ก็ไม่รู้ว่าจะตั้งโจทย์ผิดหรือเปล่ากับกระแสสังคมที่กำลังมาแรงขณะนี้ หลังเกิดเหตุ “ส.ต.อ.คลั่ง กราดยิงที่หนองบัวลำภู” ที่มีการเรียกร้องให้รัฐไทย กลับมาประกาศสงครามกับยาเสพติดอีกครั้ง

ความจริงการปราบปรามยาเสพติด ยานรกที่เป็นตัวบ่อนทำลายชาติ ควรเป็นนโยบายหลักของทุกรัฐบาล และสมควรอย่างยิ่งที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะต้องเอาจริงเอาจังแบบอัตโนมัติ ไม่ใช่เกิดเหตุเศร้าสลดที ผู้คนในสังคมต้องออกมาเรียกร้องกันที

ผมไม่ปฏิเสธว่าในยุค “รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร” รัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่ประกาศสงครามกับยาเสพติด จนทำให้กระบวนการผลิต กระบวนการค้า ต้องหยุดชะงัก เพราะความเด็ดขาดในตัวนโยบาย และตัวผู้กุมนโยบาย จนมูลค่าของยาบ้าถูกเปรียบว่า “มีค่ายิ่งกว่าทอง”

แต่มันต้องมาล้มเหลว ก็เพราะช่องว่างที่ก่อให้เกิด กระบวนการฆ่าตัดตอน ไม่ว่าจะเป็นการตัดตอนฆ่ากันเองในหมู่ผู้ค้า-ผู้เสพ

หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปมีเอี่ยวกับขบวนการค้ายาเสพติด ฆ่าตัดตอนหลักฐานที่จะสาวมาถึงตัว

ต่อมามีการปรับนโยบาย มีการแก้ไขกฎหมายให้มี สินบนนำจับ นี่คือจุดเริ่มต้นของยุคทองยาบ้า-ยาเสพติด ที่กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งในยุคนี้

เพราะมันกลายเป็นแหล่งทำเงินมหาศาลให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ (ส่วนหนึ่ง) หากินกับสินบนนี้ ด้วยการเวียนเทียนของกลาง ซึ่งได้ทั้งเงินทั้งล่อง ปั้นผลงานเพื่อขึ้นตำแหน่งก็มี

การประกาศสงครามกับยาเสพติด นับเป็นนโยบายตั้งต้นที่ดี แต่เพราะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ไล่กันตั้งแต่บนลงล่าง ที่ใช้ช่องว่างตรงนี้ฆ่าตัดตอนกัน ทำให้นโยบายดีๆถูกคนกลุ่มหนึ่งเหมารวมว่าเป็นนโยบายที่ล้มเหลว

ผมก็หวังอย่างที่หลายๆคนหวัง ไหนๆรัฐบาลชุดนี้ก็ใกล้จะหมดวาระลงแล้ว แล้วก็มีความอยากจะไปต่ออยู่มาก โดยเฉพาะตัวนายกฯประยุทธ์ต้องกล้าตัดสินใจ ต้องไม่ให้คนที่อยู่ในขบวนการสีดำ หรือสีเทาได้มีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน เพราะผู้ร้ายที่เป็นผู้ถือกฎหมาย และผู้ติดอาวุธน่ากลัวที่สุด

...

อีกโจทย์ใหญ่ คือการครอบครองอาวุธปืน จากข้อมูล องค์กรวิจัยในสวิตเซอร์แลนด์ Small Arms Survey พบว่า คนไทยครอบครองปืน 10.3 ล้านกระบอก เป็นอันดับ 13 ของโลก อันดับ 1 ของอาเซียน

มีสัดส่วนการครอบครองปืนที่ 100 ต่อ 15 คือประชาชน 100 คน มีปืน 15 คน ถือเป็นตัวเลขที่เยอะพอสมควร

Early Warning Project หรือโครงการเพื่อการศึกษาป้องกันเหตุรุนแรง ประเมินอันดับความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุสังหารหมู่ของไทยเพิ่มขึ้น จากอันดับที่ 42 มาอยู่อันดับที่ 19 จาก 162 ประเทศทั่วโลก

คดีกราดยิงใหญ่ๆ 2-3 ครั้งที่ผ่านมา ผู้ก่อเหตุล้วนเป็นบุคคลในเครื่องแบบ ทั้งทหาร-ตำรวจ หรือไม่ก็ผ่านการฝึกอบรมจากฝ่ายความมั่นคง

คนในสายงานความมั่นคง นับว่าเข้าถึงอาวุธได้ง่าย รวมถึงมีประสบการณ์ในการใช้

ขณะที่หน่วยงานต้นสังกัดก็ขยันออกโครงการ “ปืนสวัสดิการ” ให้กำลังพลซื้อได้ครึ่งราคา แต่กลับละเลยปัญหาเรื่องสภาพจิตใจของผู้ใช้

โดยเฉพาะองค์กรเหล่านี้ที่ไม่เคยสำรวจวัฒนธรรมองค์กร ที่เป็นต้นตอในการสร้างความรุนแรงขึ้นมาซะเอง ไม่เคยคิดจะปรับเปลี่ยนค่านิยมให้เข้ากับยุคสมัย

มันเลยกลายเป็นแหล่งสะสมแรงบีบคั้น จนออกมาก่อเหตุกันถี่ยิบในช่วงหลังๆ

ยิ่งผู้ร้ายในคราบเครื่องแบบ ถือครองอาวุธกันได้เสรี

ไม่ช้าไม่นาน ก็คงเกิดเหตุทำนองนี้ขึ้นมาอีก.

“เพลิงสุริยะ”