วันนี้สินค้าภูมิปัญญา ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์และอาหาร สร้างรายได้ ให้คนท้องถิ่นเป็นจริงขึ้นมาได้...!

โดยเฉพาะ บ้านโนนกาหลง ต.โนนกาหลง อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี วันนี้จึงแทบไม่น่าเชื่อเมื่อหมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้ ได้ชื่อว่าเป็นชุมชนผลิตปลาส้มที่โดดเด่นของจังหวัดนี้

จากการสนับสนุนของ นายแพง คำโท นายก อบต.โนนกาหลง พร้อมเจ้าหน้าที่ และบุคลากร จึงทำให้ นางน้ำฝน บุญครอง อายุ 45 ปี Smart Farmer ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลาส้มแห่งนี้ และสมาชิกเดินหน้าไปได้

นางน้ำฝน บอกว่า วิธีทำปลาส้มให้ได้รสชาติถูกใจ เคล็ดลับอยู่ที่ต้องเลือกใช้ปลาสดๆจากเขื่อน หรือแหล่งน้ำธรรมชาติ นำมาขอดเกล็ดและควักเครื่องในออก แล้วจึงใช้มีดบั้งที่ตัวปลา 3-4 ริ้ว ก่อนล้างทำความสะอาด

ขั้นตอนต่อไปใช้ไม้ทุบอัดเนื้อปลาให้แน่น นำไปคลุกเคล้าด้วยเกลือทิ้งไว้ 30 นาที จึงนำปลาแต่ละตัวออกมาคั้นและหักกระดูก รวม 2 ครั้ง เมื่อเนื้อปลานิ่มให้บีบเกลือออก ป้องกันไม่ให้รสชาติเค็มจนเกินไป

ขั้นตอนสุดท้าย ใช้กระเทียม ข้าวแห้งแช่น้ำ หมักตัวปลา นำไปวางเรียง ในถังหมัก ขนาด 20 กิโลกรัม ทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่อเริ่มมีน้ำสีขาวซึมออกมา แสดงว่ามีรสเปรี้ยว พร้อมออกจำหน่ายแล้ว

การผลิตแต่ละครั้ง ใช้ปลาตะเพียน 10 กก. เกลือ 1 กก. กระเทียม 1 กก. ข้าวแห้ง 1 กก. น้ำตาล 5 ช้อนโต๊ะ สิ่งหนึ่งที่แสดงถึงการใส่ใจผู้บริโภค อยู่ที่โรงงานสะอาด มีมุ้งลวดป้องกันแมลง คนงานแต่งกายสะอาด

แถมเปิดออนไลน์ เฟซบุ๊ก ให้ลูกค้าสั่งซื้อได้ทั่วประเทศ ราคาขายส่ง กิโลกรัมละ 85 บาท หรือถังละ 20 กก. ราคา 1,700 บาท ขายปลีก กิโลกรัมละ 100 บาท ถัวเฉลี่ยรายได้สมาชิก ประมาณ 5 หมื่น-1 แสนบาท/เดือน

ขณะนี้จึงกลายเป็นวิสาหกิจชุมชนดีเด่นของจังหวัด เคยได้รับรางวัลการันตีมากมาย ไม่ว่าผลิตภัณฑ์โอทอปดีมีคุณภาพ หรือโอทอป ระดับ 4 นอกจากนี้ยังเคยเป็นตัวแทนจังหวัดร่วมแข่งขัน อย.ควอลิตี้อวอร์ด อีกด้วย

...

นี่แหละวิถีแห่งการสร้างเศรษฐกิจ และสามารถทำให้ชุมชนมีอาชีพและรายได้อย่างเป็นรูปธรรม...!

อรพินท์ สีวารี / รายงาน