอนเอ็นจีโออย่าค้านตะบันราด

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้กำลังให้แก้ปัญหาเรื่องราคาข้าว ราคายางพารา เรื่องข้าวเราพยายามที่จะระบายออกไปให้ได้มาก แต่ถ้าทุกคนซื่อสัตย์ต่อกันมันก็จบ คิดถึงแต่ประโยชน์แต่ไม่เคยรู้จักที่จะทำอะไรให้ประเทศชาติ ตนก็เหน็ดเหนื่อยที่จะตามไล่จับกับเรื่องพวกนี้ ประชารัฐคือรัฐโดยข้าราชการ ประชาชน ประชาสังคม เอ็นจีโอก็ค้านกันอยู่นี่แหละไปไหนไม่รอด วันนี้เอ็นจีโอต้องร่วมมือกับรัฐบาลเปิดเวที ไม่ใช่เข้ามาจับผิด ไม่ใช่ไม่ทำอะไรเลย เพราะกลัวจะละเมิดสิทธิมนุษยชน เลยทำอะไรไม่ได้สักอย่าง และประเทศไทยก็ติดกับดักอยู่แบบนี้ ทั้งปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง ไฟฟ้า ขยะ ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง สรุปไม่มีใครให้สร้างโรงงานขยะ แล้วจะเอาไปทิ้งตรงไหน เอาไปลงทะเลหรือไง บางโครงการคนสนับสนุน 80-90 เปอร์เซ็นต์ เหลือแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ก็รอให้ข้าราชการไปต่อยตีกับเขา และก็ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนไปบังคับเขา บางอย่างต้องทำเพื่อส่วนรวม ไม่อย่างนั้นปัญหาจะหมักหมม

ฉุน ขรก.ทำงานแบบลิงหลอกเจ้า

“วันนี้ตนได้ข่าวว่า การสร้างงานในพื้นที่ ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของกระทรวงอะไรผมไม่อยากพูด ลงมาซื้อของที่สำเพ็ง เอาขึ้นไปให้คนบนเขาทอ มันคุ้มไหม ทำไมไม่ทำตั้งแต่ต้นทาง จะได้มีอัตลักษณ์ ถ้าทำแบบนี้ไม่ได้ มันเหมือนทำงานให้นายเห็น ผมไม่ชอบเรื่องเหล่านี้ อย่ามาหลอกผม” นายกฯกล่าว

แสลงหูอย่าเรียกประชานิยม

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขทุกอย่างข้างเดียวได้ เราต้องร่วมมือกันแก้ทั้งระบบ เราพยายามจะดูแลกันต่อภายใน 1 ปี ตอนนี้โครงสร้างที่คนได้ประโยชน์ก็มี คนที่ยังไม่ได้ประโยชน์ก็ยังมีอยู่ รัฐบาลก็ต้องปรับวิธีการในการดำเนินการ แต่ขออย่าเรียกร้องว่าเป็นเรื่องของประชานิยม ตนไม่อยากให้มันเป็นแบบนั้น การทำให้คนรักมันง่าย ไม่ต้องทำอะไรคนก็รักตนอยู่แล้ว แต่ถ้าทำคนก็จะเกลียดตน แต่มันจำเป็นเพื่อพวกเรา เกลียดตนไม่เป็นไร ทุกคนทำงานเต็มที่ อย่าไปขยายในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง

ผบ.ทบ.พอใจสัญญาประชาคม

ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.กล่าวถึงการเปิดเวทีสาธารณะเพื่อเผยแพร่ร่างสัญญาประชาคมว่า รู้สึกพอใจที่ประชาชนและนักการเมืองให้ความคิดเห็นมา ส่วนจะรับได้มากหรือน้อยถือว่าเป็นมุมมองแต่ละคน ภาพรวมที่ผ่านมา 3-4 เดือนทุกอย่างเบาลงไปมาก ในอนาคตจะมีกิจกรรมที่ออกมาส่งเสริมเรื่องเหล่านี้อีก ในเนื้อหาเราพยายามเขียนเพื่อสร้างจิตสำนึกของคนไทยทุกคน ที่ต้องร่วมมือกันสร้างบรรยากาศความสามัคคีปรองดองเพื่อให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ย้ำว่า ร่างสัญญาประชาคมไม่ใช่กฎหมายไม่มีผลบังคับ เป็นเพียงการโน้มน้าวจิตใจคนให้เห็นร่วมกันนำพาประเทศเดินไปข้างหน้าเพราะหากทำเป็นกฎหมายแล้วไปบังคับเชื่อว่าคนไม่รับแน่ หากทำเป็นกลางๆ เป็นเรื่องดีทั้ง 10 ประเด็น เชื่อว่าประชาชนจะรับได้ ส่วนการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนความประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ขณะนี้มีการตั้งศูนย์ฯ ทั่วประเทศตามคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. 74 ศูนย์ ในส่วนกลางจัดระบบครบถ้วนเป็นที่น่าพอใจ ตั้งแต่วันที่ 14-18 ก.ค.ได้รับเรื่องร้องเรียน 417 เรื่อง ทั้งทางโทรศัพท์และเอกสาร จากนั้นเราจะตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบและส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

