ศิลปากรเผยโฉม “หุ่นต้นแบบม้า” สำหรับประดับบริเวณบันไดทางด้านตะวันตกของพระเมรุมาศ ที่ช่างปั้นทำเสร็จแล้ว 1 คู่ เตรียมทยอยขนย้ายประติมากรรมต้นแบบต่างๆมายังโรงหล่อที่ท้องสนามหลวง ตามแผนงานให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ ขณะที่กลุ่มอาสาสมัครลงพื้นที่ร่วมกันตรวจสอบดูต้นมะขามรอบสนามหลวง คาดจะเริ่มขุดล้อมหมักรากในเดือนนี้ ประมาณ 2 เดือนถึงขุดย้ายเปิดพื้นที่ให้การก่อสร้างพระเมรุมาศ

พสกนิกรทุกหมู่เหล่าจากทั่วสารทิศของประเทศไทย ยังเดินทางมาแสดงความอาลัยและถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง อย่างต่อเนื่องตลอดวันที่ 4 ก.พ. ซึ่งในจำนวนนี้มีชาวไทยทรงดำ หรือชาวลาวโซ่ง กว่า 300 คนจากจังหวัดต่างๆ อาทิ เพชรบุรี ราชบุรี นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก สุราษฎร์ธานี และชุมพร ต่างแต่งกายด้วยชุดประจำชนเผ่า รวมตัวกันเดินทางมาถวายสักการะพระบรมศพเบื้องหน้าพระบรมโกศ

ขณะที่ในการพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ บำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นวันที่ 14 หลังเสร็จสิ้นพิธีหลวง หรือพระราชพิธีทรงบำเพ็ญ พระราชกุศลสตมวาร (100 วัน) ถวายพระบรมศพ การนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้องค์กรภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนมูลนิธิ สมาคมต่างๆ อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยคริสเตียน มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ราชวิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มูลนิธิสว่างกวนอิมธรรมสถาน สำนักนโยบายและแผน กระทรวงกลาโหม สมาคมการค้าเครื่องเสียงและภาพ (ไทย) ศาลจังหวัดตลิ่งชัน บริษัท บางกอกบิสิเนส บรอดคาสทิ้ง จำกัด บริษัท เนชั่น มัลติมีเดียกรุ๊ป จำกัด ฯลฯ ร่วมเป็นเจ้าภาพในการบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ

...

ต่อมาผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนางสาวดารี ศรีนิรัตน์ อายุ 60 ปี แม่ครัวของโรงเรียนไทยวิทยา 2 ต.ช้างใหญ่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวภายหลังถวายสักการะพระบรมศพ ว่า ประทับใจในความดี และการทรงงานหนักของในหลวง ร.9 มาก พระองค์ทรงช่วยเหลือชาวนา ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง ซึ่งชาวอยุธยาเป็นหนึ่งจังหวัดที่ได้รับผลกระทบหนัก จึงได้ยึดเอาหลักเศรษฐกิจพอเพียง การใช้จ่ายอย่างประหยัด ใช้เท่าที่มีไม่ซื้อของใหม่โดยไม่จำเป็น รวมถึงช่วยเหลือเด็กๆด้อยโอกาสที่ยากจนในโรงเรียนให้มีข้าวกิน ก็เป็นความสุขหนึ่งที่ได้ช่วยกัน ขณะที่นางชุดา แก้วก่า อายุ 78 ปี ชาวบ้านจากย่านดอนเมือง กทม. กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า เดินทางมาถวายสักการะพระบรมศพเป็นครั้งที่ 4 แล้วตั้งใจว่าอยากมาถวายสักการะพระบรมศพให้ครบ 9 ครั้ง ส่วนตัวประทับใจที่พระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงดูแลประชาชนมาตลอด ภาพที่พระองค์ประทับนั่งบนพื้นเพื่อทรงงาน เสมอกับประชาชนทั่วไปยังคงติดตาตรึงใจอยู่เสมอ

ด้านสำนักพระราชวังสรุปยอดรวมประชาชน ที่เดินทางมาถวายสักการะพระบรมศพ เมื่อวันที่ 3 ก.พ. มีจำนวนทั้งสิ้น 35,075 คน รวม 93 วัน มี 4,028,374 คน และมีประชาชนถวายเงินเพื่อร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นเงิน 2,883,720 บาท รวม 93 วัน เป็นเงินทั้งสิ้น 339,683,797.34 บาท

ในส่วนความคืบหน้าการจัดสร้างพระเมรุมาศ ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ว่า กลุ่มประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร รายงานการจัดสร้างประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ล่าสุดปั้นหุ่นต้นแบบม้า 1 คู่ สำหรับประดับบริเวณบันไดทางด้านตะวันตกของพระเมรุมาศเสร็จแล้ว ขณะเดียวกันก็จัดทำประติมากรรมต้นแบบเทวดา สัตว์หิมพานต์ควบคู่กันไป ซึ่งเมื่อเสร็จแล้ว จะทยอยขนย้ายประติมากรรมต้นแบบมายังโรงหล่อที่ท้องสนามหลวง เพื่อทำแม่พิมพ์ หล่อ และลงสีในขั้นตอนต่อไป โดยตั้งเป้าตามแผนงานให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ ขณะที่การสร้างพระโกศจันทน์ อยู่ระหว่างการขยายแบบ ขยายลายลงบนไม้ และจะนำมาประกอบเข้าด้วยกันที่โรงพระโกศจันทน์ ที่สนามหลวงเช่นกัน

