นักการเมืองมีชนัก ให้โอกาสกลับมาสู้

สนช.ปัดร่าง ก.ม.คดีอาญานักการเมืองซ่อนกลย้อนหลังเช็กบิล “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” รองประธาน สนช.ยันล็อกเป้าฟันนักการเมืองตัวการโกงก่อความเสียหายเป็นแสนล้าน ไต่สวนลับหลังจำเลยหนีคดี ไล่บี้เฉพาะพวกมีชนักปักหลังอยู่แล้ว “สมชาย” ฟุ้งเปิดช่องสู้ให้ 3 ชั้นส่งทนายลุยแทน ตั้งเงื่อนไขจำเลยมาแสดงตัวต่อศาลแลกสิทธิยื่นอุทธรณ์-ขอรื้อคดีใหม่ใน 1 ปี เคลียร์ชัดบทเฉพาะกาล ม.67 ปัดฝุ่นรื้อคดีศาลสั่งลงโทษแล้วภายใน 1 ปี เกินอายุความแล้วทำไม่ได้ พท.จวกซ้ำวาระซ่อนเร้นจ้องเล่นงานนายใหญ่-น้องสาว ซัดเลือกปฏิบัติ ขัดหลักนิติธรรมสากลอย่างร้ายแรง “สมคิด” แฉ 16 โรงสีโวยถูกตีตราข้าวเกรดต่ำจ่อฟ้องกระทรวงพาณิชย์ โฆษก คสช.ไล่ พท.ไปขอข้อมูล พณ.เช็กข้อมูลระบายข้าว “วัชระ” ร้อง “บิ๊กตู่” สอบถูกอ้างชื่อตัดสิทธิเอกชนร่วมประมูลข้าวเสื่อม

จากกรณีมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ถูกมองว่าเป็นการพุ่งเป้าเพื่อไปเล่นงานรื้อฟื้นคดีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ล่าสุดโฆษกกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนช.ยืนยันไม่ได้มีเจตนามุ่งย้อนหลังเอาผิดอดีตนายกฯคนใด โดยเปิดช่องทางให้จำเลยต่อสู้ได้เต็มที่ทั้งตั้งทนายสู้คดีไต่สวนลับหลัง และขออุทธรณ์หรือขอรื้อฟื้นคดีใหม่ได้ภายใน 1 ปี แต่จำเลยต้องกลับมาแสดงตัวต่อศาล

สนช.โต้หมกเม็ดไล่ล่า“ทักษิณ-ปู”

เมื่อวันที่ 16 ก.ค. นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ สนช.ลงมติให้ความเห็นชอบ เป็นการออกกฎหมายเลือกปฏิบัติเล่นงานนายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า ไม่ได้มีวาระซ่อนเร้นเล่นงานใครเป็นพิเศษ ก่อนออกกฎหมายฉบับนี้ สนช.ได้รับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งศาล อัยการมาหมดแล้วว่าดำเนินการได้ โดยเฉพาะการไต่สวนคดีลับหลังกรณีที่จำเลยหลบหนีคดี ไม่ใช่การออกกฎหมายให้มีผลย้อนหลังเล่นงานใครตามที่เข้าใจกัน เพราะจำเลยที่ถูกไต่สวนย้อนหลังต่างมีคดีติดตัวอยู่ในศาลอยู่แล้ว ไม่ใช่การไปแจ้งข้อหาใหม่ หรือเขียนบทลงโทษเพิ่มเติม เป็นเพียงการปรับวิธีพิจารณาให้ศาลไต่สวนได้ โดยไม่ต้องนำตัวจำเลยมาแสดงตนต่อหน้าศาล ส่วนที่มีการดำเนินคดีเฉพาะเพียงนักการเมือง ไม่รวมถึงข้าราชการและเอกชนนั้น เพราะนักการเมืองเป็นบุคคลสาธารณะ เป็นตัวละครสำคัญ การทุจริตของนักการเมืองสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม บางครั้งมีมูลค่าเป็นแสนล้านบาท กฎหมายฉบับนี้จึงเน้นที่นักการเมืองโดยตรง

...