พท.ซัดไร้ประโยชน์ ไม่แก้ขัดแย้ง

ขณะที่พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ ความเห็นต่อร่างสัญญาประชาคมและกระบวนการสร้างความปรองดองของรัฐบาลและ คสช.ว่า เมื่อพิจารณาร่างสัญญาประชาคม 10 ข้อแล้ว เห็นว่า 1.มีเนื้อหาที่ไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหรือนำไปสู่การสร้างความสามัคคีปรองดองแต่อย่างใด 2.ไม่ได้มีการศึกษาวิเคราะห์ต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งที่แท้จริง สิ่งที่พรรคเพื่อไทยเสนอไม่ได้นำเอาไปปฏิบัติหรือปรากฏอยู่ในร่างสัญญาดังกล่าว 3.รัฐบาลและ คสช.ต้องปฏิบัติหน้าที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรมอย่างแท้จริง เคารพความเห็นของฝ่ายต่างๆ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่า การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน นักวิชาการ และสื่อมวลชนยังคงเกิดอย่างต่อเนื่อง และตราบใดที่หลักนิติธรรมยังถูกละเมิด สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลยังไม่เป็นรูปธรรม ปัญหาความขัดแย้งไม่อาจลดลงได้ เนื้อหาหลายเรื่องเป็นสิ่งที่ได้ปฏิบัติเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์ต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความสามัคคีปรองดอง การลงนามหรือให้สัตยาบันจึงไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด

ชง ครม.แต่งตั้งปลัด 6 กระทรวง 25 ก.ค.

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในส่วนที่เหลือ หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งไปบางส่วนแล้วว่า ขณะนี้ตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า เหลืออยู่ประมาณ 6 หน่วยงาน ได้แก่ ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จริงๆ ส่งมาหมดแล้ว แต่ให้ไปทำมาใหม่ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.สั่งการให้กระทรวงใดเมื่อทำเรื่องเสนอตั้งปลัดกระทรวงแล้วให้ทำแผนการแต่งตั้งโยกย้ายระดับรองลงมาด้วย เพื่อให้เห็นหน้าตากัน แต่ไม่ได้ผูกมัด โดยวันที่ 25 ก.ค.จะเสนอ ครม.พิจารณาเพิ่มเติมอีก แต่อาจยังไม่ครบ เมื่อถามว่าการโยกย้ายข้ามห้วยยังมีอยู่หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ขณะนี้เท่าที่ดูยังไม่มี แต่อย่างที่นายกฯบอกโอกาสมีข้ามห้วย แต่ต้องจำเป็นจริงๆ ถึงจะทำ ซึ่งในอดีตก็เคยมี โดยที่เราอธิบายไม่ได้ แต่เจ้าตัวรู้ว่าทำไม ก็ขึ้นมานั่งบนฝั่งหน่อยแล้วกัน อย่าอยู่ในห้วยเลย

“วิษณุ” ชี้ปฏิทินเลือกตั้งยังไม่ชัด

นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณีที่ กกต.ประกาศปฏิทินเลือกตั้งในเดือน ส.ค.61 ว่า รัฐบาลฟังอยู่ ยังไม่รู้ว่าเป็นข่าวจริงหรือเปล่า เพราะข่าวระบุว่าเป็นการคุยกันภายใน ยังไม่มีมติใดๆออกมาทั้งสิ้น ไม่ทราบว่าที่ กกต.ประกาศอาศัยหลักอะไร น่าเป็นการกำหนดคร่าวๆเพื่อเป็นการเตรียมตัว เร่งรัดให้เห็นกรอบการทำงานของ กกต.ก็ได้ ความจริงยังกำหนดไม่ได้หรอก ทุกอย่างกำหนดได้ต่อเมื่อกฎหมายเลือกตั้งออกมาแล้ว และวันนี้กฎหมายเลือกตั้งยังไม่ได้เข้าสภาเพื่อพิจารณาเลย และยังไม่ได้ร่างด้วยซ้ำไป ต้องร่างและต้องเข้าสภาเพื่อพิจารณา และถ้ามีการแก้ไขก็ต้องตั้งกรรมาธิการร่วม แล้วทูลเกล้าฯถวาย ซึ่งมีเวลา 90 วัน ถึงตอนนั้นถึงจะรู้เลือกตั้งได้เมื่อไหร่ โดยมีเวลา 5 เดือนที่เป็นอำนาจของ กกต.ที่จะกำหนด ถึงตอนนั้น กกต.จะบอกได้ชัดเจนเลือกตั้งได้เมื่อไหร่

