ชนวนเหตุสำคัญ “อดีตตำรวจถูกดำเนินคดียาเสพติดจนต้องออกจากราชการ” ลงมือสังหารหมู่เด็กวัย 2-4 ขวบ และประชาชนผู้บริสุทธิ์วันเดียว 36 ศพ ใน ต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ก่อนปลิดชีพตัวเองตายตาม “ทิ้งไว้ซึ่งปมปริศนามูลเหตุจูงใจ” ในการก่อเหตุโศกนาฏกรรมอันเลวร้ายครั้งนี้

ทำให้เหตุนี้ “ตำรวจภูธรภาค 4” ระดมชุดปฏิบัติการสืบสวนสอบสวนตั้งศูนย์สอบสวนคลี่คลายคดีดำเนินการสอบปากคำประจักษ์พยาน ผู้ใกล้ชิดคนร้าย ตรวจสอบสภาพแวดล้อมก่อน-หลังเกิดเหตุ และสอบประเด็นคำบอกเล่าอย่างเรื่องคำพูดของคนร้ายจะก่อเหตุให้เหมือนกับที่ จ.นครราชสีมา ตามที่ชาวบ้านให้ข่าวกับสื่อมวลชน

เพื่อคลี่คลายปมคดีให้กระจ่างชัดทุกประเด็นข้อสงสัย และถอดบทเรียนเหตุการณ์อันเป็นแนวทางป้องกันต่อไป รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผช.อธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา ม.รังสิต มองว่าแรงจูงใจให้อดีตตำรวจคลั่งก่อเหตุสังหารผู้บริสุทธิ์ตามข่าวพบมีประวัติการใช้สารเสพติด มาต่อเนื่องยาวนาน “ทางอาชญาวิทยา หรือทางการแพทย์” มีความเห็นตรงกันมักส่งผลต่อระบบประสาท สมอง การคิด การตัดสินใจ

...

นั่นหมายความว่า “ช่วงการก่อเหตุอาจไม่มีสารเสพติด” แต่การใช้ยาต่อเนื่องยาวนานก่อนหน้านั้นมักส่งผลต่อระบบความคิดการตัดสินใจที่ขาดสติสัมปชัญญะมีเหตุเป็นผลน้อยกว่าคนปกติทั่วไป

ทั้งยังต้องเผชิญความเครียดกดดันจากกรณีให้ออกจากข้าราชการ “พัวพันกับยาเสพติด” จนต้องถูกดำเนินคดีต่อศาลอันจะมีการพิจารณาคดีในวันก่อเหตุด้วยซ้ำ สิ่งนี้อาจทำให้ผู้ก่อเหตุรู้สึกสูญเสียสถานภาพด้านตำแหน่งหน้าที่การงานไป “กลายเป็นความเครียดสะสม” แล้วบวกกับการใช้สารเสพติดมาต่อเนื่องเป็นเวลานาน

ทำให้กระบวนการตัดสินใจแตกต่างจากคนทั่วไป “นำไปสู่การเลือก ก่อเหตุศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” สถานที่ที่คุ้นเคยรู้ช่องทางเข้าออกดี “ดูเหมือนคนร้ายพยายามแสดงตัวตนในสังคมด้วย” เพราะจุดนี้มีความเปราะบางไม่มีใครต่อสู้กับคนร้ายได้แน่ ต่างจากกรณีก่อเหตุสถานีตำรวจหรือค่ายทหาร ที่มีเจ้าหน้าที่พร้อมใช้อาวุธตอบโต้ได้เสมอ

ฉะนั้นอาจต้องตรวจสอบย้อนหลังว่า “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” มีเรื่องเกี่ยวเนื่องความขัดแย้งใดกับคนร้ายมาก่อนหรือไม่ จึงนำมาสู่การก่อเหตุโศกนาฏกรรมสังหารหมู่นี้

ประเด็น “การเสพยาควบคู่กับครอบครองปืนนั้น” ต้องยอมรับก่อนว่าการใช้สารเสพติดยาวนานย่อมมีปฏิกิริยาทางความคิดผิดปกติเป็นพื้นฐานแล้ว “อดีตตำรวจ” ก็มีปัจจัยความเครียดที่สูญเสียหน้าที่การงาน “จนอาจมองสังคมในทางลบ” รู้สึกว่าอาจมีตำรวจหลายคนทำอะไรมากกว่ากลับไม่มาตกอยู่ในสภาพแบบเขานี้