โอ่ให้โอกาสจำเลยต่อสู้ได้ 3 ชั้น

ขณะที่นายสมชาย แสวงการ โฆษกกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนช.กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ สนช.เพิ่งลงมติให้ความเห็นชอบไปนั้น ไม่มีเจตนามุ่งเอาผิดย้อนหลังอดีตนายกฯคนใด และไม่ขัดต่อหลักการสากลการพิจารณาคดีในการละเมิดสิทธิจำเลยที่ให้ไต่สวนคดีลับหลังจำเลย ประเด็นนี้ได้ชี้แจงต่อที่ประชุม สนช.ไปแล้ว หลายประเทศ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ใช้กฎหมายฉบับนี้เช่นกัน ยืนยันว่านอกจากไม่ละเมิดสิทธิจำเลยแล้ว ยังให้สิทธิจำเลยเต็มที่ ไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิเพราะร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้สิทธิจำเลยสามารถตั้งทนายต่อสู้คดีในการไต่สวนลับหลังได้ แม้เจ้าตัวจะหนีอยู่ต่างประเทศก็ตาม และถ้าศาลพิจารณาตัดสินลงโทษจำเลยไปแล้ว ยังมีสิทธิขอให้ศาลรื้อฟื้นใหม่ได้ภายใน 1 ปีนับแต่ศาลมีคำพิพากษา หากเห็นว่ามีหลักฐานใหม่มาต่อสู้ หรือหากยังไม่พอใจยังมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาฯ ได้อีก เพียงแต่การขอรื้อฟื้นคดี และการอุทธรณ์นั้น จำเลยต้องเดินทางกลับมาแสดงตัวต่อศาลเท่านั้น จึงมีสิทธิดำเนินการได้

กวักมือท้าพวกซุก ตปท.กลับมาสู้คดี

นายสมชายกล่าวว่า ดังนั้น พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้สิทธิปกป้องจำเลยเต็มที่ตั้งแต่การตั้งทนายสู้คดีลับหลัง การรื้อฟื้นคดี และการอุทธรณ์ ไม่ได้จบเพียงชั้นเดียวเหมือนที่ผ่านมา ถือว่าแฟร์มาก อยากให้คนที่หลบหนีคดีกลับมาต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม เพราะเป็นโอกาสดีที่จำเลยจะได้พิสูจน์ความถูกผิด มีสิทธิต่อสู้ถึง 3 ชั้น ไม่ต่างจากการต่อสู้ในศาลยุติธรรมทั่วไป แล้วจะไม่เอาอีกหรือ ไม่รู้คนที่ต่อต้านคิดอย่างไร หรือต้องการให้เกิดการทุจริต หากสามารถดำเนินการไต่สวนลับหลังตามกฎหมายฉบับนี้ได้แล้ว เชื่อว่าคดีที่จำเลยหนีไป จะพิจารณาได้เสร็จภายใน 1-2 ปี

เคลียร์ปมคาใจรื้อฟื้นคดีได้ใน 1 ปี

นายสมชายกล่าวว่า ส่วนข้อสงสัยในบท เฉพาะกาลมาตรา 67 ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า จะครอบคลุมไปถึงการรื้อฟื้นคดีที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษไปแล้วได้หรือไม่นั้น ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย สามารถที่จะรื้อฟื้นคดีที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษไปแล้วได้ แต่มีเงื่อนไขว่าการจะรื้อฟื้นคดีจะ ต้องกระทำภายใน 1 ปี นับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษเท่านั้น หากเกินกว่าอายุความที่กฎหมายกำหนดจะไม่สามารถรื้อฟื้นคดีได้ ดังนั้นจึงต้องดูเป็นรายคดีไปว่าอยู่ในข่ายรื้อฟื้นได้หรือไม่ ไม่ได้หมายถึงว่าจะรื้อฟื้นได้ทุกคดี หากใครยังมีข้อสงสัยสามารถยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ ซึ่งผู้ที่จะทำหน้าที่ยื่นตีความคือ ครม.หรือ สนช.เท่านั้น

พท.สับลักลั่นขัด รธน.-ปฏิญญาสากล

วันเดียวกัน นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอตั้งคำถามเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมืองที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจาก สนช.ว่า 1.การเปลี่ยนแปลงหลักพิจารณาคดีอาญาที่ต้องทำต่อหน้าจำเลยเป็นพิจารณาโดยไม่ต้องทำต่อหน้าจำเลย จะขัดหลักสากลหรือไม่ เพราะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองกำหนดว่า การพิจารณาคดีอาญา ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดมีสิทธิได้รับการพิจารณาต่อหน้าบุคคลนั้น และสิทธิที่จะต่อสู้คดีด้วยตนเอง หลักการนี้มีไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิจำเลยที่จะต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ถือเป็นหลักที่สากลยอมรับ จนเขียนขึ้นเป็นกติการะหว่างประเทศ 2.กรณีจำเลยหนีระหว่างการดำเนินคดี มิให้นับระยะเวลาระหว่างที่หนีไปรวมเป็นอายุความ ทั้งที่การนับอายุความในคดีอาญาที่คนทั่วไปกระทำผิดยังเป็นไปตามกฎหมายอาญาทั่วไปนั้น ถือว่าลักลั่น ขัดหลักที่ว่าทุกคนมีความเสมอภาคกันตามกฎหมาย มีสิทธิได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเท่าเทียมกันหรือไม่ หลักการนี้มีอยู่ในรัฐธรรมนูญและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 7

