ผมมีหนังสือเหลาจื๊อทั้งเก่าใหม่ หลายเล่ม ทุกเล่มมีเรื่องเล่าเหลาจื๊อ
เพิ่งมารู้ รู้จักเหลาจื๊อ มากกว่า จากการอ่านเล่มบางๆ คัมภีร์เหลาจื๊อ ปรัชญาการบริหารการปกครองตามวิถีแห่งเต๋า (ล.เสถียรสุต สำนักพิมพ์ ก.ไก่ พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ.2533)
ล.เสถียรสุต เขียนไว้ใน “บทนำ” ว่า เหลาจื๊อ แซ่ลี้ (หลี) ชื่อ ยื้อ หรือเยี้ยม คำว่าจื๊อเป็นคำยกย่อง ทำนองว่า “ท่านปราชญ์” คำว่า เหลา แปลว่า แก่
ประวัติท่านเชื่อถือได้ ประเด็นขงจื๊อ เคยไปศึกษาจริยธรรมกับท่าน ดร.ฮูเซ (ปราชญ์ปรัชญาและโบราณคดียุคใหม่ถึงแก่กรรม พ.ศ.2516) สันนิษฐานว่า เหลาจื๊อแก่กว่าขงจื๊อประมาณ 20 ปี
เป็นชาวนครช้อ แคว้นทางภาคใต้แม่น้ำแยงซี ซึ่งช่วงเวลานั้น ไม่ได้ขึ้นกับเมืองจีน เกิดสมัยก่อน พ.ศ.30
ขณะที่สองปราชญ์พบกัน เหลาจื๊อ เป็นผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติ ราชวงศ์จิว ต่อมาลาออกเพราะเห็นว่าราชวงศ์จิวคงอยู่ต่อไปได้ไม่นาน ซึ่งก็เป็นความจริง
หลักฐานสุดท้ายเหลาจื๊อเดินทางไปภาคตะวันตกของจีน ซึ่งเป็นทางที่จะไปประเทศต่างๆรวมทั้งอินเดีย
ช่วงเวลาที่แวะพักที่ด่าน...นายด่านที่เคารพนับถือท่าน ได้ขอให้ท่านเขียนอะไรก็ได้ไว้ ท่านก็เลยเขียนหนังสือไว้ เป็นอักษรจีน ราวๆห้าพันคำ
ปลายราชวงศ์ฮั่น (พ.ศ.700) มีผู้ตั้งศาสนาเต๋าขึ้น ยกท่านเป็นประมุข ถือหนังสือเรื่องนี้เป็นคัมภีร์
เหตุที่เรียกศาสนาเต๋า ก็เพราะปรัชญาของท่าน คือเต๋า (สัจธรรม) เป็นหลักธรรมสูงสุด ทุกคนพึงบรรลุในหลักธรรมนี้ ในสมัยสามก๊ก (ต่อจากปลายราชวงศ์ฮั่น) เตียมเหล็ง ตั้งตัวเป็นปฐมาจารย์แห่งเต๋า
และก็สืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบันเป็นองค์ที่ 62
หนังสือเล่มนี้ ล.เสถียรสุตบอกว่า เดิมไม่ได้แบ่งเป็นบทตอน ต่อมามีนักค้นคว้าจัดแบ่งให้ มีแตกต่างกันหลายอย่าง แต่ถือกันว่า แบ่งออกเป็น 81 บท ถูกต้องที่สุด
...
สมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ.1161) เนื่องด้วยเป็นราชวงศ์แซ่ลี้ เหลาจื๊อจึงถูกยกย่องมาก
เต๋าก็ถูกยกเป็นศาสนาประจำชาติ
กษัตริย์เฮียนจง (พ.ศ.1256) รับสั่งให้รวบรวมบทความที่พูดถึงเต๋า (สัจธรรม) เป็นเล่มต้น และพูดถึงเต็ก (คุณธรรม) เป็นเล่มปลาย และให้ชื่อใหม่เป็น เต๋าเต็กเก็ง ซึ่งแปลว่าสัจธรรมคุณธรรมสูตร
เพื่อให้มีฐานะเท่าเทียมกับพุทธศาสนา ซึ่งรุ่งเรืองมากในยุคนั้น
ความจริงระยะแรกที่พุทธศาสนาเข้าสู่จีน การแปลพระสูตรได้อาศัยลีลาของคัมภีร์เต๋า เพื่อจูงใจผู้อ่าน แต่ต่อมา เต๋าได้เอาหลักธรรมพุทธศาสนาไปใช้เกือบทั้งหมด เพราะลำพังหลักธรรมของเต๋าไม่พอที่จะเป็นศาสนา
สมัยราชวงศ์เหม็ง (พ.ศ.191) พระภิกษุกับนักบวชเต๋า เกือบจะแยกกันไม่ออกทั้งหลักธรรมและพิธี
ผิดกันแต่นักบวชเต๋าไว้ผมยาวเท่านั้น
เนื้อหาของเต๋า มักกล่าวถึงการเก็บภาษีของประมุขเจ้านคร ราชวงศ์จิวเป็นส่วนกลางก็ไม่มีอำนาจอะไรนัก ปลายราชวงศ์เกือบจะหมดอำนาจเลย นครต่างๆตีตัวเป็นเอกราช รบราฆ่าฟันกัน แล้วก็เก็บภาษีหนักไปทำสงคราม
มีผู้สันนิษฐาน เหลาจื๊อคงเหนื่อยหน่ายชีวิตในนครช้อเต็มที เดิมเป็นพราหมณ์มาจากอินเดีย จึงเดินทางกลับและก็กลับไปตามทางที่มาคืออินเดีย
ที่จริง ผมก็ใช้เนื้อหาในคัมภีร์เหลาจื๊อ เล่มนี้ไปแล้วหลายครั้ง... เปิดอ่านครั้งนี้ เจอลายมือพี่ถวิล มนัสน้อม บก. ก.ไก่ เขียน “สำหรับรุ่งมณีครับ” รุ่งมณีตอนนั้น เขียนคอลัมน์มีแฟนตามเกรียวอยู่ใน นสพ.ผู้จัดการ
นึกได้ รุ่งมณี เมฆโสภณ ฝากหนังสือดีมาให้ผม...ไม่ขาด...ก็ขอแสดงความปลื้มระดับกำลังสอง ปีนี้รุ่งมณีรับรางวัลศรีบูรพา ว่ากันแล้ว ฝีมือเธอคนนี้ ควรได้นานแล้ว ก่อนหน้าผมด้วยซ้ำ.
กิเลน ประลองเชิง