นายเอกรินทร์ - ศ.ดร.อรรถจักร - ดร.อันธิฌา

สันติภาพก่อสันติสุข!!!


“สังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัย ปราศจากเงื่อนไขความรุนแรง วิถีชีวิตของทุกคนได้รับการปกป้อง พัฒนาบนพื้นฐานสังคมพหุวัฒนธรรม และมีส่วนร่วมในกระบวนการเสริมสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืน”

วิสัยทัศน์ จากนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2560-2562 ของรัฐบาล จัดทำขึ้น โดย สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งน้อมนำยุทธศาสตร์ ยึดหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของ พระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้เป็นจุดตั้งต้นของการดำเนินงาน

พหุวัฒนธรรม สร้างสันติสุข

เป็นหนึ่งในแนวทางขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวที่รัฐบาลยังนำมาใช้เพื่อการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ ซึ่งยืดเยื้อยาวนานมาถึง 14 ปี ด้วยการสร้างการยอมรับ และเห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาค ส่วน โดยยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม นิติรัฐ ตระหนักและเคารพในกติการะหว่างประเทศ

...

แต่เนื่องจาก แนวนโยบาย “พหุวัฒนธรรม” ที่กำหนดขึ้นนั้น ทำให้คนในสังคม เกิดความเข้าใจในความหมายและแนวทางปฏิบัติ ตามความคิดที่แตกต่างกันออกไป โดยแปรเปลี่ยนไปตามบริบทและเงื่อนไขของกลุ่มคน

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จึงได้ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ ปาตานีฟอรั่ม เปิดเวทีเสวนา “พหุวัฒนธรรม : อดีตและปัจจุบันของความหลากหลายในปาตานี” พร้อมเปิดตัวหนังสือ “หลากมุมมองพหุวัฒนธรรม” เพื่อร่วม สะท้อนมุมมองและข้อวิพากษ์ของกลุ่มนักวิชาการ คณาจารย์ นักมานุษยวิทยา นักสิทธิมนุษยชน นำไปสู่ข้อเสนอแนะต่อการใช้พหุวัฒนธรรมแก้ไขสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ได้อย่างน่าสนใจ

นายเอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ กล่าวถึง “นโยบายพหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนใต้” ว่า ห้วงเวลานับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ รัฐบาลพยายามใช้นโยบาย พหุวัฒนธรรม เป็นเครื่องมือในการสร้างสังคมที่ยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม หรือการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมเชิง นโยบาย รวมทั้งการพัฒนาบนพื้นฐานความ หลากหลาย เพื่อจัดการแก้ไข และเป็นเหมือนการต่อรองต่อเงื่อนไขแห่งความขัดแย้ง ที่เกี่ยวข้องกับการกดทับทางวัฒนธรรมต่อสังคมชายแดนใต้ที่มีลักษณะพหุทางอัตลักษณ์มากกว่า

“เมื่อกล่าวถึงพหุวัฒนธรรม จำเป็นต้องให้สิทธิที่เท่าเทียมระหว่างวัฒนธรรมหลัก และวัฒนธรรมรองอย่างแท้จริง ทั้งในด้านนโยบายและการปรับใช้ โดยไม่นำไปสู่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในแบบของผู้ครอบงำ และผู้ถูกครอบงำโดยนโยบายรัฐเพียงด้านเดียว ไม่ใช่แนวทาง กรอบคิด และปฏิบัติการที่เหมาะสมต่อการแก้ปัญหาสังคม แต่ควรมีพลังทางสังคมอื่นเข้ามาร่วมขับเคลื่อนการแก้ปัญหาด้วย” นายเอกรินทร์ ตั้งข้อสังเกตทิ้งท้าย