ใครจะเชื่อไม่ได้เล่นงานย้อนหลัง

นายนพดลกล่าวว่า 3.การแก้ไขบทเฉพาะกาลมาตรา 67 ให้มีผลแตกต่างจากเนื้อหาของร่างแรก ที่เสนอเข้า สนช. ต่อมามีคำอธิบายว่า มาตรา 67 ที่แก้ไขจะทำให้กฎหมายมีผลใช้บังคับกับคดีที่เกิดขึ้นก่อนกฎหมายฉบับนี้ ถามว่าเป็นการเขียนกฎหมายให้มีผลย้อนหลังใช่หรือไม่ และมีความเหมาะสมหรือไม่ การอธิบายว่าไม่ได้แก้กฎหมายเพื่อใช้บังคับกับบุคคลใดเป็นการเฉพาะนั้น ลองถามคนทั่วไปว่าเชื่อคำอธิบายหรือไม่ ทุกคนต้องการความยุติธรรม นิติธรรม และเมตตาธรรม เชื่อว่าการดำเนินการของฝ่ายต่างๆ ถ้ายึดมั่นในหลักนิติรัฐและนิติธรรมจะนำไปสู่ความปรองดองและสมานฉันท์ได้ เพราะความ ปรองดองคือสิ่งที่ประชาชนต้องการ

ห่วงจุดชนวนขยายความแตกแยก

นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีวาระซ่อนเร้นออกมาเพื่อเล่นงานนายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีโดยตรง ต้องการบังคับใช้เฉพาะกับนักการเมือง แต่ไม่รวมถึงข้าราชการ และเอกชน ทั้งที่กฎหมายควรมีบทบังคับใช้กับทุกคนให้เท่าเทียมกัน ที่สำคัญเป็นการออกกฎหมายให้มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นโทษ ขัดหลักกฎหมายที่ไม่มีใครทำกัน เป็นห่วงว่าอาจเป็นปมช่วยขยายความขัดแย้งให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในอนาคต จากเดิมที่มีความขัดแย้งกันอยู่แล้ว อยากให้ สนช.พิจารณาออกกฎหมาย เพื่อบังคับใช้กับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่มุ่งเล่นงานเฉพาะนักการเมือง

“อ๋อย” ซัดทำลายล้างกันไม่หยุด

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณี สนช.ผ่านความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามจัดการ ทำลายล้างบุคคลหรือกลุ่มบุคคล โดยการเลือกปฏิบัติ ทำลายหลักการคุ้มครองผู้ต้องหาและจำเลย ในการมีสิทธิสู้คดีด้วยตัวเอง ทำลายความยุติธรรมที่เป็นหลักสากลอย่างร้ายแรง เพราะคดีอาญาพิจารณาย้อนหลังและลับหลังไม่ได้ สิบปีนี้มีตัวอย่างความพยายามบิดเบือนกฎหมายทำลายบุคคล พรรค การเมืองครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยุบพรรคไทยรักไทย เพิกถอนสิทธินักการเมือง มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นมาตรวจสอบและใช้ผลการตรวจสอบไปดำเนินคดี แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ต่อมาใช้ สนช.ที่มาจากการล้มล้างรัฐธรรมนูญไปถอดถอนนักการเมืองอีกหลายคน ทั้งที่พ้นตำแหน่งไปแล้ว และรัฐธรรมนูญถูกฉีกไปแล้ว

ย้ำผลโพลสะท้อน ศก.แย่ลง

นายจาตุรนต์ยังกล่าวถึงกรณีดุสิตโพลระบุประชาชนร้อยละ 70 ไม่มั่นใจการเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแม็ปว่า สะท้อนประชาชนมีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ และหวังว่าเมื่อมีการเลือกตั้งจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เพราะเวลานี้ประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางเดือดร้อนมาก ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่บางส่วนที่อิงผู้มีอำนาจชนชั้นนำไม่เดือดร้อน โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่มีความคุ้นเคยว่าเมื่อมีการเลือกตั้งจะมีโอกาสดีขึ้น และน่าเข้าใจมากขึ้นแล้วว่า รัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยทำให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศไม่กล้าลงทุน ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ดังนั้น การที่ประชาชนวิตกการเลือกตั้งยืดออกไปจึงมีเหตุผล รวมถึงพฤติกรรมที่ผ่านมาของผู้นำ คสช.และรัฐบาลที่ต้องการมีอำนาจหลังการเลือกตั้ง ทำให้คนอาจตีความได้ว่า ต้องการเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง หรืออาจต้องการให้การเลือกตั้งยืดออกไปนานๆ ซึ่งไม่ว่าแบบไหน คสช.ยังมีอำนาจต่อไป

