ศูนย์รักษามะเร็งแบบครบวงจร
สุดยอดปรารถนาของคนในเกือบทุกพื้นที่ เพื่อความอุ่นใจที่จะมีโอกาสรับการรักษาที่ครบถ้วนและทันเวลา
เพราะมะเร็งเปรียบเสมือนเพชฌฆาตร้าย ที่คร่าชีวิตประชากรทั่วโลก ทั้งเป็นโรคร้ายที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าคนร่ำรวยหรือยากจน ก็ล้วนมีโอกาสเป็นเหยื่อของโรคมะเร็งได้ทั้งนั้น
การได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง มีคุณภาพ และครบถ้วน จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้ป่วยอยากได้รับโอกาส ด้วยความหวังที่จะหายขาด และหลุดพ้นจาก...เพชฌฆาตร้ายอย่างโรคมะเร็ง หรืออย่างน้อยที่สุดก็เพื่อจะสามารถต่อลมหายใจให้ยาวต่อไปอีกสักนิด
และนั่นคือหัวใจหลักที่ โรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี จ.จันทบุรี 1 ใน 7 จังหวัดแถบภาคตะวันออกของประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วย จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี และสระแก้ว เปิด “โครงการการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง” ด้วยแนวคิดที่จะพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งให้มีคุณภาพมาตรฐานแบบครบวงจร เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้หลุดพ้นจากฝันร้าย
โดยที่ผ่านมาทั้ง 7 จังหวัดภาคตะวันออก เมื่อมีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็ง ต้องเข้ารับการรักษาในขั้นตอนการฉายแสงรังสี จะต้องถูกส่งต่อไปทำการฉายแสงรักษาที่โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี จ.ชลบุรี เท่านั้น เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลรัฐเพียงแห่งเดียวในภูมิภาคนี้ที่มีความพร้อมทั้งทางด้านอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ในการรักษาโรคมะเร็งแบบครบวงจร
ขณะที่ข้อมูลสถิติโรคมะเร็งระดับประชากรปี 2553-2555 ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติระบุว่าจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งหน่วยคนต่อแสนประชากรนั้นอัตราการป่วยของประชากรในจังหวัด ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด มีอัตราการป่วยสูงกว่าอัตราการป่วยของทั้งประเทศ โดยทั้งประเทศพบเพศชายป่วยโรคมะเร็ง 143.3 คนต่อแสนประชากร เพศหญิง 131.9 คนต่อแสนประชากร แต่ใน จ.ชลบุรี พบเพศชายป่วยมะเร็ง 169 คนต่อแสนประชากร เพศหญิง 160 คนต่อแสนประชากร จ.ระยองพบในเพศชาย 141.5 คนต่อแสนประชากร เพศหญิง 140.5 คนต่อแสนประชากร จ.จันทบุรีพบในเพศชาย 181.9 คนต่อแสนประชากร เพศหญิง 149 คนต่อแสนประชากร และ จ.ตราด พบในเพศชาย 157.2 คนต่อแสนประชากร และเพศหญิง 124.9 คนต่อแสนประชากร
...
