เรื่องที่ 51 ในหนังสือ เรื่องง่ายๆความหมายดีๆ (สุริยเทพ ไชยมงคล สำนักพิมพ์อินสไปร์ พ.ศ.2553) ชื่อ “ความจริงที่พูดไม่ครบ” ออกตัวไว้ก่อนเริ่มต้นว่า เรื่องนี้เป็นนิทานของท่านศาสดา...ครับ

วันนั้น ท่านศาสดากับศิษย์และผู้มีศรัทธาติดตามสามคน เดินทางไปเผยแพร่ศาสนา ที่เมืองแห่งหนึ่ง

หลังการบรรยายธรรมอันยืดยาว ผู้ศรัทธาคนหนึ่ง บอกกับท่านศาสดาว่า

“ท่านอาจารย์ ท่านเสียเวลาเปล่าๆ ท่านน่าจะรู้นี่นา เมืองนี้แย่เต็มที มีแต่คนโง่และดื้อ ไม่มีใครยอมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าท่านจะพยายามเทศน์สักแค่ไหน ก็ไม่มีทางแก้ไขจิตใจที่หยาบกระด้างของพวกเขาได้?”

“เจ้าพูดถูก” ด้วยท่วงท่าสงบนิ่งแน่แน่ว ท่านศาสดาตอบ

ผ่านไปอีกครู่ใหญ่ ผู้ศรัทธาติดตามอีกคน ก็บอกท่านว่า

“ท่านอาจารย์ครับ โชคดีจริงๆ ที่ท่านได้มาถึงเมืองที่มีแต่สิ่งดีๆ ชาวเมืองนี้ทุกคนสุภาพอ่อนโยน นอกจากเปิดใจรับ ยังชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ข้ามองแววตา เห็นแต่คนปรารถนาจะฟังคำสอนของท่านต่อไปอีก”

ด้วยท่าสงบนิ่งเช่นเดิม ท่านศาสดาก็ตอบเหมือนเดิม “เจ้าก็พูดถูก”

จบคำตอบที่สอง ผู้ติดตามอีกคน ที่ยืนอยู่ใกล้ที่สุด ก็อดทนต่อไปไม่ไหว เขาหลุดปากออกมาเสียงดังๆว่า

“ท่านอาจารย์ครับ ตกลงท่านสอนคนแบบไหน...ท่านตอบคนแรก ว่าเขาพูดถูก ถึงคนที่สองที่มองต่างมุมกันแบบสุดขั้ว ท่านอาจารย์ ก็เห็นด้วยกับเขาอีก ตกลงท่านอาจารย์ เห็นด้วยกับความคิดของคนไหนกันแน่”

คำถามที่สาม ที่ฟังชัดๆ จับผิดท่านศาสดา คราวนี้ท่านศาสดาเปลี่ยนจากท่าสงบนิ่ง เป็นโยกกายแล้วหัวเราะออกมาเบาๆ

“เจ้าคนที่สาม เจ้าก็พูดของเจ้าถูก”

...

ผู้ติดตามศรัทธาทั้งสาม แม้จะยังฉงน ก็ตั้งใจฟังคำท่านศาสดาอธิบาย

“เจ้าทั้งสามจงรู้เถิด ทุกคนล้วนแต่ใช้สิ่งที่เขาคิดมาเป็นกรอบในการมองโลก แล้วทำไม ข้าจะต้องไปโต้แย้งกับเขาด้วยเล่า เพราะพวกเขาทุกคน ล้วนมีเหตุผล”

คนหนึ่งเห็นด้านมืด อีกคนเห็นด้านสว่าง เจ้าคนที่สาม เห็นว่าสองคนแรกพูดผิดหรือ?

“ชาวเมืองนี้ ก็เหมือนชาวเมืองอื่นๆทุกๆเมืองที่เราผ่านมา มีทั้งดีและคนไม่ดี เจ้าสองคนไม่มีใครคนไหนพูดผิด เพียงแต่พูดไม่ครบ”

เรื่องง่ายๆเรื่องนี้ มีคำอธิบายความหมายดีๆต่อ...

เมื่อคนเราต้องเจอกับเรื่องราวที่ซับซ้อน การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง จึงเป็นเรื่องธรรมดา

คนส่วนใหญ่ในโลกชอบแสดงความคิดเห็นต่อปัญหาต่างๆ เพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองฉลาดกว่า พวกเขามีความสุขที่จะแสดงความเห็นโดยไม่เหน็ดเหนื่อย

แต่น่าแปลก สุดท้าย คนพวกนี้มักได้ผลที่ตรงกันข้าม เพราะยิ่งพยายามแสดงความเห็นออกมามากเท่าไร ยิ่งถูกมองว่าฉลาดน้อยลงเท่านั้น

คนธรรมดาใช้เงื่อนไขตัวเองมองปัญหา ทำให้มองเห็นความจริงเพียงด้านเดียว ละเลยแง่มุมของเหตุการณ์ต่างๆ ทำให้ภาพที่เห็นไม่ถูกต้องครบด้านตามความเป็นจริง

ดังคำกล่าวโบราณที่ว่า

“หากอยากเห็นป่าไม้ให้ขึ้นไปยืนบนยอดเขา เพราะถ้ายังยืนอยู่ในป่า ก็จะเห็นแต่ต้นไม้ทีละต้น”

ผมตั้งใจลอกเรื่องเก่า มาเล่าอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ ขอเปลี่ยนคำออกตัวก่อนเริ่มต้นเล่าว่า เรื่องนี้เป็นนิทานของตำรวจไทย แล้วก็ชวนให้มโนไปถึงกับถ้อยทำนองของเพลงมาร์ช “เกียรติตำรวจของไทย เกียรติวินัยกล้าหาญมั่นคง...”.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม