ปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์ “ประเทศไทยมีความเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวสูง” นับแต่ปรากฏพบรอยเลื่อนมีพลัง 14 แห่ง ครอบคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ ที่สามารถปลดปล่อยพลังงานได้ทุกเมื่อ
เท่านั้นไม่พอยังถูกล้อมรอบ “ด้วยแหล่งกำเนิดในประเทศเพื่อนบ้าน” อย่างอินโดนีเซีย เมียนมา เวียดนาม สปป.ลาว กรณีเมื่อมีแผ่นดินไหวนั้นแรงสั่นสะเทือนมักกระทบต่อโครงสร้างอาคารบ้านเรือนในประเทศไทยเสียหายได้เช่นกัน ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หน.โครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย บอกว่า
ปัจจุบันนั้นแผ่นดินไหวสามารถเกิดได้เป็นประจำอย่างล่าสุดเดือน พ.ย.2565 “อินโดนีเซียเกิดขึ้นขนาด 5.6” คราวนี้ค่อนข้างแปลกใจ “เพราะเป็นแผ่นดินไหวขนาดกลาง” แต่กลับสร้างความเสียหายมหาศาล
เพราะตามปกติ “แผ่นดินไหวขนาดกลาง” สามารถมีศักยภาพทำลายอาคารบ้านเรือนเสียหายได้รุนแรงขนาดนั้น “มักต้องเกิดในตำแหน่งชุมชนมีประชาชนอาศัยหนาแน่น” แต่อย่างไรก็ดีกรณีการเกิดแผ่นดินไหวในอินโดนีเซียนี้ “จะไม่สามารถกระตุ้นรอยเลื่อนในไทย” เพราะมีระยะอยู่ห่างไกลกันมากเกินไป

...
ทว่าสำหรับ “ประเทศไทย” ก็มักเกิดแผ่นดินไหวขึ้นทุกเดือน ตามแนวรอยเลื่อนที่ค้นพบเดิมเพียงแต่มีขนาดเล็ก 1-4 ทำให้ประชาชนไม่รู้สึกถึงแรงสั่นนั้น แต่กรณีจะสัมผัสแรงสั่นได้อาจต้องมีระดับขนาด 5-6 รับรู้แรงสั่นจนข้าวของเครื่องใช้เคลื่อนที่...อาคารบ้านเรือนแตกร้าว แต่กรณีนี้โอกาสเกิดได้ 2 ใน 1,000 ของแผ่นดินไหวขนาดเล็ก
แนวรอยเลื่อนมีพลังขนาดนั้น “มักอยู่ชุกชุมในพื้นที่ภาคเหนือ” ที่เคยปรากฏพบสถิติการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 5-6 มาแล้วหลายครั้งในอดีต และบางรอยเลื่อนยังสามารถเกิดได้ขนาด 7 ด้วยซ้ำ อย่างเช่นล่าสุดเมื่อ 6-7 ปี ที่แล้วเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 บริเวณ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บอีกร้อยคน
ถ้าดูข้อมูลย้อนหลังยังพบอีกว่า “แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุด” หากจำไม่ผิดมีขนาด 6.5 บริเวณ จ.น่าน เมื่อประมาณ 70 ปีก่อน สิ่งเหล่านี้สะท้อนได้ว่า “รอยเลื่อนในไทย” มีศักยภาพสามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่รุนแรงได้เสมอ โดยเฉพาะรอยเลื่อนแม่จันที่มีพลังมากที่สุด และพาดผ่าน จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่
ทั้งในละแวกใกล้เคียงกันนั้นยังพบ “แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่” อย่างเช่น “รอยเลื่อนน้ำมาในเขตเมียนมา” แล้วในปี 2554 ก็เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.8 สามารถรับรู้แรงสั่นไหวได้ “ในฝั่งไทย” สิ่งนี้กำลังตอกย้ำว่า “พื้นที่ภาคเหนือ” นับเป็นจุดที่ตั้งบนรอยเลื่อนอันมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้
ดังนั้น “การเฝ้าระวังป้องกัน” ไม่อาจให้ความสำคัญตามความถี่ของการเกิดนั้นได้ แต่ควรวิเคราะห์ผลกระทบควบคู่กันไปด้วย โชคดีปัจจุบันนี้ “กรมอุตุนิยมวิทยา” มีสถานีตรวจวัดจับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวสามารถรายงานได้ตลอดเวลา ทำให้เห็นภาพรวมสู่การประมวลผลปัจจัยเสี่ยงออกเป็นมาตรการป้องกันในอนาคต
ตอกย้ำว่า “แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในภูมิภาคนี้อยู่ใต้ทะเลอันดามัน” เป็นรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก และรองลงมาก็เป็นรอยแตกรอยร้าวในแผ่นเปลือกโลกที่เรียกว่า “รอยเลื่อน” แล้วรอยเลื่อนที่มีขนาดใหญ่อยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุดคือ “รอยเลื่อนสะกายในเมียนมา” พาดผ่านเมืองเนปิดอว์ เมืองมัณฑะเลย์

ประเด็นมีอยู่ว่า “รอยเลื่อนสะกายนี้สามารถก่อกำเนิดแผ่นดินไหวได้ขนาด 8” ทำให้เป็นรอยเลื่อนหลักสำคัญ “ในจำนวนนี้มีรอยเลื่อนแตกแขนงบางส่วนทะลุเข้ามาในไทย” แล้วเชื่อมโยงต่อเนื่องรอยเลื่อนในภาคตะวันตก ภาคเหนือ และภาคใต้ “ยกเว้นภาคอีสาน” ที่เชื่อมโยงรอยเลื่อนจาก สปป.ลาว บางส่วน
แล้วถ้าอยากทราบ “การสะสมพลังงานรอยเลื่อนนั้น” สามารถคำนวณตามอัตราการเลื่อนตัวของแต่ละรอยเลื่อนอย่างเช่นอัตราเลื่อนตัว 10 มิลลิเมตรต่อปี มักมีการสะสมพลังงานก่อนปลดปล่อยเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในทุก 100 ปี แล้วอัตราเลื่อนตัว 1 มิลลิเมตรต่อปีก็สะสมพลังงานเต็มที่มีโอกาสปลดปล่อยได้ภายใน 1 พันปี
...
สำหรับ “ในไทยมีอัตราเลื่อนตัว 1 มิลลิเมตรต่อปี” ถ้าหากเป็นในส่วน “รอยเลื่อนในเมียนมา” ส่วนใหญ่มีอัตราเลื่อนตัว 10 มิลลิเมตรต่อปี “จึงมักเกิดแผ่นดินไหวใหญ่บ่อยครั้ง” แล้วยิ่งบางรอยเลื่อนมีพลังอย่างเช่นรอยเลื่อนสะกายที่มีอัตราเลื่อนตัวสูงถึง 20 มิลลิเมตรต่อปี ทำให้มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวในทุกๆ 50 ปีก็ได้
ปัญหามีอยู่ว่า “แม้รอยเลื่อนในไทยอัตราเลื่อนตัวต่ำต่อปี” แต่ก็มีหลายรอยเลื่อนสะสมพลังงานได้เต็มที่ “พร้อมการปลดปล่อยครั้งใหญ่ออกมาแล้วก็มี” ถ้าหากเกิดขึ้นจริงจะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล ลักษณะคล้ายกรณีในปี 2538 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.2 ในเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น คราวนั้นมีผู้เสียชีวิตราว 6 พันคน
คราวนั้นก็เกิดจาก “รอยเลื่อนขนาดเล็กอันมีลักษณะใกล้เคียงกับรอยเลื่อนในไทย” ดังนั้นอยากบอกว่า “เราไม่อาจประมาทกับรอยเลื่อนอัตราเลื่อนตัวต่ำเหล่านี้ได้” เพราะถ้าเกิดขึ้นนั้นมักสร้างความสูญเสียอย่างมหาศาล แล้วยิ่งรอยเลื่อนในไทยหลายจุดพาดผ่านชุมชนใหญ่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น
อย่างเช่น “รอยเลื่อนแม่จัน” พาดผ่าน อ.ฝาง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ อ.แม่จัน อ.เชียงแสน อ.ดอยหลวง อ.เชียงของ จ.เชียงราย “รอยเลื่อนแม่ทา” พาดผ่าน จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน จ.เชียงราย “รอยเลื่อนเถิน” พาดผ่าน จ.ลำปาง และ จ.แพร่ อันเป็นพื้นที่เสี่ยงมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ สร้างความสูญเสียอย่างมากมายได้

...
แต่สิ่งที่เป็นกังวลกว่านั้นคือ “รอยเลื่อนนอกการค้นพบกระจัดกระจายอยู่อีกมาก” อันเป็นรอยเลื่อนขนาดเล็กแตกร้าวในแผ่นเปลือกโลก “ไม่ปรากฏบนผิวแผ่นดิน” กำลังหลบซ่อนตัวตามพื้นที่ต่างๆเต็มไปหมด
โดยเฉพาะ “ภาคเหนือ” ที่ก่อนหน้านี้มีการค้นพบหลายครั้งว่า “จุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหว” ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งรอยเลื่อนเดิมที่ค้นพบนั้น แล้วมีรอยเลื่อนนอกการค้นพบนี้ก็ก่อกำเนิดแผ่นดินไหวขนาด 5-6 ซึ่งระดับนี้หากเกิดตรงชุมชนเมืองย่อมมีศักยภาพเพียงพอในการทำลายอาคารบ้านเรือนอย่างรุนแรงได้เช่นกัน
นั่นก็แปลว่า “ประเทศไทยเสี่ยงการเกิดแผ่นดินไหว” ทั้งจากรอยเลื่อนค้นพบเดิม “อันเป็นแหล่งกำเนิดขนาดใหญ่” แล้วยังเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวขนาด 5-6 ที่อาจเกิดขึ้นได้แบบสะเปะสะปะนอกพื้นที่เฝ้าระวังอีกด้วย
สิ่งนี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญแสดงถึงว่า “แผ่นดินไหวสามารถเกิดได้ทุกพื้นที่ของประเทศ” จึงไม่สามารถสรุปได้ว่า “การดูแลเฝ้าระวังป้องกัน” ควรเน้นเฉพาะพื้นที่เสี่ยงอย่างภาคเหนือ-ภาคตะวันตกเท่านั้น

...
เช่นนี้เมื่อเรารู้แล้วว่า “รอยเลื่อนใดมีพลังงานก่อกำเนิดแผ่นดินไหวระดับใด” ทำให้นำข้อมูลเหล่านั้น “สร้างแบบจำลองเป็นแผนที่เสี่ยงภัย” แล้วกำหนดเป็นเขตพื้นที่เสี่ยงในปี 2540 ออกเป็นกฎหมายควบคุมอาคารฉบับแรก เพื่อเป็นข้อกำหนดการก่อสร้างอาคารให้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว
ในช่วงแรก “ควบคุมในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันตก” เน้นหลักอาคารประเภทสาธารณะ อาคารเก็บวัตถุอันตราย หรืออาคารสูงกว่า 15 เมตรขึ้นไป แต่ต่อมาในปี 2550 ขยายพื้นที่ครอบคลุมควบมาในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล “อันเป็นแอ่งดินอ่อนใต้เมือง” สามารถขยายความรุนแรงของแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้นอีก 3-4 เท่า

กระทั่งปี 2564 ได้ปรับปรุงกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวฉบับใหม่ เพื่อขยายครอบคลุม 40 จังหวัดโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยสูงสุด 10 จังหวัด กำหนดให้อาคารสูง 3 ชั้นขึ้นไป ต้องออกแบบต้านทานแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวด้วย
เช่นนี้อนาคต “ประเทศไทย” จะมีอาคารที่มั่นคงแข็งแรงต้านทานแรงแผ่นดินไหวมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น “ยกเว้นอาคารบ้านเรือน” ถูกสร้างขึ้นก่อนการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ก็ยังคงมีความเสี่ยงเหมือนเดิม
ฝากย้ำว่า “การรับมือแผ่นดินไหว” ไม่มีอะไรซับซ้อนขอเพียงปฏิบัติตามมาตรฐานกฎหมายที่มีอยู่อย่างเคร่งครัด “เพื่อให้อาคารบ้านเรือนทนทานแรงสั่นสะเทือนได้” เท่านี้ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลสิ่งใดอีกแล้ว.