หลายคนอาจคิดว่า มันฝรั่งทอดกรอบที่วางขายในบ้านเรา ต้องนำเข้าแทบทั้งหมด แต่หารู้ไม่ว่าต้นทางของวัตถุดิบกว่า 70% ปลูกในบ้านเรานี่เอง

โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน ที่มีสภาพภูมิอากาศเหมาะสมกับมันฝรั่ง ที่เป็นพืชเมืองหนาว โดยมีการส่งเสริมในรูปแบบคอนแทรกต์ฟาร์มมิง จากผู้ผลิตมันฝรั่งทอดกรอบรายใหญ่ อย่าง บริษัท เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ผู้ผลิตมันฝรั่งเจ้าดัง รวมพื้นที่กว่า 3.5 หมื่นไร่ มีเกษตรกรร่วมโครงการกว่า 4,000 ราย โดยบริษัทรับซื้อผลผลิตทั้งหมดปีละราว 80,000-100,000 ตัน ในราคาประกัน กก.ละ 10-14 บาท

...

“เข้าร่วมโครงการส่งเสริมปลูกมันฝรั่งสายพันธุ์แอตแลนติกกับบริษัทมากว่า 10 ปี ปลูกหลังทำนา 15 ไร่ จากเดิมปลูกถั่วลิสง เริ่มปลูกตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม ที่มีอากาศค่อนข้างเย็นใกล้เคียงกับประเทศเมืองหนาวต้นทางสายพันธุ์ ใช้เวลาปลูก 4 เดือน ได้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 3.5 ตัน มีบริษัทเข้ามาให้องค์ความรู้ต่างๆ ทั้งการปลูก การให้น้ำให้ปุ๋ยผ่านระบบน้ำหยด การใช้สารชีวภัณฑ์ และสารเคมีอย่างถูกต้อง และเหมาะสมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วย เพิ่มความสะดวกสบายให้เราเอง”

ยุทธนา วรรณรัตน์ เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เล่าถึงเรื่อง ราวของการปลูกมันฝรั่งหลังนาในรูปแบบคอนแทรกต์ ฟาร์มมิงกับบริษัท เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ที่ทำกำไรให้ไร่ละไม่น้อยกว่า 30,000 บาท

หลังเกี่ยวผลผลิตข้าวแล้ว จะใช้วิธีไถกลบตอซังและปั่นให้ละเอียดประมาณ 3 รอบ หากไม่เผาตอซังพื้นที่ 1 ไร่ จะเท่ากับได้ปุ๋ย 1 ลูก ก่อนยกร่องปลูกเตรียมแปลงปลูก

จากนั้นปรับค่าพีเอชดินให้เป็นกลางที่ระดับ 6.5-7 โดยใช้ปูนขาว เพื่อให้ธาตุอาหารเข้าถึงพืชหัวอย่างมันฝรั่งได้อย่างเต็มที่ ใช้ชีวภัณฑ์ไตรโครเดอร์มาและบาซิรัสปรุงดิน ใส่ปุ๋ยรองก้นหลุมและนำหัวพันธุ์ลงปลูกไร่ละ 350 กก.

หลังปลูก 25 วันเริ่มให้ปุ๋ยผ่านสายน้ำหยดทุกๆ 4 วัน และเปลี่ยนสูตรปุ๋ยตามการเจริญเติบโตเมื่ออายุ 50 วัน และ 70 วัน โดยเฉลี่ยใช้ปุ๋ยไร่ละ 5 ลูก

สำหรับการปลูกได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตและพันธุ์มันฝรั่งจากบริษัท พร้อมนำนวัตกรรมเข้ามาช่วย อาทิ การเก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ก่อนการปลูกหรือปุ๋ยสั่งตัด ใช้เครื่องวัดความชื้นที่แปลงเพื่อให้น้ำได้เต็มประสิทธิภาพ โดยจะให้น้ำเมื่อความชื้น สัมพัทธ์ที่แปลงต่ำกว่า 70% ช่วยประหยัดน้ำได้ถึง 40% การใช้โดรนเข้ามาช่วยพ่นสารกำจัดแมลงศัตรูพืช รวมทั้งถ่ายภาพวิเคราะห์หาโรค และแจ้งเตือนเมื่อพบความผิดปกติ และการนำโซลาร์เซลล์มาใช้ เพื่อประหยัดค่าพลังงาน

“ปีที่แล้วผมได้ผลผลิตถึงไร่ละ 4 ตัน หักลบต้นทุนไร่ละประมาณ 15,000 บาทแล้ว เหลือกำไรไม่ต่ำกว่าไร่ละ 30,000 บาท เรื่องตลาดก็ไม่ต้องกังวลเพราะบริษัทรับซื้อผลผลิตทั้งหมด หลังจากนั้นจะปลูกข้าวโพดหวาน และทำนา ก่อนจะวนรอบกลับมาปลูกมันฝรั่งอีกครั้งในช่วงปลายปี เสียดายที่ปลูกได้แค่ปีละครั้ง เพราะทำเงินได้มากกว่าปลูกข้าวเสียอีก”.

...

กรวัฒน์ วีนิล