คราวนี้สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี มีความรุนแรงหนักหนาสาหัสมากในรอบ 17 ปี นับตั้งแต่ปี 2545 น้ำในแม่น้ำมูลเพิ่มสูง “ล้นตลิ่ง” ไหลเข้าท่วมพื้นที่เทศบาลนครอุบลราชธานี ทะลักเข้าท่วมถนนหลายสาย มีบ้านเรือนประชาชนและย่านเศรษฐกิจตกอยู่ในสภาพจมบาดาล
มีมวลน้ำไหลเข้าท่วมในปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ “ไร้การเตือนภัย ไร้แผนรองรับ” ออกจากหน่วยงานรัฐ ชาวบ้านถูกปล่อยให้อยู่รับชะตากรรมอย่างโดดเดี่ยว ต้องขนของหนีน้ำกันอย่างโกลาหล บางรายขนไม่ทันต้องยอมปล่อยจมไปกับกระแสน้ำ...หนีตายเอาตัวรอดออกมาก่อน...
ย้อนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ “อุบลราชธานี” ที่ว่ากันว่า...เคยเผชิญน้ำท่วมหนักมาแล้ว 2 ครั้ง คือ ในปี 2521 ท่วมหนักที่สุด สถานีวัดน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย ระดับน้ำสูง 12 เมตร ส่งผลให้หลายพื้นที่ใน อ.วารินชำราบและตัวเมืองอุบลราชธานีมีน้ำท่วมสูงมาก

ครั้งนั้นน้ำไหลท่วมเข้ามาถึง “ใจกลางเมือง” บริเวณถนนสรรพสิทธิ์หน้าโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ทำให้ชาวบ้านต้องสัญจรด้วยเรือพาย...ต่อมาในปี 2545 แม่น้ำมูลระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นระดับน้ำสูง 10.77 เมตร และ ใน ปี 2562 แม่น้ำมูลระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ระดับน้ำสูง 10.97 เมตร
...
ปีนี้น้ำท่วมเมืองอุบลฯหนักหนาสาหัสกว่าปี 2545 ในรอบ 17 ปี แต่ไม่หนักเท่ากับปี 2521
น้ำท่วมครั้งนี้มีปัจจัยหลากหลายมิติ รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี อดีตคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล มองว่า ในปีนี้น้ำท่วมรุนแรงกว่าปี 2545 เพราะมวลน้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนที่ไม่เคยเกิดน้ำท่วมมาก่อน ในลักษณะกระจายเป็นวงกว้าง ส่งผลให้มีพื้นที่รับน้ำมากกว่าทุกครั้ง และมีผลกระทบน้ำท่วมนานขึ้นเช่นกัน อาจทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนแสนสาหัส
สิ่งที่น่าสังเกต...ในปี 2545 และปี 2562 ระดับปริมาณน้ำฝนไม่แตกต่างกัน แต่ต้นเหตุมาจากการพัฒนาเมืองแบบไร้ทิศทาง ไม่มีการวางแผนเป็นระบบ หรือก่อให้เกิดสัดส่วนโซนต่างๆ โดยเฉพาะโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ มีการถมดิน หรือปลูกสร้างกีดขวางทางน้ำตามธรรมชาติ
ปัจจุบันพื้นที่ถนนวงแหวนรอบเมืองอุบลราชธานีเคยเป็นพื้นที่ชุ่มรับน้ำ หรือทางน้ำไหลตามธรรมชาติ กลับเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างมากมาย เพราะขาดทิศทางการวางแผน หรือการออกกฎระเบียบควบคุมใช้พื้นที่ในการขยายของเมืองและเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม
กลายเป็นว่า...“การพัฒนาเมือง” ขึ้นอยู่กับกลไกของนักธุรกิจ เมื่อมีความเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจจุดใด มักทำให้ประชาชนแห่ตามไปอาศัยตรงนั้น จนเกิดการทับถมทางน้ำไหลผ่านขึ้น เพราะขาดระบบศึกษาภูมิศาสตร์พื้นที่ที่เป็นปัจจัยก่อให้เกิดน้ำท่วมครั้งนี้ ในอนาคตก็ยิ่งมีระดับความรุนแรงมากขึ้นอีก
ปัจจัยอีกสาเหตุ...มาจาก “ภัยธรรมชาติ” ในปรากฏการณ์ใหม่ “สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง” และเกิดอิทธิพล “พายุ” มีผลให้เกิดฝนตกหนักแบบกระจุกติดต่อกันหลายวัน ทำให้การระบายน้ำตามธรรมชาติไม่สามารถรับได้ ที่มีองค์ประกอบควบคู่กับปัญหาพัฒนาผังเมือง หรือการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินของเมือง
ตั้งข้อสงสัยอีกว่า...สาเหตุ “น้ำท่วมอุบลฯ” หนักสุดในรอบหลายปี อาจมาจาก “รัฐบาล” ไม่มีรูปแบบบริหารจัดการน้ำเชิงรุก ขาดประสิทธิภาพ ทั้งระบบเตือนภัย การเตรียมการ สั่งการ และการบูรณาการหน่วยงาน...?