ท้าผู้นำ คสช.เซ็นลงนามไม่ปฏิวัติ

เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีระบุการทำสัญญาประชาคมว่าด้วยการสร้างความสามัคคีปรองดองต้องแนบแนวปฏิบัติลงนามจะไม่ก่อความวุ่นวายซ้ำรอยปี 57 อีก นายจาตุรนต์ตอบว่า คาดไว้แล้วสุดท้าย คสช.ต้องการให้นักการเมืองลงนามเขียนเงื่อนไขข้อตกลง แต่การลงนามนี้ไม่น่ามีประโยชน์อะไร เพราะกระบวนการมีข้อผิดพลาดอยู่มาก ไม่มีผู้เชี่ยวชาญ ไม่มีคนกลาง ไม่มีองค์กรที่เป็นอิสระมาช่วยวิเคราะห์หรือสรุปทางออกแก้ปัญหาความขัดแย้ง ขาดการพูดถึงต้นเหตุความขัดแย้งในอดีตเช่น ปัญหากระบวนการยุติธรรมกลไกรัฐที่กองทัพไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในการรักษากฎหมายและแก้ปัญหาความไม่สงบ แต่ต้องการสร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่การที่ผู้นำกองทัพจะมาเป็นอัศวินม้าขาว จึงอยากให้ผู้สนใจลงนามศึกษาให้ดีก่อน ถ้าเห็นว่าไม่มีประโยชน์ควรปฏิเสธการลงนาม หรือทางที่ดีหัวหน้า คสช.ลงนามเป็นคนแรก ยืนยันต่อไปกองทัพจะร่วมมือกับรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาว่า จะไม่ทำรัฐประหารอีกไม่ว่ากรณีใดๆ

“สมศักดิ์” ซัด ปชช.ไม่ไว้ใจรัฐบาล

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีสวนดุสิตโพล ระบุผลสำรวจประชาชนกว่าร้อยละ 70 หวั่นการเลือกตั้งเลื่อนออกไปไม่เป็นไปตามโรดแม็ป และไม่เข้าใจเนื้อหากฎหมายลูก เกรงเสร็จไม่ทันการเลือกตั้งว่า ความไม่มั่นใจของประชาชน เกิดจากการแสดงออกของรัฐบาล จดจำพฤติกรรมไม่ว่าจะเรื่องโรดแม็ปเลือกตั้ง ที่รัฐบาลยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 60 แต่ถูกเปลี่ยนไป จนมาถึงการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นไม่ตรงกัน จนต้องตั้งกรรมาธิการร่วมกัน ทำให้ประชาชนอดคิดไม่ได้ว่า ถ้ากฎหมายลูกเลื่อนออกไป ทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปหรือไม่ และยิ่งท่าทีข่าวปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อยืดอายุต่อไปหรือเปล่า มีหลายสาเหตุล้วนมาจากพฤติกรรม คสช.และรัฐบาลทั้งสิ้น ทำให้อดคิดและหวั่นไหวไม่ได้

ถ้าคนศรัทธาอย่ากลัวซ้ำรอยปี 57

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ทั้งที่ตัวเองมีความพร้อม มีฐานข้อมูล มีบุคลากรที่ทรงคุณวุฒิ มีประสบการณ์ ดังนั้นการจะทำอะไรถ้าทำอย่างละเอียด รอบคอบ และนึกถึงประชาชน ผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง จะไม่ต้องเสียหน้าอย่างการออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว และอย่างร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบบไพรมารีโหวต พรรคการเมือง ทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายประชาชน แต่อยู่ที่รัฐบาลและคสช.ทั้งนั้น ส่วนที่นายกรัฐมนตรีระบุการสัญญาประชาคมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ต้องมีการทำแนวปฏิบัติแนบกับสัญญา เมื่อทุกคนเซ็นลงนามแล้วจะต้องไม่ทำให้เกิดความวุ่นวายซ้ำรอยปี 57 อีกนั้น การออกข้อบังคับไม่ได้ผล เท่ากับสร้างความเชื่อมั่นความศรัทธา ให้เกิดขึ้นกับสังคมและไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดเหตุซ้ำรอยปี 57 เพราะเชื่อว่าเวลานี้ทุกคนเข้าใจสถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างดี บอบช้ำไม่รู้จะอย่างไรแล้ว มีแต่อยากให้บ้านเมืองกลับไปสู่สภาวะปกติ

