เหยียบจมูกเสืออีกครั้งสำหรับ “ผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่ได้ลงมือก่อเหตุคาร์บอมบ์ระเบิดแสวงเครื่อง 50 กก.ซุกในรถกระบะถล่มแฟลตตำรวจกลางเมืองนราธิวาสทำให้ตำรวจเสียชีวิต 1 นาย และผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บอีกอย่างน้อย 31 คน

เหตุการณ์นี้สร้างความหวาดกลัวให้ “ประชาชน” จนขาดความเชื่อมั่นในด้านการป้องกันปราบปรามการก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่ปลายด้ามขวานนี้ พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ให้ข้อมูลว่า การก่อเหตุในพื้นที่ 3 จชต.มักเป็นฝีมือ “แนวร่วมอาร์เคเค” รับคำสั่งมาจาก “บีอาร์เอ็น” โดยมีแผนปฏิบัติกำหนดไว้ 365 วัน

ส่วนลำดับการเลือกก่อเหตุนั้น “มักตั้งเป้าจากผลลัพธ์” ในแต่ละพื้นที่ที่แบ่งเขตความรับผิดชอบเป็นหลายส่วนอย่างเช่น “เหตุคาร์บอมบ์แฟลตตำรวจ” ชุดปฏิบัติการก่อเหตุครั้งนี้รับมอบหมายดูแลรับผิดชอบตั้งแต่ อ.เมืองนราธิวาส อ.ยี่งอ และ อ.ตากใบ ในการเก็บข้อมูลหาข่าวนำมาทำเป็นแผนพิจารณาก่อนลงมือได้สักพักใหญ่

...

ทำให้เหตุคาร์บอมบ์นี้ “นับเป็นปฏิบัติการเชิงลับที่ประสบความสำเร็จครั้งสำคัญ” อันเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ให้เห็นถึง “ความเข้มแข็งของฝ่ายบีอาร์เอ็น” ที่สามารถเจาะช่องโหว่มาตรการป้องกันของฝ่ายความมั่นคง สะท้อนให้เห็นถึง “ความประมาทหละหลวม” อันนำไปสู่การปล่อยให้คนนอกเข้าออกซุ่มโจมตีได้ง่ายนี้

ลักษณะการต่อสู้นี้ “เป็นแบบสงครามประชาชน” กล่าวคือ “การใช้ประชาชนออกมาต่อสู้กับรัฐ” โดยบีอาร์เอ็นเข้ามาสร้างแนวร่วมในพื้นที่ 3 จชต. “จัดตั้งองค์กรใต้ดิน” มีตั้งแต่ฝ่ายผู้นำ ฝ่ายเศรษฐกิจ ฝ่ายมวลชน และฝ่ายทหาร เพื่อดึงประชาชนเข้ามาสนับสนุนงานด้านต่างๆ และสร้างความเกลียดชังให้เจ้าหน้าที่รัฐด้วย

ทว่าเรื่องนี้ “ฝ่ายรัฐไทย” กลับไม่เข้าใจในหลักการทำสงครามประชาชนมัวคิดแต่ว่า “การก่อเหตุนั้นสร้างสถานการณ์ตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐ” ทำให้ไม่เคยสาวถึง “ผู้กำหนดนโยบาย หรือคนสั่งการ” ส่วนใหญ่มักจบแค่จับกุมผู้ก่อเหตุดำเนินคดี ดังนั้นเมื่อบีอาร์เอ็นเป็นต้นตอความไม่สงบเคลื่อนไหวสร้างแนวร่วมคนใหม่ขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งนี้ย่อมทำให้ “การก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จชต.” ยังคงเกิดเหตุวนเวียนแบบนี้มาตลอดเกือบ 20 ปี “ทั้งที่จริงแล้วขบวนการบีอาร์เอ็นมีแนวโน้มอ่อนกำลังลงมาก” นับแต่ก่อร่างสร้างตัวมาในปี 2547 สมัยนั้นสมาชิกมวลชนร่วมบริจาคเงินคนละ 1 บาทต่อวัน ราว 2 แสนคน แต่ปัจจุบันลดลงคงเหลือเพียง 1 แสนคนเท่านั้น