แต่ก็เชื่อว่า...ถ้ามีระบบผังเมืองที่ดี การบริหารจัดการระบบน้ำดี มีแผนรองรับมือภัยพิบัติ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน แม้เกิดฝนตกหนักกว่านี้...คิดว่าสถานการณ์ก็ไม่น่าจะเลวร้ายเช่นนี้เป็นแน่
ทว่า...“ภาคอีสาน” มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ราบสูงแบบแอ่งกระทะมีแม่น้ำไหลผ่าน คือ “แม่น้ำชี” ต้นทางมาจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ผ่าน จ.ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร และไหลลงบรรจบแม่น้ำมูล ที่ จ. อุบลราชธานี “ส่วนแม่น้ำมูล” มีต้นกำเนิดจากทิวเขาสันกำแพง เขื่อนมูลบน จ.นครราชสีมา ไหลผ่าน จ.บุรีรัมย์ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ บรรจบกับแม่น้ำชี อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ก่อนไหลลงแม่น้ำโขง ที่ อ.โขงเจียม

...
ทำให้พื้นที่นี้เป็นศูนย์รวมของน้ำภาคอีสาน ทั้งลำน้ำโขง ชี มูล ซ้ำร้าย “อุบลฯ” กลายเป็นพื้นที่ล่อแหลมเสี่ยงภัยพิบัติสูง ที่เคยมีบทเรียนตั้งแต่ปี 2521 ให้เตรียมรับมือ...ต่างมองข้ามไม่มีคนสนใจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น กลับมีเขื่อนในแม่น้ำมูล 3 แห่ง...เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา จ.ศรีสะเกษ และเขื่อนปากมูล จ.อุบลฯ
ปัญหาเกิดขึ้น...ในบริเวณปากแม่น้ำมูล เคยมีลักษณะกว้างใหญ่ สามารถระบายน้ำตามธรรมชาติ กลับบีบให้แคบเล็กลงด้วยการสร้างเขื่อนปากมูล สกัดกั้นทางน้ำไหล อีกทั้งปีนี้การเปิดระบายน้ำล่าช้ากว่าปกติที่เคยเปิดระบายน้ำ ในเดือน ก.ค.ของทุกปี อาจเพราะ “อีสาน” เผชิญ “ภัยแล้ง” ทำให้ต้องบริหารน้ำให้เพียงพอ...
อยู่ดีๆกลับมีพายุแบบไม่มีใครตั้งตัว ทำให้ระบายน้ำไม่ทัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่อุบลฯ
หนำซ้ำ...การจัดการด้านภัยพิบัติไม่มีแผนรองรับใดๆเกิดขึ้นนับแต่ปี 2545 ที่เป็นความชะล่าใจ ไม่มีใครสนใจระบบเตรียมพร้อม และการซักซ้อมภัยพิบัติ ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ...
ขั้นตอนแรกประชาชนทำอย่างไรก่อน และผ่านพ้นแล้วต้องทำอะไรอีก...?

...