ขณะที่ ดร.อันธิฌา แสงชัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ สะท้อนมุมมอง “พหุวัฒนธรรมนิยมกับข้อถกเถียงเรื่องเพศและศาสนวิถี” ว่า “กรอบคิดพหุวัฒนธรรม ได้รับการยอมรับเพียงการดำรงอยู่ของความแตกต่างของกลุ่มวัฒนธรรมกลุ่มใหญ่ ในพื้นที่ชายแดนใต้ ผู้หญิงหรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอาจจะตกเป็นเหยื่อซ้ำซ้อน จากสถานการณ์ความไม่สงบทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งนอกจากจะต้องเกิดความสูญเสียทั้งร่างกาย รวมถึงได้รับผลกระทบด้านจิตใจและอารมณ์แล้ว พวกเขาอาจจะตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศจากชุมชน หรือกลุ่มวัฒนธรรมของตน โดยเฉพาะผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจะพบการถูกตีตรา การสร้างภาพเหมารวม การล้อเลียนรังแก การถูกเลือกปฏิบัติหรือใช้ความรุนแรงในครอบครัวในระดับที่สูงขึ้น ดังนั้นหากจะใช้พหุวัฒนธรรมในเชิงนโยบาย ควรต้องใส่ใจวัฒนธรรมปัจเจกบุคคลมากยิ่งขึ้น ควรต้องตระหนัก ว่า วัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งที่แช่แข็ง ตายตัว แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ไปตามวิถี และสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ แต่จะต้องไม่ขัดแย้ง ต้องเข้าใจรายละเอียดปลีกย่อยด้วย”

...

ศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เปิด แนวคิด “พหุวัฒนธรรมโดยรัฐกับสังคม (ภาคใต้) ไทย” ว่า พหุวัฒนธรรมเป็นชุดความคิดหนึ่งที่รัฐได้พยายามนำมาใช้แก้ปัญหาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรนำมาใช้แบบสำเร็จรูป ควรต้องพัฒนาปรับเปลี่ยนได้ ไม่ตายตัว และหากไม่ระวังหยิบพหุวัฒนธรรมมาใช้โดยไม่ไตร่ตรองจะทำให้เกิดช่องว่างที่ทำให้คนไม่รู้จักกันไม่เข้าใจกันจนเกิดความรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้นปฏิบัติการพหุวัฒนธรรมในสังคมภาคใต้ต้องคำนึงถึงแกนกลางความเหมาะสม รวมถึงปัจจัยที่ทำให้พหุวัฒนธรรมเดินไม่ถึงเป้าหมาย โดยเฉพาะกลไกอำนาจรัฐ อย่าใช้พหุวัฒนธรรมแต่งแต้มตัวเองให้ดูดี และไม่มีแกนกลางในการปฏิบัติ ซึ่งสุดท้ายพหุวัฒนธรรมจะกลับมาทำร้ายทั้งสังคม ขณะที่การใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ ต้องคิดให้มากกว่าเป็นเพียงเสื้อคลุมให้ความสวยงามเท่านั้น อีกทั้ง รัฐต้องยอมรับการตรวจสอบจากประชาชนให้มากกว่านี้

“การสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข จึงต้องการการมองไปข้างหน้าให้กว้างมากขึ้น รวมทั้งจำเป็นต้องไตร่ตรองถึงข้อจำกัด เงื่อนไขที่เกิดขึ้นมาลดทอนความหมายที่ดีเหมาะสม อันควรนำไปเป็นเป้าหมายของสังคม พร้อมกันนี้ ต้องตระหนักว่าการหยิบยืมกรอบความคิดหลักใดมาใช้ในเนื้อของสังคมที่ไม่เหมือนกันก็ยิ่งจะต้องระมัดระวังความผิดพลาด อันเกิดจากการใช้กรอบความคิดใดๆอย่างผิดฝาผิดตัว” ศ.ดร.อรรถจักร ปิดท้ายด้วยการ ฝากข้อเสนอไปถึงรัฐบาล

...

ทีมข่าววัฒนธรรม มองว่า นโยบายแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล เป็นเสมือน เข็มทิศกำหนดแนวทางในการปฏิบัติภารกิจต่างๆให้บรรลุเป้าหมาย

แต่นโยบายที่ว่า จะสามารถประสบความสำเร็จได้จริงหรือไม่นั้น คงต้องดูที่ผลลัพธ์ คือ ประชาชน ที่จะสามารถใช้ชีวิตอยู่อย่างปกติสุข มีความเคารพ เข้าใจ และยอมรับในความเป็นพหุวัฒนธรรม อันจะนำไปสู่ปลายทางของความสำเร็จอย่างแท้จริง

นั่นคือ “สันติภาพที่ก่อสันติสุข”.


ทีมข่าววัฒนธรรม