ในส่วน “ฝ่ายอาร์เคเค” แม้ปัจจุบันมีตัวเลขคงที่ 3 พันคนกระจายปฏิบัติการทางทหารตามเขตรับผิดชอบ 180 เขต แต่ละเขตมีกองกำลังติดอาวุธ 6-18 คน แล้วปัจจุบันกำลังเผชิญปัญหาแนวร่วมอาร์เคเครุ่นเก่าทยอยลดบทบาทวางอาวุธหันมาบริจาคเงินแทน ทำให้ประสิทธิภาพความเข้มแข็งต่อการก่อเหตุได้จริงมีเพียง 1 พันคน

ความจริงโครงสร้างนี้ “บีอาร์เอ็นจัดตั้งมาเกือบ 20 ปี” เพียงแต่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลบางท่านไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตั้งแต่กระทรวงจนถึงกำนันผู้ใหญ่บ้านไม่เชื่อตาม จนกลายเป็นจุดอ่อนช่องโหว่สำคัญให้ “สมาชิกบีอาร์เอ็น” แฝงตัวเข้ามาในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมากมาย

...

กลายเป็นว่า “คนกลุ่มนี้เข้ามารับเงินเดือนที่ได้จากภาษีประชาชน” แล้วนำไปบริจาคต่อให้ขบวนการบีอาร์เอ็นวันละ 1 บาทอย่างเช่นกรณี “นายก อบต.แห่งหนึ่งใน อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี” ในส่วนตัวนายกคนนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการบีอาร์เอ็นใดๆ

แต่ด้วยระหว่างหาเสียงเลือกตั้งนั้นได้ดึง “สมาชิกคนสำคัญของบีอาร์เอ็น” เข้ามาเป็นหนึ่งในหัวคะแนนเสียงเพราะเป็นคนกว้างขวางมีพรรคพวกในพื้นที่เยอะมากมาย สุดท้ายก็ชนะการเลือกตั้งจนต้องแต่งตั้ง “สมาชิกบีอาร์เอ็นคนนั้นเป็นรองนายก อบต.” กลายเป็นเข้ามาสนับสนุนดูแลภารกิจงานบีอาร์เอ็นอีกด้วย

ปัญหามีอยู่ว่า “รัฐบาล” แทบไม่เข้าใจเครือข่ายโครงสร้างขบวนการบีอาร์เอ็นด้วยซ้ำ เพราะที่ผ่านมามุ่งเน้น “ทำงานตั้งรับ” ด้วยการรอให้เกิดเหตุแล้ว “ทำการสืบสวนสอบสวน หรือปิดล้อมจับกุม” แต่ไม่สามารถป้องกันการก่อเหตุได้ พูดภาษาทหารเรียกกันว่า “ฝ่ายศัตรูมีเสรีในปฏิบัติ” ด้วยการอยากก่อเหตุตรงไหน เวลาใดก็ได้

...

แล้วเรื่องนี้ก็เคยนำเรียนต่อ “อดีตแม่ทัพภาค 4 หลายคน” เพื่อให้ฝ่ายการข่าวสำรวจสมาชิกบีอาร์เอ็น หรืออดีตสมาชิกเข้ามาอยู่ในส่วนราชการไทยตั้งแต่ครูอัตราจ้าง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. จนท.รักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และรองนายก อบต.ที่แฝงตัวอยู่ในระบบไม่ต่ำกว่า 400-500 คน

เพราะด้วย “การปฏิบัติภารกิจของอาร์เคเค” ไม่สามารถกระทำลำพังได้แน่นอนแต่ก่อนลงมือนั้น “มักมีคนคอยสำรวจพื้นที่หาข่าวให้เสมอ” สิ่งนี้กลายเป็นปัญหาที่ “ภาครัฐ” ต้องตีให้แตกควรดำเนินการอย่างไรไม่ให้แนวร่วมขบวนการสามารถสำรวจช่องโหว่พื้นที่นั้นได้

ทั้งยังมี “ผู้นำจิตวิญญาณหลายพันคน” ที่ได้รับเงินเดือนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย “สร้างมวลชนขึ้นมาใหม่อยู่ตลอด” แต่ถูกเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนมลายู หรือคนอิสลามบางคนประจำกระทรวงนั้น “ปกปิดไม่ให้ระคายเคือง” ตรงจุดนี้ค่อนข้างสำคัญแต่ภาครัฐกลับไม่ให้ความสนใจเลยด้วยซ้ำ

...

ประการนี้ตราบใด “ภาครัฐ” ไม่สามารถกดดันให้กองกำลังติดอาวุธหยุดปฏิบัติการก่อเหตุร้ายได้ย่อมทำให้ประชาชนยังขาดความเชื่อมั่นในความปลอดภัย แม้ว่าหัวใจอยากมาอยู่ “ฝ่ายรัฐไทย” ก็ไม่อาจทำได้เพราะยังมีหลายคนย้ายข้างแล้ว “ถูกยิงเสียชีวิตกันอยู่ทุกวัน” ทำให้ต้องทำตัวเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ตอกย้ำด้วยว่า “บีอาร์เอ็น” จะสามารถอยู่ต่อไปได้ก็ต้อง “ทำสงครามประชาชน” ในการมีมวลชนคอยสนับสนุนให้มากที่สุด แต่ปัจจุบันมีชาวบ้านหลายคนเริ่มไม่เห็นด้วยกับการก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จชต. “แต่ความจำเป็นต้องอยู่ให้ปลอดภัย” จึงไม่กล้าแสดงออกในเชิงต่อต้านเป็นปรปักษ์ด้วย

ฉะนั้นการจะดึงให้ชาวบ้าน หรือคณะกรรมการหมู่บ้านเข้ามาเป็นฝ่ายรัฐไทยควรเข้าไปทำความรู้จักคุ้นเคยกับ “ประชาชนในหมู่บ้านที่บีอาร์เอ็นจัดตั้งไว้” สร้างให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าทำได้แล้วไซร้เชื่อว่า “มวลชน” เมื่อมีปัญหาก็จะมาบอก “เจ้าหน้าที่รัฐ” แล้วสถานการณ์โดยรวมจะดีขึ้นตามลำดับ

แต่ปัญหามีว่า “ภาครัฐ” สามารถทำแบบนั้นได้หรือยัง...? สังเกตง่ายๆ “กรณีคนร้ายคาร์บอมบ์แฟลตตำรวจ” หากมีมวลชนอยู่ฝ่ายเราจริงๆ ก็ต้องมีการออกมาตำหนิผู้ก่อเหตุกันแล้ว เหตุนี้ “ภาครัฐต้องปฏิบัติเชิงรุก” ปรับเปลี่ยนการทำงานอันมีโจทย์ทำอย่างไรไม่ให้คนร้ายก่อเหตุวางระเบิด หรือไล่ยิงเจ้าหน้าที่ภาครัฐได้อีก

ตอกย้ำว่า “ฝ่ายการข่าว” มีความสำคัญเพราะมีหลายครั้ง “นำตัวผู้ต้องสงสัยมาสอบสวนตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” กลับไม่มีข้อมูลการข่าวสามารถเชื่อมโยงต่อการก่อเหตุใดๆ ทั้งที่บางคนเป็นระดับ “ผู้พันของกองกำลังติดอาวุธอาร์เคเคด้วยซ้ำ” สุดท้ายก็ไม่มีอำนาจในการควบคุมตัวจนต้องปล่อยไป

ถ้าหากว่า “เจ้าหน้าผู้ปฏิบัติการ” มีความเข้าใจหลัก “การทำสงครามประชาชน” มักมีวิธีการควบคุมแบบไม่กักตัวแล้ว “แนวร่วมอาร์เคเค” ก็ไม่กล้าหลบหนีแถมยังเปลี่ยนใจมาอยู่ “ฝ่ายรัฐไทย” ด้วยวิธีการสร้างเงื่อนไขเชิงบวก เช่นกรณี “อาร์เคเคคนสำคัญ” ถูกควบคุมตัวตรวจสอบประวัติทำการสอบสวนหลายวันก็ไม่พูดใดๆ

พอตรวจครอบครัวพบว่า “ลูกสาวป่วยเป็นโรคเบาหวาน” ทำให้เสนอการช่วยเหลือนำตัวรักษาในโรงพยาบาล กทม. ผ่านมา 5 ปี แนวร่วมคนนี้ยังอยู่บ้านไม่หนีไปไหน แถมเมื่อเราเชิญมาสอบถามก็มักได้ข้อมูลดีๆเสมอ

นี่คือ “การแก้ปัญหาสงครามประชาชน” ที่ต้องเรียนรู้ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เพื่อสร้างความรู้จักคุ้นเคยให้เป็นมิตรกับชาวบ้าน “ไม่ใช่สร้างศัตรู” อันเป็นวิธีเอาชนะใจแล้วสถานการณ์จะสงบดีขึ้นเอง...