จนกลายเป็นความรู้สึกเกลียดสังคม “อันเป็นสิ่งที่น่ากลัว” เพราะเคยเป็นตำรวจมักผ่านการฝึกฝนการใช้อาวุธมาเป็นอย่างดีแล้วต้องเข้าใจว่า “ตำรวจทำผิดวินัยถูกไล่ออกนั้น” การครอบครองอาวุธปืนมี 2 ประเภทคือ “1.ปืนหน่วยงานจัดหาไว้” เพื่อใช้ระหว่างปฏิบัติหน้าที่เมื่อ “ถูกไล่ออก” ก็ต้องส่งคืนปืนให้ต้นสังกัดตามเดิม

ถ้าเป็นกรณีที่ 2.“ปืนขออนุญาตครอบครองใช้เงินส่วนตัวซื้อ” ลักษณะนี้คงเป็นของผู้นั้นต่อไป “อันเป็นที่มาของการมีอาวุธปืนใช้กราดยิงสังหารหมู่” ฉะนั้นอนาคตต้องพิจารณากรณีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกใช้อาวุธแล้วถูกให้ออกในคดีอาญายาเสพติด พยายามฆ่า ต้องทบทวนการมีใบอนุญาตครอบครองปืนต่อไปได้หรือไม่

...

จริงๆแล้ว “อาชีพตำรวจ” ตั้งแต่เริ่มก้าวเข้ามาในโรงเรียนก็เน้นย้ำอบรมสั่งสอนหลักการใช้อาวุธอย่างเข้มงวด “โดยเฉพาะห้ามนำไปทำร้ายผู้อื่นเด็ดขาดยกเว้นป้องกันตัว” แต่การปลูกฝังนี้อาจไม่พอต้องกระทำต่อเนื่องแม้ “เข้ารับราชการตำรวจแล้ว” ยังจำเป็นต้องทบทวนหลักการสิ่งใดทำได้ หรือสิ่งใดทำไม่ได้อยู่ตลอดด้วย

อย่างเช่น ตำรวจสิงคโปร์ทุกนายถูกปลูกฝังการใช้อาวุธให้เกิดความระวังเข้มงวดมาก ส่วนประเทศไทยยังค่อนข้างเข้มงวดน้อย และแถมเปิดโครงการจัดหาอาวุธให้แก่ข้าราชการเป็นสวัสดิการใช้ปฏิบัติงานมากมาย

และมีคำถามว่า “เมื่อรับการฝึกหลักการใช้อาวุธอย่างถูกวิธีมาดีเหตุใดจึงก่อเหตุสังหารหมู่ได้...?” เรื่องนี้มีมูลเหตุจูงใจหลายสาเหตุ “แต่สิ่งสำคัญเขามีความชำนาญการใช้อาวุธ” ที่อาจผสมความเครียดหน้าที่การงาน เครียดสิ่งรอบข้างทางสังคม แล้วอาจมีตัวต้นแบบความรุนแรงผ่านสื่อ ภาพยนตร์ ล้วนเป็นปัจจัยเสริมได้ทั้งสิ้น

...

ยิ่งมาเจอ “ตัวกระตุ้น” ในการใช้สารเสพติด หรือติดแอลกอฮอล์เรื้อรัง “ปรากฏมีฟางเส้นสุดท้ายเข้ามาซ้ำ” อย่างกรณีเรื่องถูกดำเนินคดีทนรับไม่ไหวจนระบายออกด้วยความรุนแรงก็เป็นไปได้

เช่นนี้อาจต้องย้อนดูประวัติ “การถูกเลี้ยงดูในสมัยเด็ก” สิ่งนี้ก็มีผลต่อการกระทำความรุนแรงแก่บุคคลอื่นได้ด้วย ที่เรียกว่า “การขัดเกลาทางสังคม” คือการอบรมสั่งสอนให้พัฒนาปรับเปลี่ยนประพฤติปฏิบัติตนให้เหมาะสม ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม ละเว้นทำชั่วหมั่นทำความดี และทำจิตใจให้ผ่อง ดำรงตนอยู่ในสังคมได้ดี

หากว่า “บางคนไม่มีกระบวนการขัดเกลาทางสังคม หรืออาจมีน้อยกว่าบุคคลอื่น” ย่อมขาดระเบียบวินัยทางสังคม และเมื่อสอบเข้ารับข้าราชการได้ฝึกการใช้อาวุธปืนอีก ก็ยิ่งกลายเป็นเรื่องอันตรายมากขึ้น

ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือ “บุคคลผ่านการฝึกการใช้อาวุธต้องเสริมแรงบวก” ในการปลูกฝังจริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม รวมถึงด้านกฎระเบียบ กฎหมายตั้งแต่อยู่ในโรงเรียนตำรวจจนออกมารับราชการตำรวจสม่ำเสมออันเปรียบเสมือน “วัคซีนป้องกันโควิด–19” มีการกลายสายพันธุ์อยู่ตลอด ทำให้จำเป็นต้องรับวัคซีนตัวใหม่เหมือนกัน

...