เปิดเวทีฟังเสียงสัญญาประชาคม

พล.ต.คงชีพ ตันตระวานิชย์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง กล่าวถึงการเชิญประชาชนกลุ่มต่างๆร่วมรับฟังร่างสัญญาประชาคมว่า เป็น การชี้แจงทำความเข้าใจถึงเนื้อหาร่างสัญญาประชาคม คล้ายๆการเสวนา หากประชาชนอยากสะท้อนความคิดเห็นเราจะรับฟัง และจะนำข้อคิดเห็นดังกล่าวทั้ง 4 ภาค เข้าที่ประชุมคณะกรรมการฯอีกครั้ง เพื่อปรับความสมบูรณ์ ส่วนจะผนวกเข้าไปในร่างสัญญาประชาคมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯพิจารณา แต่คิดว่าตัวร่างสัญญาประชาคมน่าจะสมบูรณ์แล้ว หลังจากนั้นจะเสนอคณะกรรมการปยป.ชุดใหญ่ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.จะพิจารณาวันที่เหมาะสม เพื่อนำร่างสัญญาประชาคมไปแถลงให้ประชาชนรับทราบอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ แม้ร่างสัญญาประชาคมไม่ได้บังคับใช้เป็นกฎหมาย แต่เป็นสิ่งที่ควรยึดถือและปฏิบัติ โดยจะเป็นร่างที่ยึดมั่นในหลักคุณธรรมจริยธรรมต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเหมาะสม และยอมรับความแตกต่างทางความคิด ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพคนอื่น ภายใต้กรอบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ที่สำคัญห้ามสร้างเงื่อนไขให้เกิดความแตกแยกและเกลียดชังในสังคม โดยน้อมนำศาสตร์ของพระราชาเป็นภูมิคุ้มกันสังคมคือแก่นสำคัญของร่างสัญญาประชาคม

กกต.รอเคาะช่องทางยื่นศาล รธน.

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารกลาง กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดลำดับความสำคัญของงานที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อเตรียมส่งมอบงานให้ กกต.ชุดใหม่ว่า การประชุม กกต.ในวันที่ 18 ก.ค.จะรายงานให้ที่ประชุมทราบว่า เรื่องที่ต้องดำเนินการให้เสร็จภายในวันที่ 31 ธ.ค.มีสิ่งใดบ้าง หรือเรื่องใดไม่จำเป็นต้องเตรียมไว้ แต่ให้ กกต.ชุดใหม่ดำเนินการเอง เช่น ผู้ตรวจการการเลือกตั้ง ส่วนระเบียบที่จะส่งมอบให้ กกต.ชุดใหม่ในเดือน ม.ค.อาจสมบูรณ์ประมาณ 80-90% ไม่สามารถร่างได้ 100% เพราะต้องรอกฎหมายลูกที่จะออกมาในช่วงหลังว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนช่องทางการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ในวันที่ 17 ก.ค.จะชี้ให้เห็นถึงสิ่งต่างๆที่จะเกิดขึ้นว่าจะมีกี่ทางเลือก แต่ละทางเลือกมีลำดับการดำเนินการอย่างไร ส่วนจะดำเนินการอย่างไร ต้องรอมติจากที่ประชุม กกต.ในวันที่ 18 ก.ค.หากมีมติอย่างไรจะดำเนินการทันทีภายในสัปดาห์นี้เลย

โพลหนุน “มาร์ค-ปู” นั่งผู้นำพรรค

วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,317 คน ระหว่างวันที่ 11-15 ก.ค. เรื่องหัวหน้าพรรคการเมืองไทยในทัศนะของประชาชน เมื่อถามว่าประชาชนให้ความสำคัญต่อหัวหน้าพรรคการเมืองไทยมากน้อยเพียงใด พบว่า ร้อยละ 33.71 ให้ความสำคัญมาก เพราะมีผลต่อความนิยมของพรรค มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 29.38 ค่อนข้างมาก เพราะเป็นผู้กำหนดทิศทางและนโยบายพรรค ร้อยละ 20.88 ค่อนข้างน้อย เพราะส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มเดิม เป็นนายทุนพรรค ส่วนคุณสมบัติหัวหน้าพรรคการเมืองไทยที่ดี 3 อันดับแรก พบว่าร้อยละ 83.45 เป็นคนดี ซื่อสัตย์ยุติธรรม ร้อยละ 81.55 ไม่เห็นแก่พวกพ้อง ทำเพื่อประเทศและประชาชน ร้อยละ 77.52 เก่ง ทำงานเร็ว มีวิสัยทัศน์ และเมื่อถามว่าใครที่คิดว่าจะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พบว่าร้อยละ 77.90 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 66.59 นายชวน หลีกภัย ร้อยละ 63.33 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส่วนหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พบว่าร้อยละ 73.96 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร้อยละ 71.98 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และร้อยละ 47.22 นายจาตุรนต์ ฉายแสง

