เจินกวนศก 4 (ค.ศ.630) ถางไท่จงฮ่องเต้ ตรัสถามเซียวหวี่ว่า จักรพรรดิสุยเหวินตี้ ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์สุย (ค.ศ.581-604) เป็นจักรพรรดิประเภทใด?
(เจินกวนเจิ้งเย่า ยอดกุศโลบายจีน (อู๋จิง เขียน อธิคม สวัสดิญาณ แปล เต๋าประยุกต์ พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ.2552)
เซียวหวี่กราบทูลว่า จักรพรรดิสุยเหวินตี้ ทรงรักษาขนบจารีต บริหารราชการแผ่นดินด้วยวิริยะอุตสาหะ ทรงออกว่าราชการหามรุ่งหามค่ำ ขุนนางตั้งแต่ระดับห้าต้องอยู่ให้คำปรึกษา แม้องครักษ์มหาดเล็ก ต้องยืนกินข้าว
แม้พระองค์มิใช่จักรพรรดิที่ทรงพระปรีชาญาณและพระเมตตา แต่ก็นับได้ว่าทรงเป็นจักรพรรดิที่ทุ่มเทเสียสละเพื่อบ้านเมืองอย่างแท้จริง
ถางไท่จง ตรัสสวน “ท่านรู้แค่ด้านเดียว” แล้วทรงอธิบาย จักรพรรดิสุยเหวินตี้ทรงหมกมุ่นในเรื่องรายละเอียดหยุมหยิมมากไป ไม่เข้าใจเหตุผลเรื่องราวต่างๆอย่างถ่องแท้ จึงเพลี่ยงพล้ำบ่อยๆ
ความละเอียดจับจรด พระองค์กลายเป็นคนขี้ระแวง จากการยึดครองแผ่นดินโดยไม่เป็นธรรม จึงวิตกว่า เหล่าเสนาอำมาตย์ไม่จงรักภักดี จึงมักตัดสินพระทัยแก้ปัญหาโดยลำพัง ไม่กล้าช่วงใช้ขุนนางทั้งฝ่ายบุ๋นฝ่ายบู๊
พระองค์จึงทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกาย จนสารรูปซูบผอมยิ่ง แก้ปัญหาต่างๆไม่ได้อย่างสมเหตุผล
เหล่าเสนาอำมาตย์ที่รู้ตื้นลึกหนาบาง ไม่กล้าถวายความคิดเห็นตรงไปตรงมา ขุนนางใต้ระดับอัครมหาเสนาบดี เอาแต่เออออคล้อยตาม ไม่กล้าทูลเสนอความเห็นที่แตกต่าง
ถางไท่จง ทรงวิพากษ์จักรพรรดิ ราชวงศ์ก่อนแผ่นดินพระองค์แล้วตรัสต่อ
ข้ามีทัศนคติแตกต่าง แผ่นดินออกกว้างใหญ่ไพศาล ประชากรก็หนาแน่น ราชกิจบ้านเมืองมีพันเงื่อนหมื่นปม ต้องบริหารและแก้ปัญหาอย่างพลิกแพลงตามสภาพที่เป็นจริง
...
ต้องให้ขุนนางทุกระดับได้ปรึกษาหารือกัน มหาเสนาบดีค่อยสรุปและวางแผนให้เป็นเอกภาพ จนเห็นว่าเหมาะสมแล้ว จึงทูลเสนอองค์จักรพรรดิทรงมีพระราชโองการ
“เจ้าว่า ราชกิจงานเมืองร้อยแปดในแต่ละวัน จะให้เป็นหน้าที่ขบคิดตัดสินทุกประการขององค์จักรพรรดิผู้เดียวนั้น...ควรหรือ?”
หากวันหนึ่งตัดสินใจสิบเรื่อง แต่ตัดสินผิดพลาดห้าเรื่อง เรื่องที่ตัดสินใจถูกต้องย่อมดีแน่ แต่เรื่องที่ตัดสินผิดพลาดล่ะ จะทำอย่างไร? จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี ความผิดพลาดยิ่งสะสม แล้วจะไม่สิ้นชาติได้อย่างไร?
จึงมิสู้เลือกเลื่อนช่วงใช้คนดีมีฝีมือ แบ่งงานให้รับผิดชอบตามลำดับชั้น
ส่วนประมุขอยู่ในตำแหน่งสูงสุด มีหน้าที่ขบคิดวางแผนการใหญ่ที่ลึกซึ้งกว้างไกล รักษากฎหมายเคร่งครัด
“เมื่อเป็นเช่นนี้ ยังจะมีผู้ใดกล้าก่อกรรมทำเข็ญ ทุจริตคิดมิชอบอีกเล่า”
ตรัสโต้ตอบขุนนาง จนตกผลึกความคิดชัด ถางไท่จงฮ่องเต้ ทรงมีราชโองการ หากพบว่าราชโองการของราชสำนักที่ถ่ายทอดลงไป มีสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม จะต้องทำฎีกาเสนอเหตุผลถวายขึ้นมา
ห้ามประจบประแจงปฏิบัติตามคำสั่ง อย่างหลับหูหลับตาเด็ดขาด
ผมพอจำได้เคยเขียนเรื่องนี้ไปแล้วหลายครั้ง หลายรัฐบาล ทุกครั้งที่เขียนก็ไม่คาดหมาย ท่านผู้นำท่านใดจะอ่าน แต่ละท่านมีลีลาทำงานแบบผู้นำจริงๆ จะมาสนใจอะไรกับเสียงปากหอยปากปู
แต่กับผู้นำท่านใหม่...ผมอยากให้ท่านได้อ่าน...ในความชื่นชมสมใจ เราได้ผู้นำเก่ง ขยัน รู้เท่ารู้ทันเหลี่ยมเล่ห์การบ้านการเมือง แต่ก็แอบสงสาร...ท่านเหมารับทุกงานมากจนเกินไป
ราชวงศ์สุย จักรพรรดิเหมางานเสมียน...อยู่ได้ไม่กี่ปี แต่จักรพรรดิถางไท่จง ท่านรู้จักแบ่งงาน ไม่เพียงอยู่อย่างสง่างามจนสิ้นรัชกาล ยังแผ่บารมีเสริมให้ราชวงศ์ท่าน เป็นยุคทองอยู่ยืนยาวได้กว่าสามร้อยปี.
กิเลน ประลองเชิง