นายอนันต์กล่าวอีกว่า ตนเตรียมรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานก่อสร้างพระเมรุมาศ และอาคารประกอบ ตลอดจนการบูรณะราชรถ และพระยานมาศ ต่อ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งจะเดินทางมาตรวจความคืบหน้าในส่วนของกรมศิลปากรในวันที่ 9 ก.พ.นี้ ซึ่งขณะนี้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนอย่างดี

สำหรับที่ท้องสนามหลวง ที่ศูนย์ประสานงานอาสาสมัคร Volunteer For Dad เปิดอบรมอาสาสมัครดูแลต้นมะขามในสนามหลวง ซึ่งเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมามีอาสาสมัครกว่า 30 คน เข้าร่วมฟังการบรรยายเกี่ยวกับดิน ระบบราก และการตัดแต่งกิ่งไม้ ก่อนที่ในช่วงบ่ายลงพื้นที่ร่วมกันตรวจสอบดูต้นมะขามแต่ละต้นว่ามีลักษณะอย่างไร รวมถึงรื้ออิฐที่ปูไว้ออกมาดูลักษณะดิน หากพบว่าดินแข็งก็จะมีการพรวนดิน หรือในบางต้นจะมีการตัดแต่งกิ่งให้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ต้นมะขามที่มีอายุกว่า 100 ปี

นางอภิวรรณ เนียมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในการดูแลต้นมะขามทั้งหมดในพื้นที่สนามหลวง เจ้าหน้าที่ได้ทาบกิ่งและปักชำกิ่งต้นมะขามใหม่ จำนวน 500 กิ่ง ส่วนหนึ่งก็จะนำมาทาบกิ่งไว้บริเวณต้นเดิม และอีกส่วนหนึ่งก็จะนำไปทาบกิ่งต้นใหม่ที่สวนสาธารณะจตุจักร เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ไว้ นอกจากนี้ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เข้ามาตัดยอดต้นมะขามบริเวณท้องสนามหลวง เพื่อนำไปเสียบตอต้นใหม่ ที่โครงการฯสวนจิตรลดา จำนวน 1,000 กิ่ง เพื่อขยายพันธุ์ และอนุรักษ์ต้นมะขามดั้งเดิม

...

นางอภิวรรณกล่าวอีกว่า กรมศิลปากรได้ประสานกับสวนนงนุช จ.ชลบุรี มาช่วยดูแลเคลื่อนย้ายต้นมะขามออกจากพื้นที่ คาดว่าในช่วงของกลางเดือน ก.พ.นี้ จะเริ่มขุดล้อมเพื่อหมักรากเอาไว้ ประมาณ 2 เดือน เพื่อให้ต้นมะขามได้รู้สึกตัวก่อนที่จะเคลื่อนย้ายออกไป ถ้าหากไม่มีการขุดล้อมเพื่อหมักรากเอาไว้ เมื่อมีการเคลื่อนย้ายก็อาจจะทำให้ต้นมะขามเสียหายและตายได้ ซึ่งทาง กทม. จะเป็นผู้ดูแลทุกขั้นตอนตั้งแต่การเคลื่อนย้ายจนถึงการนำกลับมาปลูกใหม่หลังเสร็จพระราชพิธีถวาย พระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งต้นมะขามทุกต้นจะมีเลขประจำตัว เพื่อง่ายต่อการนำกลับมาปลูกไว้ที่จุดเดิม

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 08.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ที่วัดเน็นบุตสึชู จังหวัดเฮียวโกะ ประเทศญี่ปุ่น มีพิธีบำเพ็ญกุศลสตมวาร ครบ 100 วัน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งคณะผู้แทนไทย นำโดย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นายบรรสาน บุนนาค เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว นายดุสิต เมนะพันธุ์ กงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา พร้อมข้าราชการกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงการต่างประเทศจากกรุงโตเกียวและนครโอซาการ่วมคณะ ขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นมีพระอาจารย์คิวเซ อินชินโจ ผู้ก่อตั้งวัดเน็นบุตสึชู พระชินไก โคริ เจ้าอาวาส นายคาสุฮิกิ ฮิชิมุระ ประธานบอร์ดบริหารวัด ผู้แทนระดับสูงของประเทศญี่ปุ่น พระสงฆ์ ภิกษุณี และพุทธศาสนิกชนญี่ปุ่นกว่า 3,000 คน ร่วมพิธี

ในโอกาสนี้ พล.อ.ธนะศักดิ์ได้เปิดงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และนิทรรศการความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น ในวาระครบรอบ 130 ปี ณ บริเวณด้านหน้าวิหารศากยมุนี พร้อมเปิดเผยว่า ราชวงศ์ไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นยาวนาน เห็นได้ชัดจากการที่สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินี ทรงแสดงความอาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการทรงฉลองพระองค์ไว้ทุกข์เป็นเวลา 3 วัน ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในการแสดงความอาลัยแด่ผู้มิได้เป็นสมาชิกราชวงศ์ญี่ปุ่น และในต้นเดือน มี.ค.นี้ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะแห่งญี่ปุ่น จะเสด็จฯเยือนประเทศ ไทยเพื่อถวายราชสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

...