“บิ๊กเจี๊ยบ” เผยหลักพิจารณาโผทหาร

ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำบัญชีโยกย้ายนายทหารระดับชั้นนายพลประจำปี 2560 ในส่วนของกองทัพบกว่า ขณะนี้ตนยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ แต่จะต้องส่งเอกสารบัญชีโยกย้ายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ภายในวันที่ 31 ก.ค. การพิจารณาต้องยึดความเหมาะสมภาพรวมทั้งในเรื่องของความอาวุโส ผลงาน ตำแหน่งและสถานการณ์ในอนาคต ทั้งนี้หลังจากวันที่ 31 ก.ค. พล.อ.ประวิตร จะเรียกประชุมคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารระดับชั้นนายพลโดยมี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผบ.ทหารสูงสุดและผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วมประชุมครั้งแรกอย่างเป็นทางการ เมื่อถามว่าตำแหน่งระดับ 5 เสือกองทัพบกและแม่ทัพภาค รมว.กลาโหม สามารถให้คำแนะนำได้หรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัยตอบว่า ที่ผ่านมาตนได้ขอคำแนะนำจากทุกคน เพราะตนโตมาจากหน่วยรบพิเศษไม่รู้ว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร เมื่อเจออดีตผู้บังคับบัญชาก็จะถามว่ามีความคิดเห็นอย่างไร แต่ท้ายสุดคนที่ตัดสินใจก็คือตนเอง เมื่อถามว่าโผทหารครั้งนี้เป็นไปตามที่สื่อมวลชนนำเสนอหรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัยตอบว่า ก็เป็นบางส่วน แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจเพราะยังทำไม่แล้วเสร็จ

สปท.ปิดจ๊อบเลี้ยงอำลา 25 ก.ค.

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) แถลงว่า ในวันที่ 25 ก.ค. จะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของ สปท. ก่อนจะหมดวาระการทำงาน จะเป็นการพิจารณารายงานของการปฏิรูปของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เรื่องการจัดทำแผนการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าโดยรัฐ จากนั้นในช่วงเวลา 18.00 น. จะจัดเลี้ยงอำลาสมาชิก สปท. ที่ห้องกมลทิพย์ 1-2 ชั้น 2 โรงแรมเดอะสุโกศล ซึ่งค่าใช้จ่ายการจัดเลี้ยง ที่ประชุมมีมติให้เก็บจากสมาชิก สปท. โดยในงานดังกล่าว ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท.จะกล่าวขอบคุณสมาชิก พร้อมมอบใบประกาศเกียรติคุณให้กับสมาชิกทุกคนด้วย

ป.ป.ช.แฉ รพ.-บริษัทยาร่วมทุจริต

ที่สำนักงาน ป.ป.ช. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงถึงมาตรการแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องว่าค่าใช้จ่ายในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 20,476 ล้านบาท ในปี 2545 เป็น 46,481 ล้านบาท ในปี 2550 ล่าสุด ปี 2559 อยู่ที่ 71,016 ล้านบาท ซึ่งคณะอนุกรรมการศึกษามาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยา สำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกับกรมบัญชีกลาง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ป.ป.ท.ได้ศึกษามาตรการปรับปรุงระบบการควบคุมการเสนอขายยา การสั่งจ่ายยา และการใช้สิทธิรักษาพยาบาล พบสาเหตุที่ค่ารักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการของข้าราชการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมีกระบวนการโยงใยทุจริต 3 กลุ่มใหญ่คือ 1.กลุ่มผู้ใช้สิทธิและเครือญาติ 2.กลุ่มสถานพยาบาล 3.กลุ่มบริษัทจำหน่ายยาคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีข้อเสนอแนะและจะยื่นให้ ครม.พิจารณาใช้เป็นแนวทางป้องกันทุจริตกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการต่อไป