เช่นเดียวกับ “ข้าราชการตำรวจผู้ครอบครองอาวุธปืน” ก็ต้องถูกปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้เท่าทันสถานการณ์โลกกำลังเปลี่ยนแปลง “เพื่อให้เกิดการซึมซับ” มิใช่ปลูกฝังเฉพาะในโรงเรียนเมื่อจบออกไปแล้วก็ไม่เคยกล่าวถึง “เรื่องคุณธรรมจริยธรรม” จนทำให้วงการตำรวจมักเกิดปัญหาอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้หรือไม่

อย่างเช่น “ตำรวจเยอรมัน” ผู้ที่จะเข้ามาเป็นตำรวจได้ต้องผ่านการตรวจประวัติตั้งแต่เด็กเล็กจนโต แล้วดูแม้กระทั่ง “ปัญหาหนี้สิน” เพราะมีความเสี่ยงเข้ามาทำการทุจริต รวมถึงต้องไม่เป็นคนมีปัญหาด้านสุขภาพจิต อารมณ์ก้าวร้าว ฉุนเฉียว โดยจะมีนักจิตวิทยาเป็นผู้ประเมิน รวมกับคณะกรรมการฯพิจารณาเป็นรายบุคคลด้วยซ้ำ

ความจริง “ระบบตรวจสอบภูมิหลังสภาพชีวิตของผู้เข้ามารับราชการตำรวจไทยนั้น” สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ได้มีการปฏิบัติมาอยู่ตลอดเพียงแต่ว่า “อาจไม่เพียงพอ” ฉะนั้นต้องศึกษาระบบของต่างชาติมาเสริมเพิ่มเติมสิ่งที่ไม่ได้ดำเนินการ เช่น ตรวจสอบหนี้สิน การพนัน บุคลิกภาพ พฤติกรรมวัยเด็กเป็นอย่างไร

เพราะการส่งหนังสือสอบถาม “กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน” ที่ทำกันอยู่นั้นยังไม่เพียงพอแน่นอน อย่าลืมว่าคนเหล่านี้ “ต้องเข้ามาฝึกการใช้อาวุธ” ถ้าไม่ตรวจประวัติให้ดีๆ อาจนำไปสู่การกระทำต่อความรุนแรงขึ้นได้

ต้องยอมรับปัจจุบัน “อาชีพตำรวจสังคมคาดหวังสูง” ทำให้มีความเครียดมากกว่าอาชีพอื่นๆ แล้วมีงานวิจัยรองรับด้วยว่า “สถิติตำรวจฆ่าตัวตาย สำเร็จสูงกว่าพลเรือน” เพราะมีอาวุธปืนร้ายแรงติดตัว ดังนั้นอาจต้องหันมาดู “ปัญหาความเครียดของตำรวจ” ในเชิงรุกด้วยการจัดนักจิตวิทยาประเมินในระดับโรงพักอย่างจริงจัง

เพื่อนำมาสู่การวิเคราะห์ “รายบุคคลต่อความเสี่ยงเครียดสูง” นำไป สู่การบำบัดฟื้นฟูรักษาให้ดีขึ้น ก่อนย้ายไปทำงานในหน้าที่ตำแหน่งที่ไม่เกี่ยวกับการใช้อาวุธปืน เพื่อเป็นการป้องกันการก่อเหตุร้ายแรงนั้น

ตอกย้ำ “พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่” อาจมีบทบาทสำคัญต่อ “การหยุดยั้งตำรวจไม่ดี” ด้วยคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ “อันเป็นหน่วยรับร้องทุกข์จากประชาชน” จากกรณีการปฏิบัติหน้าที่ที่บกพร่อง หรือผิดพลาดของตำรวจ เป็นกลไกจับตาให้ตำรวจอยู่ในกรอบกฎหมายและความเหมาะสม

นับเป็นมาตรการเชิงเฝ้าระวัง “จัดการกับตำรวจบางนายที่ชอบออกนอกลู่นอกทางตั้งแต่ช่วงแรกๆ” มิให้บานปลายกลายเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายรุนแรง แล้ว “ค่อยดำเนินการทางวินัย” เพราะอาจทำให้สายเกินไปอย่างกรณี “อดีตตำรวจคลั่ง” ตามข่าวใช้สารเสพติดมาตลอดรับราชการจนคลุ้มคลั่งก่อเหตุร้ายแรงขึ้นนั้น

นี่นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งที่ 2 ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ดังนั้น “การถอดบทเรียน” จึงมีความสำคัญเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเชิงนโยบาย และแนวทางการปฏิบัติสอดรับสถานการณ์การป้องกัน และการระงับเหตุร้ายให้ทันท่วงทีกันต่อไป...