อาจารย์-นักวิชาการ มจร.และสถาบันต่างๆ ผนึก กำลังทำวิจัยชิ้นสำคัญ “ปรากฏการณ์คนไทยสุดอาลัย ต่อการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 9” บันทึกประวัติศาสตร์แผ่นดิน หลังการสูญเสียครั้งสำคัญที่สุดของคนไทยสะท้อนภาพความจงรักภักดีอย่างหาที่สุดมิได้ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพสกนิกร เตรียมส่งทีมงานลงพื้นที่ต่างจังหวัดสำรวจให้ครบถ้วน

ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 มิ.ย. นายธีรภัค ไชยชนะ อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ในฐานะเลขาธิการศูนย์อำนวยความสะดวกพระภิกษุสามเณร นายกฤษณ์ธวัช นพนาคีพงษ์ อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ นำคณะนักวิจัยจาก มจร. และสถาบันต่างๆ จำนวนกว่า 30 คน เดินทางเข้าถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

นายธีรภัคเปิดเผยว่า การเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังความเศร้าโศกให้คนไทยอย่างมาก ตลอดเวลาที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์สำคัญๆหลายอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของคนไทยที่ร่วมกันแสดงออกถึงความ จงรักภักดีอย่างหาที่สุดมิได้ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์นี้ผ่านพ้นไปโดยไม่ได้รับการศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ กลุ่มนักวิชาการ มจร.และสถาบันต่างๆจึงร่วมกันจัดทำงานวิจัยชิ้นสำคัญ ใช้ชื่อ “การบริหารจัดการการมีส่วนร่วมในงานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ได้รับความเห็นชอบจากพระพรหมบัณฑิต อธิการบดี มจร. เป้าหมายเพื่อทำการศึกษาวิจัยหาคำตอบของปรากฏการณ์ความจงรักภักดีที่เกิดการแสดงออกของประชาชน ทั้งผลสรุปและข้อมูลในการวิจัยชิ้นนี้ มีเป้าหมายที่จะเสนอต่อรัฐบาลไว้ปรับใช้เป็นโมเดลในการพัฒนาชีวิตประชาชน พัฒนาประเทศ ให้อยู่คู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดไป

...

นายธีรภัคกล่าวด้วยว่า สำหรับทีมนักวิจัยมาจากสหสาขารวม 102 คน ส่วนใหญ่เป็นคณาจารย์ นักศึกษาระดับปริญญาเอกของ มจร.ที่มีทั้งพระและฆราวาส ร่วมกับทีมนักวิจัยอีก 16 สถาบันอุดมศึกษา ทั้งได้รับการอำนวยความสะดวกจาก กอร.รส. ให้ สามารถเข้าไปเก็บข้อมูลเชิงลึกจากประชาชนที่มาถวายสักการะพระบรมศพ นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้ ประสานกับสำนักพระราชวัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อขอข้อมูล ทั้งเตรียมส่งทีมงานลงพื้นที่ในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ

นายธีรภัคเผยด้วยว่า สำหรับหัวข้อการวิจัยประกอบด้วย 1.องค์ความรู้การบริหารจัดการพระ บรมศพในหลวง ร.9 เพื่อศึกษาการจัดงานพระบรมศพนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงหรือมีส่วนใดที่เพิ่มขึ้นมาในงานนี้บ้าง 2.การมีส่วนร่วมในงานพระบรมศพ ศึกษาถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน ว่าได้ทุ่มเทเสียสละในการร่วมงานนี้อย่างไร 3.รูปแบบการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของความจงรักภักดี ศึกษาการแสดงออกครั้งสำคัญที่เป็นปรากฏการณ์ประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นการที่มีประชาชนหลายแสนคนมาร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี การวิ่งหรือเดินมาถวายสักการะพระบรมศพและค้นหาคำตอบในใจของผู้ที่ร่วมถวายสักการะพระบรมศพ

นายธีรภัคกล่าวอีกว่า ข้อ 4 การบริหารจัดการพระบรมศพ ตั้งแต่เริ่มพระราชพิธีจนถึงสิ้นสุด 5.บทสรุปของการวิจัย ขณะนี้โครงการวิจัยแล้วเสร็จไปกว่าครึ่ง ในเดือน ก.ค. งานวิจัยบทที่ 1-3 จะทยอยแล้วเสร็จช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. เมื่อสิ้นสุดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ผลงานวิจัยจึงจะสมบูรณ์พร้อมเผยแพร่ สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ยังจะเก็บผลงานโครงการพระราชดำริศาสตร์พระราชา มาผนวกกับการวิจัย เพื่อสะท้อนความรักสถาบันของคนไทยด้วย

อีกด้านวันเดียวกัน นายอำพล สัมมาวุฒิ นักวิชาการช่างศิลป์เชี่ยวชาญ (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านช่างศิลปกรรม (วิจัยและพัฒนาศิลปกรรม)) สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดสร้างฉัตรประดับพระมหาพิชัยราชรถ เครื่องประกอบในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า เจ้าหน้าที่สำนักช่างสิบหมู่ได้จัดสร้างฉัตรประดับพระมหาพิชัยราชรถขึ้นใหม่ จำนวน 4 ต้น เป็นฉัตร 5 ชั้น องค์ประกอบต่างๆของฉัตร 5 ชั้น แต่ละชั้นมีลายระบายฉัตรด้านข้าง 2 ชั้น หลังคาฉัตรมีลวดลาย ส่วนบนสุดของฉัตรมีผ้ากบาลเป็นผ้าลายทองแผ่ลวดปิดหมุดไว้เพื่อความงดงาม ส่วนยอดฉัตรสร้างเป็นทรงระฆังคว่ำปิดทองประดับกระจก ก้านฉัตรลงรักปิดทองทั้งก้าน โครงสร้างภายในยึดตามลักษณะโบราณประเพณีสามารถกางและหุบได้ คล้ายร่ม ประกอบด้วย ซี่ฉัตร กงฉัตร กำพูฉัตร และยอดฉัตร คาดว่าเครื่องประดับราชรถทั้งหมด จะติดตั้งได้ภายในเดือนสิงหาคม เพื่อให้ซ้อมฉุดชัก