นพ.ธีรยุทธ นัมคณิสรณ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง โรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี เล่าถึง โครงการการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง ว่า การรักษาหลักของโรคมะเร็ง จะประกอบไปด้วยการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสงรังสีรักษา และการรักษาอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลพระปกเกล้ามีศักยภาพในการรักษาได้ในเรื่องการผ่าตัด การให้เคมีบำบัด แต่จะมี “ปัญหาใหญ่ๆ คือ การฉายแสงรังสีรักษา” ซึ่งจะต้องส่งไปที่โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งเดียวที่ต้องดูแลผู้ป่วยมะเร็งทั้งภาคตะวันออก ทำให้การรับบริการและการเข้าถึงการฉายแสงรังสีรักษาไม่ทั่วถึง และมีระยะเวลารอคอยที่ยาวนานกว่าจะได้ฉายแสงรังสีรักษา จึงเป็นที่มาที่ทำให้โรงพยาบาลต้องพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคมะเร็งที่ จ.จันทบุรี เพื่อรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยแบบครบวงจร
“หากสามารถเปิดศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งได้ สิ่งที่คนในภาคตะวันออกจะได้รับคือผู้ป่วยมีโอกาสหายจากโรคเพิ่มขึ้น เพราะสามารถทำการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว พบโรคได้ตั้งแต่ระยะต้นๆ และที่สำคัญคือผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและครบวงจร ทั้งการฉายแสง นิวเคลียร์ และรังสีร่วมรักษา เพราะศูนย์แห่งนี้สามารถพัฒนางานรังสีรักษาได้ 3 งาน คือ 1.งานฉายแสงรังสีรักษา ซึ่งมีพื้นที่ที่จะพัฒนาเครื่องฉายแสง 2 ห้อง 2.งานเวชศาสตร์นิวเคลียร์ จะเป็นงานด้านการตรวจว่ามะเร็งกระจายไปส่วนอื่นหรือยัง โดยเฉพาะมะเร็งกระดูก และการรักษามะเร็งไทรอยด์ และ 3.งานรังสีร่วมรักษา ซึ่งจะเป็นการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งบางชนิดที่วินิจฉัยได้ยาก เช่น ในช่องท้อง ทรวงอก ซึ่งต้องการใช้เทคโนโลยีในการตรวจ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและแม่นยำ” หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งเล่าถึงความสำคัญของศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง
นพ.ธีรยุทธ เล่าต่อด้วยว่า การพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งแบบครบวงจร โรงพยาบาลได้รับงบประมาณ 315 ล้านบาท ในการสร้างตึกจำนวน 10 ชั้น ซึ่งขณะนี้สร้างเสร็จแล้ว แต่ยังขาดงบประมาณในการจัดซื้อจัดหา
อุปกรณ์ทางการแพทย์จำนวน 399 ล้านบาท จึงอยากชวนคนไทยร่วมบริจาคเงินซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อมอบโอกาสรักษาหายให้ผู้ป่วยมะเร็ง ในช่องทางต่างๆ อาทิ บริจาคเข้ามูลนิธิโรงพยาบาลพระปกเกล้า (ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ศูนย์มะเร็ง) บัญชีออมทรัพย์ ธ.กรุงไทย เลขที่บัญชี 985-2-19950-1, SMS *948*1234*100# และสั่งซื้อเสื้อกระต่ายหมายจันทร์ สอบถามโทร. 08-0994-2457
ทีมข่าวสาธารณสุข มองว่า “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งแบบครบวงจร” คือการมอบโอกาสให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่รวดเร็วขึ้น และนั่นย่อมหมายถึงการได้รับการรักษาที่ทันท่วงที เพราะโรคมะเร็งนั้น หากพบได้เร็วในระยะแรกๆ อาจมีสิทธิ์รักษาให้หายขาดได้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังช่วยต่อลมหายใจในผู้ป่วยระยะท้ายๆ เพื่อคืนรอยยิ้มและความสุขให้กับครอบครัวซึ่งมีบุคคลอันเป็นที่รักเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็ง
การรักษาโรคเป็นหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านต่างๆ แต่การให้โอกาสกับผู้ป่วยมะเร็งได้รับการตรวจวินิจฉัย รักษา ให้หายขาดจากโรคนั้น เราทุกคนสามารถร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งได้ ด้วยการร่วมกันสมทบทุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อเป็นเกราะที่จะต่อสู้กับเพชฌฆาตร้ายได้
เพราะเพชฌฆาตร้ายอย่างโรคมะเร็งนั้น มักพ่ายแพ้ให้กับความรวดเร็วและแม่นยำในการกำจัดเนื้อร้าย...
ทีมข่าวสาธารณสุข