เชียร์ใช้ ม.44 ปฏิรูปตำรวจ

ขณะเดียวกัน นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่องการปฏิรูปตำรวจไทย ระหว่างวันที่ 13-14 ก.ค.จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง โดยเมื่อถามว่า อยากให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สังกัดหน่วยงานใด พบว่า ร้อยละ 30.30 ให้ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 24.28 สังกัดกระทรวงยุติธรรม และร้อยละ 18.72 สังกัดกระทรวงมหาดไทย ส่วนการแยกอำนาจการสอบสวนออกจากตำรวจนั้น ร้อยละ 50.48 ไม่เห็นด้วย ควรให้อำนาจสอบสวนไว้กับตำรวจเช่นเดิม เพราะมีประสบการณ์ ความชำนาญงานสอบสวน ร้อยละ 44.24 เห็นด้วยให้แยกอำนาจสอบสวนออกมา เพราะปัจจุบันงานสอบสวนอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจมากเกินไป เป็นการช่วยลดภาระตำรวจให้น้อยลง เมื่อถามถึงการนำมาตรา 44 มาปฏิรูปตำรวจ พบว่าร้อยละ 61.76 เห็นด้วย เพราะช่วยให้การปฏิรูปตำรวจมีความรวดเร็ว เปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้น ร้อยละ 27.84 ไม่เห็นด้วย เพราะแทรกแซงอำนาจเกินขอบเขต เป็นการกดดันบังคับ กึ่งเผด็จการกับตำรวจเกินไป ร้อยละ 10.40 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เหน็บ คสช.สวนทางปราบโกง

ส่วนกรณีที่รัฐบาล คสช.สั่งเปิดค่ายทหารตั้งศูนย์รับร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ นั้น วันเดียวกันนายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ให้ ผบ.ทบ.เปิดค่ายทหารจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐคือ นโยบายแก้เกี้ยวความล้มเหลวการบริหารประเทศ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ล่าสุดนายกสมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหารให้สัมภาษณ์ว่า ปีนี้ร้านอาหารจะปิดตัวอีก 2,600 แห่ง มากกว่าปีที่แล้วที่ปิดไป 1,000 แห่ง เพราะประชาชนขาดกำลังซื้อ หัวหน้าคสช.จึงหันมาเน้นปราบคอร์รัปชัน แต่พฤติกรรมคสช.และกองทัพกลับสวนทางความโปร่งใสเสียเอง เช่น การใช้อำนาจพิเศษยกเว้นกฎหมายทุกฉบับในโครงการรถไฟฟ้าไทย-จีน โครงการจัดซื้อของกองทัพหลายรายการ หาก คสช.จริงใจปราบคอร์รัปชัน ควรหยุดดำเนินคดีกับนักศึกษา ประชาชนที่ตรวจสอบทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์ ส่วนการทุจริตที่ไม่มีความคืบหน้าคือ การจัดซื้อเรือเหาะ การซื้อเครื่องตรวจระเบิดจีที 200 โครงการขุดลอกคลองของ อผศ. การจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ AW 139 ปี 2555 ล่าสุดคือการทุจริตขายรถสวมทะเบียนของ ขส.ทบ. หน่วยขึ้นตรงกับกองทัพบก จากข้อมูลระบุว่าการทุจริตเกิดปี 2557 ที่มีหัวหน้า คสช.เป็น ผบ.ทบ.ส่วนปี 2558 คนอนุมัติเป็น พล.อ.นามสกุลเดียวกับหัวหน้า คสช. แจ้งเบาะแสขนาดนี้ถ้ายังไม่จัดการต้องรอหลังเลือกตั้งเสร็จมีคนพร้อมจัดการแน่นอน.

จี้แจงงบ 9 แสนล้านไม่ถึงคนจน

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ระบุรัฐบาลใช้เงินช่วยคนจนไปแล้วกว่า 9 แสนล้านบาทว่า อยากให้นายสมคิดชี้แจงรายละเอียดว่าใช้ไปเรื่องใดบ้าง ใช้เงินมหาศาล แต่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยไม่มีใครรู้สึกว่าดีขึ้น กลับยิ่งแย่ลง ใช้เงินไม่ถูกทางหรือไม่จึงไม่ได้ผล ห่วงว่าอาจรั่วไหลหรือคอร์รัปชันหรือไม่ หากตรวจสอบภายหลังพบว่ามีการทุจริต นายสมคิดและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช.ต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายหรือไม่เศรษฐกิจโตได้เพียง 3%กว่า แต่บริษัทในตลาด หลักทรัพย์กำไรเพิ่มขึ้นถึง 30% แสดงว่าการเติบโตส่วนใหญ่กระจุกอยู่กับบริษัทใหญ่และคนรวย ส่วนเกษตรกรคนยากจนไม่ได้ประโยชน์ รายได้ลดลงลำบากกันไปทั่ว ดังนั้นการช่วยเหลือคนจนจึงต้องเร่งดำเนินการ เห็นด้วยกับที่นายสมคิดบอกว่าประเทศที่หลับใหล ติดยึดอดีตจะเผชิญความเสี่ยงถดถอย แต่อยากถามนายสมคิดกลับว่าปัจจุบันประเทศไทยที่ระบอบการเมืองถอยหลังหลับใหลและติดยึดอดีตด้วยใช่หรือไม่ ถึงได้ถดถอยล้าหลังไปเรื่อยๆเหมือนทฤษฎีกบต้มในปัจจุบัน