“ในช่วงแรกพื้นที่ จ.อุบลฯ มีความโกลาหลมาก เสมือนถูกปล่อยโดดเดี่ยว...ต้องเผชิญภัยพิบัติตามยถากรรม และชาวบ้านต่างช่วยเหลือกันเอง กระทั่ง “ตีปี๊บ กระทุ้ง” สะท้อนภาพเหตุการณ์น้ำท่วมผ่านโลกออนไลน์ ทำให้อาสาสมัคร ศิลปิน ดารา ภาคเอกชน เข้ามาช่วยเหลือประชาชนก่อนรัฐบาลเข้ามาด้วยซ้ำ” รศ.ดร.กนกวรรณ ว่า
แม้แต่คนภายนอกประสงค์ต้องการเข้ามาช่วยเหลือบริจาคสิ่งของ หรือการช่วยเหลือเรื่องอื่น...มีการตั้งคำถามถึงแนวทางให้ความช่วยเหลือได้กับหน่วยงานใดได้บ้าง?...แน่นอนว่าหากมีแผนบริหารจัดการในสถานการณ์ฉุกเฉินแบบบูรณาการร่วมกันทุกหน่วยงานในพื้นที่...คำถามนี้...จะไม่เกิดขึ้นมาด้วยซ้ำ
ตอนนี้สถานการณ์เฉพาะหน้าคลี่คลายลงแล้ว และประชาชนสามารถปรับสภาพความเป็นไปให้เข้ากับสถานการณ์ดีขึ้น มีหน่วยงานรัฐ เอกชน อาสาสมัครต่างๆ ระดมสรรพกำลังจากทั่วสารทิศเข้ามาช่วยเหลือกันมากมาย ตามที่สำรวจหลายพื้นที่ปริมาณน้ำคงที่ หากไม่มีน้ำฝนเพิ่มอีก คิดว่า 2 สัปดาห์นี้ ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมน่าจะเข้าสู่สภาวะปกติ และชาวบ้านกลับเข้าบ้าน ทำความสะอาด สำรวจความเสียหายของทรัพย์สินได้
ความสำคัญตอนนี้...คือ การเยียวยาจิตใจ หรือการช่วยเหลือด้านความเสียหายให้กับประชาชนที่รับผลกระทบน้ำท่วม เพื่อให้คลายความทุกข์มากมาย ทั้งทรัพย์สิน บ้านเรือนพังเสียหาย ต้องขาดรายได้หลายวัน ในเรื่องนี้หน่วยงานภาครัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือแบบประคับประคอง
ยกตัวอย่าง...ในการช่วยทำความสะอาด หรือซ่อมแซมบ้านเรือน อีกทั้งต้องจัดนักจิตวิทยาเข้าไปดูแลช่วยเหลือฟื้นฟูจิตใจ รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่น ต้องเข้ามาประเมินความเสียหาย เพื่อช่วยเหลือด้านสังคมและด้านเศรษฐกิจ จะสามารถบรรเทาความทุกข์หรือความเสียใจระดับหนึ่ง
...
ในระยะยาว...ต้องแก้ไขในเชิงระบบโครงสร้างใหม่ ที่ “รัฐบาล” ต้องออกมาเป็นเจ้าภาพในการจัดทำแบบแผนเผชิญภัยพิบัติระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ เริ่มจากการประเมินสำรวจแต่ละจังหวัด มีความเปราะบางเสี่ยงเกิดภัยพิบัติประเภทใด และการช่วยเหลือสภาวะเข้าสู่ปกติ รวมถึงแบบแผนเชิงการป้องกัน
เมื่อมีการวิเคราะห์ประเมินพื้นที่ นำมาสู่ฐานการเก็บข้อมูลความเสี่ยงของแต่ละหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ที่มี “ความเสี่ยง” ระดับใด จากนั้นก็สร้าง “องค์ความรู้” หรือทำเอกสารคู่มือกับประชาชนในพื้นที่นั้น ให้มีการซักซ้อม...“แผนเผชิญเหตุ”
ทำให้รัฐบาลมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ นำมาสู่การช่วยเหลือหรือป้องกันง่ายขึ้น เพราะเรื่องนี้ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบได้ ที่ต้องมีการทำงานเชื่อมโยงกับท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่นด้วย
“น้ำท่วม” ครานี้...เกินความสามารถของ “คนอุบลฯ” รับมือได้เพียงลำพัง...ทุกคนประสงค์ความช่วยเหลือจากภาครัฐ...ที่ไม่ใช่เป็นเงิน...เป็นทอง แต่ต้องการความมั่นใจไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีกในอนาคต...