(ภาพ : จุดชมวิวทะเลหมอก “สกายวอล์ก ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง” สถานที่ท่องเที่ยวและแลนด์มาร์กใหม่ของ อ.เบตง จ.ยะลา.)
ก่อนที่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จะดำเนินการ “ขับเคลื่อน” เมืองต้นแบบที่ 4 หรือ “เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ตามนโยบายของรัฐบาลนั้น
ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเมืองต้นแบบอยู่แล้ว 3 แห่ง คือ เมืองต้นแบบที่ 1 อ.หนองจิก จ.ปัตตานี “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร” ปัจจุบันมีกลุ่มทุนจากประเทศจีน เข้ามาตั้งโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น โรงงานแปรรูปทุเรียน เป็นต้น

...
เมืองต้นแบบที่ 2 อ.เบตง จ.ยะลา “เมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน” มีการพัฒนา อาทิ ก่อสร้างสนามบินเบตง การสร้าง “สกายวอล์ก” ชมทะเลหมอกที่อัยเยอร์เวง แหล่งท่องเที่ยวบ้านนากอ เป็นต้น
โดยเมืองต้นแบบทั้ง 2 แห่ง ส่งผลให้เกิดการพัฒนาและสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่อย่างน่าพอใจ รวมทั้งมีการ “ต่อยอด” การค้า การลงทุนเช่น โฮมสเตย์ของชาวบ้าน การขายสินค้า อาหาร และบริการรถรับจ้าง

ส่วน เมืองต้นแบบที่ 3 อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส “เมืองต้นแบบการค้าขายชายแดนระหว่างประเทศ” เน้นสนับสนุนการลงทุนการส่งออกและธุรกิจระหว่างประเทศ
ขณะนี้อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งโครงการคลังสินค้าเพื่อการส่งออก ที่ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ การเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟจาก สุไหงโกลก กับ มาเลเซีย การพัฒนาด่านศุลกากร 3 ด่านคือ ด่านสุไหงโก-ลก, ตากใบ และบูเก๊ะตา เพื่อให้เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวของการค้าชายแดน

...
เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา จึงเป็นเมืองสุดท้าย ในนโยบายการขับเคลื่อนการลงทุนขนาดใหญ่ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ “สอดรับ” กับปัญหาข้อเท็จจริงที่เห็นได้ชัดเจนว่า การจะให้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ “วนเวียน” ในวิถีเดิมๆ ไม่อาจจะทำให้เกิดความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ในการดำรงชีวิตได้อีกต่อไป
ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การว่างงาน ในยามปกติ ประชาชนจะออกไปทำงานรับจ้างใน มาเลเซีย 100,000-150,000 คนและยังมีคนว่างงานในพื้นที่อีกไม่ต่ำกว่า 100,000 คน
ขณะที่ตัวเลขผู้สำเร็จการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 75,000 คนต่อปี ถ้าไม่มีการออกแบบให้มีเมืองต้นแบบใน 4 จังหวัด จะหางานที่ไหนรองรับคนเหล่านี้
การดำเนินการ “เมืองต้นแบบที่ 4” อ.จะนะ ทาง ศอ.บต.ได้เข้ามาสร้างขบวนการสร้างความเข้าใจให้คนในพื้นที่รับรู้ถึงความเป็นมาของโครงการ เปิดโอกาสในการสร้างงาน สร้างเงินและสร้างอนาคตให้เกิดขึ้น

...
แต่ก็ยังมีชาวประมงพื้นบ้านบางส่วนไม่เห็นด้วย เพราะถูกคนบางกลุ่มให้ข้อมูลผิดๆในทำนองว่า การเข้ามาของอุตสาหกรรม จะทำให้อาชีพประมงพื้นบ้าน “หายนะ”
โดยข้อเท็จจริงแล้ว ศอ.บต. ได้ดำเนินการจัดงบประมาณในการก่อสร้างท่าเรือประมงพื้นบ้านถาวร ซึ่งปัจจุบันไม่มีท่าเทียบเรือในการขนส่งสัตว์น้ำ
รวมทั้งสนับสนุนจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านประมงพื้นบ้านขึ้น เพื่อรวมกลุ่มแปรรูปเพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำ ซึ่งศอ.บต.ทำได้ผลมาแล้วในหลายพื้นที่ เช่นที่ อ.สายบุรี, อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นต้น

ในส่วนของเกษตรกร ทาง ศอ.บต.ได้ร่วมกับ กรมที่ดิน กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ ดำเนินการสำรวจ เพื่อออกเอกสารสิทธิให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ดิน ทั้งที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินเขตห้ามล่า ที่ดินเขตป่าสงวน ที่ดินทุ่งสงวนสัตว์ ซึ่งมีจำนวนมาก และกลายเป็นปัญหาเรื้อรังมานานกว่า 60 ปี
...
เพื่อให้เกษตรกรมั่นใจว่าจะได้รับเอกสารสิทธิ์และไม่ถูกรัฐยึดที่คืนอย่างที่คนบางกลุ่มปลุกปั่น พร้อมกันนี้ ศอ.บต. ยังได้ผลักดัน โครงการ “ตำบลสันติสุข” ในการพัฒนาอาชีพ การรวมกลุ่ม การต่อยอด ในโครงการต่างๆ ที่ชาวบ้านดำเนินการ เพื่อ “เติมเต็ม” ให้กับคนในพื้นที่ทั้ง 3 ตำบลซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการ
รวมทั้งมีการประชุมผู้บริหารโรงพยาบาลในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่อยู่ในโซน “สีแดง” คือ จะนะ, เทพา, สะบ้าย้อย และนาทวี เพื่อทำนโยบายสาธารณสุขร่วมกัน คือการจัดตั้ง โรงพยาบาลศูนย์ที่ อ.จะนะ เพื่อให้บริการคนใน 4 อำเภอ โดยไม่ต้องเดินทางมายัง รพ.หาดใหญ่ที่เป็น รพ.ศูนย์เพียงแห่งเดียวของ จ.สงขลา

นอกจากนี้ ยังได้ประชุมผู้บริหารสถานศึกษาใน 4 อำเภอ อันเป็นที่ตั้งวิทยาลัยชุมชน วิทยาลัยเทคนิค และอาชีวะ ได้พบกับกลุ่มผู้ลงทุน เพื่อวางแผนผลิตนักศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งคาดว่าต้องใช้แรงงานไม่น้อยกว่า 100,000 คน
ที่สำคัญสุดคือเป็นการ “ยุติ” ปัญหาการก่อการร้าย ซึ่งในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้งบประมาณไปแล้วถึง 300,000 ล้านในการดับไฟใต้ แต่ยังไม่สำเร็จ ดังนั้น การตัดสินใจใช้ การ “พัฒนา” จึงเป็นทางออกสุดท้ายใน การ “ยุติ” ปัญหาไฟใต้ ที่ชัดเจนที่สุด

ถึงเวลาแล้วที่คนในพื้นที่จะต้องตัดสินใจว่า จะมาร่วมกันเขียน “ประวัติศาสตร์หน้าใหม่” ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยกันกับทุกภาคส่วนหรือยัง.
สมพร หาญณรงค์ รายงาน