(ภาพ) พื้นที่จริงของการดำเนินงาน “ธนาคารน้ำใต้ดิน” ระบบปิด (แบบเจาะ) หรือ “เชียงเครือโมเดล” บริเวณหน้าสำนักงานเทศบาลตำบลเชียงเครือ อ.เมืองสกลนคร มีการตกแต่งด้วยไม้ประดับสวยงามตระการตา จนมองไม่ออกว่าเป็นพื้นที่ “ธนาคารน้ำใต้ดิน”.
วิกฤติภัยแล้ง ยังเป็นปัญหาที่สร้างความหวั่นวิตกให้แก่เกษตรกรชาวไทย ตั้งแต่ปีที่แล้วและคาบเกี่ยวมาถึงปีนี้ คาดการณ์ว่า ประเทศไทย อาจจะประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนักอีกปี จึงทำให้ทุกพื้นที่เตรียมการรับมือ “ภัยแล้ง” อย่างเต็มที่
แน่นอนว่าน้ำเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีพ ที่ใดมีน้ำกินน้ำใช้ ที่นั่นจะไม่มีความยากจน เพราะได้ใช้ประโยชน์จากน้ำในการอุปโภคบริโภค รวมทั้งการเกษตร การปศุสัตว์ก็ล้วนต้องการน้ำทั้งสิ้น

...
เทศบาลตำบลเชียงเครือ อ.เมืองสกลนคร เป็นอีกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เตรียมการรับมือวิกฤติภัยแล้งอย่างเต็มที่ จนเกิด “ธนาคารน้ำใต้ดิน” เป็น “เชียงเครือโมเดล” ให้เทศบาลอื่นๆพากันไปดูงานเป็นแบบอย่าง จนทีมข่าวต้องตามไปชม
โดยมี นายชัย สุริรมย์ นายกเทศมนตรีตำบลเชียงเครือ นำชมและกล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งที่สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่อย่างแสนสาหัสมานาน กลายเป็นภาระหนักให้ผู้นำท้องถิ่นต้องคิดหาทางบรรเทาความทุกข์ร้อนให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่

กระทั่งตกผลึกด้วยการนำหลักการของ พระนิเทศาสนคุณ หรือ หลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดบุญเรืองสุวรรณาราม บ้านคำโป้งเป้ง ต.ค่ายบกหวาน อ.เมืองหนองคาย มาใช้โดยจัดทำโครงการ ธนาคารน้ำใต้ดิน ครอบคลุมพื้นที่ 17 หมู่บ้าน
จนปัจจุบันมีธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดเกือบครบทุกครัวเรือนแล้วจำนวนกว่า 3,000 บ่อ จาก 5,700 ครอบครัว และมีธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิดกว่า 20 บ่อขนาดใหญ่

...
“มีธนาคารน้ำใต้ดิน สามารถแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยในเรื่องสิ่งแวดล้อมป้องกันพาหะนำโรค เช่น โรคไข้เลือดออกจากยุงลาย โรคอหิวาต์ โรคท้องร่วงจากแมลงวัน และปลอดกลิ่นเหม็นด้วย” นายชัย กล่าวถึงเชียงเครือโมเดล
สำหรับ “ธนาคารน้ำใต้ดิน” มี 2 ประเภท ได้แก่
1.ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ใช้หลักการขุดบ่อเพื่อส่งน้ำไปเก็บไว้ที่ชั้นน้ำบาดาล ขนาดและความลึกของบ่อขึ้นอยู่กับสภาพ และชั้นดินของแต่ละพื้นที่ โดยขุดบ่อให้ลึกถึงชั้นหินอุ้มน้ำ แล้วใส่วัสดุที่หาได้ในพื้นที่ เช่น หิน อิฐหิน แล้วนำท่อ PVC มาวางตรงกลางบ่อเพื่อเป็นช่องระบายอากาศ

...
จากนั้นนำวัสดุชนิดเดียวกับที่ใส่ช่องว่างด้านนอก มาเติมใส่ช่องว่างด้านในให้เต็ม คลุมด้วยผ้าจีโอเทคไทหรือไนลอน แล้วทับด้วยก้อนหิน และตามด้วยหินละเอียดเพื่อเป็นตัวกรองไม่ให้เข้าไปอุดตันในบ่อ
เมื่อฝนตกลงมาน้ำจะไหลสู่ชั้นใต้ดิน ผ่าน ธนาคารน้ำใต้ดิน (สามารถใช้กับสถานประกอบการทุกประเภท ร้านอาหารทุกประเภท เพื่อรองรับไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง)
2.ธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด ใช้หลักการขุดบ่อเพื่อส่งน้ำไปเก็บไว้ที่ชั้นน้ำบาดาล ขนาดและความลึกของบ่อขึ้นอยู่กับสภาพและชั้นดินของแต่ละพื้นที่ โดยเจาะพื้นบ่อเป็นหลุม 3 หลุมให้ลึกถึงชั้นหินอุ้มน้ำ เพื่อให้น้ำไหลลงชั้นหินอุ้มน้ำได้ดี และมีช่องสำหรับถ่ายเทอากาศจากโพรงใต้ดินเมื่อถูกน้ำเข้าไปแทนที่