ไล่ พท.ขอข้อมูล พณ.เปิดโกดังข้าว

วันเดียวกัน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต รมช.เกษตรฯ และอดีต ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯใช้อำนาจมาตรา 44 ตรวจสอบความถูกต้องของการจำหน่ายข้าว และให้ออกคำสั่งให้เปิดโกดังข้าวทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนและ สื่อมวลชนเข้าไปร่วมตรวจพิสูจน์เป็นข้าวคนกินหรืออาหารสัตว์ว่า หากนายยุทธพงศ์มีประเด็นข้อสงสัยสามารถร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ได้เสมอ เพราะหน่วยงานดังกล่าวเป็นผู้รับผิดชอบ พร้อมให้ข้อมูลอยู่แล้ว ถ้านายยุทธพงศ์มีข้อสงสัยไปขอข้อมูลได้ที่กระทรวงพาณิชย์โดยตรง ส่วนจะใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อเปิดโกดังข้าวนั้นไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาเป็นผู้พิจารณาดำเนินการ

จับพิรุธ 4 ข้อ “ปู” ยื้อคดีจำนำข้าว

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ยิ่งใกล้วันปิดคดีโครงการจำนำข้าวนัดสุดท้ายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 21 ก.ค.นี้ ยิ่งเห็นความเคลื่อนไหวที่เข้มข้นของพรรคเพื่อไทย พอสรุปให้เห็นการเคลื่อนไหวได้คือ 1.การให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินสายพบปะมวลชน ทำกิจกรรมกับแฟนๆเพื่ออยู่ในความสนใจ ไม่ให้คนลืม 2.การเชิญชวนมวลชนมาให้กำลังใจระหว่างขึ้นศาล มีแนวโน้มจะระดมมวลชนมากขึ้น โดยอ้างว่าให้กำลังใจ เจตนาคงเป็นที่เข้าใจของนักการเมือง ซึ่งไม่ต่างจากการใช้มวลชนสมัยคดีซุกหุ้น 3.การใช้ช่องทางทางกฎหมายยื้อคดีเต็มที่ 4.การให้ข้อมูลเพื่อให้เกิดความสับสน โดยเฉพาะคุณภาพข้าวในโกดัง ทั้งที่ความเป็นจริงภาพข้าวเสื่อม ข้าวเน่า ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อตั้งแต่สมัย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล และคณะตรวจสอบโกดังข้าวแล้ว

เตือนรัฐบาลอย่าหลงกลเชื่อ

นพ.วรงค์กล่าวว่า ประเด็นการเรียกร้องให้ตรวจโกดังข้าวนั้น ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เคยร้องขอศาลฎีกาเผชิญสืบให้ไปตรวจโกดัง แต่ศาลยกคำร้องไปแล้ว แต่พรรคเพื่อไทยไม่ละความพยายาม ล่าสุดเรียกร้องให้ใช้มาตรา 44 ตรวจโกดังข้าว ที่น่าแปลกใจคือ ช่วงที่ ม.ล.ปนัดดาและคณะตรวจสอบ เหตุใดพรรคเพื่อไทยกลับเงียบ แต่มาเรียกร้องช่วงจะปิดคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ แค่นี้เห็นแล้วว่า มีเจตนายื้อคดีจำนำข้าว ถ้ารัฐบาลหลงกลไปตรวจสักหนึ่งแห่ง ทั้งที่เคยตรวจไปแล้ว พรรคเพื่อไทยจะร้องให้ตรวจทุกโกดังที่เหลือทั้งประเทศ ที่สำคัญจะขอเจาะข้าวทุกกระสอบ อย่างนี้ 10 ปีก็ตรวจไม่เสร็จ คิดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ควรหยุดได้แล้ว เมื่อศาลให้โอกาสนำพยานมาเบิกความเพื่อชี้แจง การต่อสู้ทุกอย่างควรอยู่ที่ศาล ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่ศาลตัดสินจะดีกว่า เวลานี้ทุกคนหยุดแล้ว แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต่างหากยังไม่หยุด

