นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า จากการที่ตนและคณะผู้บริหาร กทม. เดินทางเยือนกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตามคำเชิญของ น.ส. ยูริโกะ โคอิเกะ ผู้ว่าราชการกรุงโตเกียว ได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือ ตามกรอบแถลงการณ์ร่วมระหว่าง กทม. และกรุงโตเกียว ซึ่งให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาประชากรลดลง การป้องกันและแก้ปัญหาภัยพิบัติ ซึ่งมีหลายเรื่องที่เราได้เรียนรู้ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาน้ำท่วม กรุงโตเกียวมีอุโมงค์ขนาดใหญ่สำหรับใช้ขังน้ำ แต่ไม่ได้ส่งน้ำ แม้บริบทจะไม่ตรงกับปัญหาในกรุงเทพฯ แต่ก็สามารถนำแนวทางบางอย่างมาประยุกต์ใช้งานได้ ขณะเดียวกันได้เยี่ยมชมศูนย์บัญชาการภัยพิบัติ ที่มีการเตรียมความพร้อมทุกด้าน กทม.ก็จะนำมาเป็นต้นแบบของการดำเนินงานในอนาคต

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ที่น่าสนใจอีกเรื่อง คือ การส่งเสริมการท่องเที่ยว พบว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวชาวยุโรป เข้ามาเที่ยวที่โตเกียวจำนวนมากกว่านักท่องเที่ยวชาวจีน เราจึงต้องมองหาแนวทางในการดึงดูดชาวต่างชาติกลุ่มอื่นๆเข้ามาเที่ยวกรุงเทพฯบ้าง นอกจากนี้ กรุงโตเกียวมีการส่งเสริมการประกอบธุรกิจช่วงกลางคืน ใช้แสง สี เสียงเข้ามาช่วยสร้างความสนใจให้กับพื้นที่ ชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวและใช้เวลาในช่วงกลางคืนยาวนานมากขึ้น มีการฉายภาพบนตึกต่างๆ รวมทั้งเน้นเรื่องการเดิน ทำสวนสาธารณะ ให้คนเข้าไปใช้พื้นที่จำนวนมาก ขณะที่การจัดการภัยพิบัติ ประเทศญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้อยู่แล้ว ได้ให้ข้อแนะนำมาตรฐานการออกแบบการก่อสร้างอาคาร การติดตั้งเครื่องมือวัดแรงสั่นสะเทือน กรณีเกิดแผ่นดินไหว โดยตนได้มอบหมายให้นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ประสานงานกับทีมผู้เชี่ยวชาญศึกษากระบวนการติดตั้งเครื่องมือวัดแรงสั่นสะเทือน ตามอาคารในกรุงเทพฯเพิ่มเติม เพื่อเก็บข้อมูล และประเมินสถานการณ์ โดยจะผลักดันเข้าที่ประชุมสภา กทม. ในปี 2569.

...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่