...
น้ำที่นำมาเก็บนั้นมาจากหลายแหล่งด้วยกัน เช่น น้ำฝน หรือน้ำจากการทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด เมื่อน้ำถูกเติมลงชั้นใต้หินอุ้มน้ำปริมาณมากพอ น้ำจะเอ่อล้นมาที่บ่อโดยอัตโนมัติ สามารถสูบน้ำจากบ่อนี้มาใช้ได้ทันที วิธีนี้จะช่วยให้ไม่ต้องขุดเจาะหาแหล่งน้ำ หรือสูบน้ำจากแหล่งน้ำไกลๆ ประหยัดพลังงาน แถมช่วยลดค่าใช้จ่ายได้
กล่าวโดยสรุป หลักการ ของ ธนาคารน้ำใต้ดิน ในช่วงหน้าฝนที่มีน้ำมาก ธนาคารน้ำใต้ดิน จะช่วยดูดซับน้ำ เพื่อนำไปกักเก็บไว้ที่ชั้นหินอุ้มน้ำ เมื่อถึงช่วงหน้าแล้งก็สามารถสูบน้ำมาใช้ได้ โดยใช้หลักการแรงดึงดูดของโลก
การดำเนินการ ใช้เครื่องจักรขุดเจาะ ทำเป็นถนนไร้คลอง กว้าง 80 ซม. ลึก 120 ซม. ความยาวขึ้นอยู่กับถนนในหมู่บ้าน จากนั้นใช้หินกรวดเทลงไป เพื่อให้เกิดโพรงอากาศแล้วนำท่อพีวีซีฝัง เพื่อระบายอากาศ แล้วใช้หินเกล็ดปิดทับอีกชั้น ตกแต่งให้สวยงามเรียบเนียนไปกับถนน
“เมื่อฝนตกลงมาน้ำทั้งหมดจะถูกดูดซึมลงไปยังธนาคารน้ำใต้ดินอย่างรวดเร็ว ต่างกับร่องหรือท่อระบายน้ำแบบเดิม หากน้ำไม่สามารถระบายได้ทันก็เอ่อท่วมถนนสัญจรลำบาก ใช้เวลานานกว่าจะแห้ง และก่อให้เกิดปัญหาขยะอุดตันอีกด้วย การทำธนาคารน้ำใต้ดินให้ได้ผลดี ควรทำทั้ง 2 ระบบควบคู่กันไป” นายชัย กล่าวอย่างภูมิใจ

จากความสำเร็จของ เทศบาลตำบลเชียงเครือ ในเวทีการประชุมนานาชาติ เรื่อง “บริหารจัดการน้ำและขยะ ครั้งที่ 2” หรือ “WWM Conference 2020” ระหว่างวันที่ 17-19 ก.พ. 2563 นายชัย สุริรมย์ นายกเทศมนตรีตำบลเชียงเครือ ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม เรื่อง “การจัดการธนาคารน้ำใต้ดิน” ในฐานะชุมชนผู้มีผลงานเพื่อการจัดการน้ำที่โดดเด่นระดับโลก
สำหรับการประชุมนานาชาติ เรื่อง “บริหารจัดการน้ำและขยะ ครั้งที่ 2” หรือ “WWM Conference 2020” มีผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาการจัดการน้ำและขยะเข้าประชุมจากทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ โดยมีสถาบันและองค์กรชั้นนำ เข้าร่วมประชุมมากมาย

อาทิ ศูนย์พันธมิตรของเสียระหว่างประเทศ โรตารีสากล มูลนิธิอนุรักษ์ L สถาบันน้ำ สถาบันวิจัยน้ำ สถาบันการแพทย์ Loyola สมาคมเตลูก สหรัฐอเมริกา สมาคมแพทย์อเมริกันและมูลนิธิแห่งโลกแม่น้ำ ศูนย์ทรัพยากรพลังงาน ISG Senryo สมาคมคุณภาพน้ำ หอการค้าสหรัฐ–อินเดีย อินเดีย Kale Tech
กรอบการประชุมประกอบด้วย สาระสำคัญ คือ น้ำและน้ำเสีย ความเป็นผู้นำของผู้หญิง การสุขาภิบาลน้ำและสุขอนามัย น้ำในการสุขาภิบาลและการเกษตรในชนบท ขยะชุมชน การกู้คืนทรัพยากร-พลังงาน
นับเป็นความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ “ธนาคารน้ำใต้ดิน” ของ เทศบาลตำบลเชียงเครือ อ.เมืองสกลนคร เป็นโมเดลและมีผลงานเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ
เป็นต้นแบบของการบริหารจัดการน้ำอย่างแท้จริง เหมาะสมที่องค์กรปกครองท้องถิ่นอื่นๆนำไปเป็นแบบอย่างได้ไม่ยากเลย.
วัฒนะ แก้วก่า รายงาน