เผยตำนานเสาไห้ ไม้ตะเคียนขนาดใหญ่ ที่ได้ชื่อว่า "เจ้าแม่" ถูกนำขึ้นจากน้ำตั้งแต่ปี 2501 กับประวัติสุดพิสดาร ล่องทวนน้ำจากกรุงเทพฯ เพราะน้อยใจที่ไปไม่ทัน ไม่ได้เป็นเสาเอกในการสร้างเมืองหลวง เข้าฝันจนต้องทำพิธีนำขึ้นจากน้ำ เมื่อ 59 ปีก่อน สุดศักดิ์สิทธิ์ ทุกปีพ่อเมืองจะต้องมาอาบน้ำให้...
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2560 นายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เดินทางมาเป็นประธาน เปิดงานประเพณีสรงน้ำพระ อาบน้ำแม่นางตะเคียน ที่วัดสูง ต.เสาไห้ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ซึ่งเป็นประเพณีที่ยึดถือสืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน นับตั้งแต่อัญเชิญเสาแม่นางตะเคียนขึ้นจากแม่น้ำป่าสัก เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2501 เป็นต้นมา โดยมีกิจกรรมสรงน้ำพระ อาบน้ำ ผู้สูงอายุ และรดน้ำที่เสาตะเคียน เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นอันดีงาม และเรื่องราวอันเป็นตำนานของอำเภอ โดยปีนี้มีประชาชน นักท่องเที่ยวร่วมงานกว่าพันคน
สำหรับเสาร้องไห้ อันเป็นที่มาและตำนานของ อ.เสาไห้ เป็นเสาไม้ตะเคียนขนาดใหญ่อยู่ที่ศาลเจ้าแม่นางตะเคียนในวัดสูง มีประชาชนไปเคารพบูชากันมาก ถือกันว่าเป็น เจ้าแม่ สิ่งของที่นำไปบูชาล้วนเป็นของใช้สตรีทั้งสิ้น ทั้งนี้ มีประวัติเล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อครั้งสร้างกรุงเทพฯ เป็นราชธานี ได้มีการประกาศให้หัวเมืองคัดเลือกเอาเสาไม้ที่มีลักษณะงดงามเพื่อจัดเป็นเสาเอก เมืองสระบุรีได้ส่งเสาไม้ ตะเคียนทองขนาดใหญ่ต้นหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะงดงามมาก ล่องตามแม่น้ำป่าสัก แต่มาช้าไปเล็กน้อย ได้มีการคัดเลือกไปแล้ว จึงได้เป็นเสารอง ซึ่งเป็นที่คาดกันว่าถ้าเสาต้นนี้มาทันต้องได้เป็นเสาเอกอย่างแน่นอน เพราะมีลักษณะใหญ่ และสวยงามมาก เสาต้นนี้จึงเสียใจ ลอยทวนน้ำจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาและจมอยู่ตำบลนี้กว่า 100 ปี พอตกเวลากลางคืนชาวบ้านมักได้ยินเสียงร้องไห้ จึงได้ให้ชื่อตำบลนี้ว่า ตำบลเสาร้องไห้ และได้กลายเป็น "อำเภอเสาไห้"
...
ประมาณปี พ.ศ. 2501 นางเฉลียว จันทร์ประสิทธิ์ ได้ฝันว่า มีหญิงคนหนึ่ง บอกว่าเป็นนางไม้ประจำเสาที่จมน้ำอยู่ ให้บอกสามีเอาเสาขึ้นมาจากน้ำด้วย นายเผ่า ผู้เป็นสามีก็ไม่เชื่อ มีคนเล่าต่อกันมาว่า นางไม้ของเสาต้นนี้ได้ไปเข้าทรงกับผู้อื่นอีกหลายครั้ง จนในที่สุดชาวบ้านหลายคนก็ได้ไปร้องขอให้นายเผ่าเอาเสาต้นนี้ขึ้นมา เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2501 ในวันนั้นแดดร้อนจัดมาก ขณะที่กำลังนำเสาขึ้นจากน้ำ ท้องฟ้าก็มืดครื้มไปหมดทันที มีเสียงฝ้าผ่าดังมากเป็นประกายสีเขียวไปทั่ว เสียงฟ้าร้องคำรามทำท่าคล้ายฝนจะตก ทำให้ผู้คนที่มาเข้าร่วมพิธีกันเป็นจำนวนมากต่างตื่นตาตื่นใจ
วันที่ 23 เมษายน 2501 เป็นวันที่เชิญเสาไปประดิษฐานที่วัดสูง เวลา 09.00 น. เริ่มพิธีเคลื่อนเสาไปสู่วัดสูง โดยตั้งศาลสูงเพียงตา มีหัวหมูซ้ายขวา บายศรี 3 ชั้น ใช้ด้ายสายสิญจน์ผูกที่เสา แล้วใช้เชือกผูกแพที่รับเสาให้ประชาชนดึง เมื่อได้ฤกษ์ พระสงฆ์ 9 รูปเจริญชัยมงคลคาถา ประชาชนที่อยู่บนฝั่งหน้าที่ว่าการอำเภอเสาไห้ ก็ดึงเชือกแพลูกบวบให้เคลื่อน ไปทางทิศตะวันออก มีเรือแตรวงนำขบวน มีเรือต่างๆ ร่วมขบวนอีกเป็นจำนวนมาก ในวันนั้นที่นำเสาขึ้นจากน้ำ มีประชาชนมาร่วมพิธีเป็นจำนวนมากประมาณสามหมื่นคนนับเป็นวันประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของชาวอำเภอเสาไห้ที่ต้องจารึกไว้
ต่อมา จึงได้สร้างศาลถาวรขึ้นที่หน้าพระอุโบสถในวัดสูง เป็นศาลกว้าง 4 เมตร ยาว 15 เมตร มีมุขออกด้านตะวันออก พื้นคอนกรีต มีฐานก่ออิฐสูงรองรับเสาตะเคียน และเมื่อวัดสูงได้สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ขึ้น จึงได้ดัดแปลงศาลาการเปรียญ หลังเดิมเป็นอาคารทรงไทยสวยงาม และอัญเชิญเสาแม่นางตะเคียนมาประดิษฐานที่ศาลหลังใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2530 มาจนถึงทุกวันนี้ และในวันที่ 23 เมษายนของทุกปี จะมีพิธีอาบน้ำเสาแม่นางตะเคียน โดยพ่อเมืองหรือผู้ว่าราชการจังหวัด ถือเป็นประเพณีพิธีอันศักดิ์สิทธิ์
แม่นางตะเคียน เสาไห้ที่เป็นตำนานต้นนี้เป็นที่ร่ำลือในความศักดิ์สิทธิ์ ที่ใครไปใครมาต้องแวะมากราบไหว้ นอกจากนี้ยังพูดกันด้วยว่า แม่นางตะเคียนนั้นใจดี ขออะไรมักจะได้สมความปรารถนา เห็นได้จากสิ่งของแก้บน และพวงมาลัยเจ็ดสีมากมายที่มีคนนำมาถวาย.