16 โรงสีจ่อฟ้อง พณ.กดข้าวเกรดต่ำ

นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลว่า พรรคเพื่อไทยมีหลักฐานชัดเจนว่า โรงสีได้รับความเสียหายจากการที่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ไปตีเกรดข้าวในโกดังเป็นข้าวคุณภาพไม่ดี เป็นข้าวสำหรับอาหารสัตว์ ทั้งที่ข้าวดังกล่าวเป็นข้าวคุณภาพดีที่คนสามารถรับประทานได้ ซึ่งโรงสีมีใบรับรองคุณภาพข้าวชัดเจน เท่าที่ตรวจสอบพบว่า ขณะนี้มีโรงสี 16 แห่งที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกตีราคาขายเป็นข้าวเกรดต่ำ บางแห่งเตรียมฟ้องร้องดำเนินคดีกับกระทรวงพาณิชย์ ทราบว่าการจัดเกรดข้าวที่เกิดปัญหาขึ้น ปกติผู้ที่ตรวจสอบจัดเกรดข้าวจะใช้บริษัทเซอร์เวเยอร์ที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดำเนินการ แต่กรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้นพบว่า ไปใช้สภาหอการค้าและบริษัทเซอร์เวเยอร์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดำเนินการ จึงอยากเรียกร้องให้เปิดโกดังข้าวทั่วประเทศ เพื่อพิสูจน์ว่า เป็นข้าวคนกินได้ หรือข้าวอาหารสัตว์

ยื่นนายกฯ สอบประมูลข้าวเสื่อม

นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในวันที่ 17 ก.ค.จะไปยื่นเรื่องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ให้ตรวจสอบกรณีการแอบอ้างชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ กรณีไปตัดสิทธิบริษัทเอกชนรายหนึ่งในการเข้าร่วมประมูลข้าวเสื่อมคุณภาพที่ใช้ทำเอทานอลของกรมการค้าต่างประเทศ โดยอาจส่อไปทางทุจริต ส่วนตัวเชื่อว่าเป็นการอ้างชื่อนายกฯ และ พล.อ.ฉัตรชัย โดยที่บุคคลทั้งสองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่รู้เห็นแต่อย่างใด แต่กลับมีการเขียนหนังสือราชการอ้างชื่อ พล.อ.ฉัตรชัย ในฐานะรองประธานกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้รับคำสั่งจาก พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะประธาน นบข.ให้ตัดสิทธิบริษัทเอกชนบางรายออกจากการเข้าร่วมประมูล การเขียนหนังสือราชการเช่นนี้ มองเป็นอื่นไม่ได้ ถ้ามีการฟ้องร้องทั้งสองจะตกเป็นผู้ต้องหา เบื้องต้นศาลปกครองมีคำสั่งให้ระงับโครงการประมูลไว้ก่อน จึงต้องการให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน ทั้งนี้นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้แจงว่า การประมูลข้าวดังกล่าวชัดเจนโปร่งใส ผู้เข้าร่วมประมูลต้องเป็นนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการอุตสาหกรรมตามกฎหมาย ว่าด้วยโรงงานที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคนและสัตว์ และไม่มีประวัติทำความเสียหายต่อราชการ แต่คำชี้แจงดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

ดับข่าวลือ “ป๋าเปรม” ป่วยเข้า รพ.

พล.ท.พิศณุ พุทธวงศ์ หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ กล่าวถึงกระแสข่าว พล.อ.เปรมเข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.วิชัยยุทธว่า สื่อไปเอาข่าวมาจากไหนยืนยันว่าเป็นข่าวลือ เพราะปกติ พล.อ.เปรมจะเข้ารับการรักษา และตรวจร่างกายตามวงรอบที่ รพ.พระมงกุฎเกล้าและตอนนี้ พล.อ.เปรมสบายดี ยังพักอยู่ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ ไม่ได้เข้า รพ.แต่อย่างใด

“ประยุทธ์” สั่งแก้ปัญหาไกด์เถื่อน

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีสมาพันธ์สมาคมมัคคุเทศก์เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเรียกร้องรัฐบาลแก้ไขปัญหามัคคุเทศก์เถื่อนแย่งอาชีพไกด์ไทยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ได้รับทราบข้อเรียกร้องดังกล่าวแล้ว ได้มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นหน่วยงานหลักดำเนินการเรื่องนี้ รัฐบาลไม่มีนโยบายให้คนต่างชาติมาเป็นมัคคุเทศก์ในประเทศไทย เพราะอาชีพมัคคุเทศก์เป็นหนึ่งในอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทย แต่ยังมีปัญหามัคคุเทศก์ขาดแคลนเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน นายกฯได้สั่งการให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาหารือร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อร่วมกันวางแผนผลิตมัคคุเทศก์ภาษาต่างๆ เข้าสู่ตลาดมากขึ้น รองรับการเติบโตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในปัจจุบัน