แค่เริ่มอ่านคำ “อาย” ในหนังสือ” ศัพท์สรรพรรณนา” (สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ พ.ศ.2565) คนที่ทำมาหากินกับการเขียนหนังสือมาค่อนชีวิตอย่างผม...ชักไม่แน่ใจว่า “รู้จักคำว่าอาย” ดีพอ

อาจารย์ปรัชญา ปานเกตุ เขียนวรรคแรกว่า “อาย” ภาษาไทยโบราณ มีความหมายว่า “ไอ”

แล้วยกคำเขียนแบบเดิมๆในมหาชาติคำหลวง กัณฑ์ทานกัณฑ์ ตอนที่ว่า “องงเอาอายอัคนี เพื่อผุดศรีใสสาว บทหนีหนาวหน้าตรชัก ลักลงทึกทกไถง...”

จะงง...ไปทำไมเล่า...อาจารย์ปรัชญาอธิบาย นี่คือตอนที่พระนางมัทรี พรรณนาทุกข์ของหญิงทั้งหลายที่ต้องทำประการต่างๆ เพื่อให้ตนสวยงามเป็นที่พึงใจชาย หนึ่งในนั้นคือ

ทนผิงไฟให้ผิวเปล่งปลั่ง แม้ลงอาบน้ำในหน้าหนาว

รู้ว่าอายอัคคี คือไอความร้อนจากไฟแล้ว ก็ควรรู้จัก อายฝุ่น จากอนิรุทธคำฉันท์ ตอนพระอนิรุทธลาพระสนม นางสนมคร่ำครวญว่า พระอนิรุทธเสด็จไปในป่า จะต้องละอองฝุ่นและละอองอาย

อ้า พระเสด็จพนจำรัส พรรณแสงแสงจำรัสองค์ ชอบเศร้าพระศรีนฤบดีผง ธุลีฝุ่นละอองอาย

อักขราภิธานศรับท์ (หมอบรัดเลย์ พิมพ์) เก็บคำว่าอาย ตามความหมายนี้ไว้หลายคำ

อายแดด อายแสงสุริยา...คือพิศม์ร้อนที่ฟุ้งพัดเข้ามาแต่แสงแดด เมื่อเวลาแดดกล้าร้อนนักนั้น

อายดิน อายปัตพี คือพิศม์ที่ร้อนผ่าวๆขึ้นจากดิน เหมือนเวลาฝนตกใหม่ๆ แลมีแดดกล้าร้อนนัก มีพิศม์เปนขึ้นมานั้น

อายตัว คือควันที่พลุ่งออกมาจากกาย เหมือนเมื่อระดูหนาว คนลงอาบน้ำจุ่มตัวลงแล้ว ขึ้นมาจากน้ำ มีควันพลุ่งออกจากตัวนั้น

รวมความว่า “อาย” หมายถึงสิ่งที่ลอยเจืออยู่กับอากาศ มองไม่เห็น แต่มักมีกลิ่น หรือร้อนเย็นให้รู้สึกได้

...

ดังนี้ จึงมักใช้ร่วมกับคำว่า “กลิ่น” เป็น “กลิ่นอาย” เช่น กาพย์เห่เรือ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ตอนหนึ่ง...เต็งแต้วแก้วกาหลง บานบุษบงส่งกลิ่นอาย หอมอยู่ไม่รู้หาย คล้ายกลิ่นผ้าเจ้าตราตรู

ถ้าหากยังหอมไม่พอ อีกสักคำกลอน จากบทละครเรื่องมณีพิชัย “ฤาจะเป็นยอพระกลิ่นน้องรัก ประหลาดนักกลิ่นอายหายไปไหน...”

อ่านกากีคำฉันท์ ที่ใช้คำ “อายอบ” หรือ “อบอาย” ก็ยิ่งหอมฟุ้งจรุงใจขึ้นไปอีก...โสรจสรงองค์รูจี ด้วยวารีรสมาลา ขจรกลิ่นสุคนธา อันอายอบตรลบใน

นิยามหนึ่ง หมายถึงรู้สึกขวยเขิน หรือวางหน้าไม่สนิท ในบทละครนอกเรื่องสังข์ทอง...ดูพลางทำสะเทินอาย ชักชายผ้าห่มก้มหน้า...หรือในบทละคร เรื่องอิเหนา รัชกาลที่ 2 ...ขวยเขินสะเทิ้นอายอรไท จำใจจึงลุกขึ้นทันที...

ยกสารพันจากวรรณคดีแล้ว อาจารย์ปรัชญา ก็เลี้ยวเข้าหาพุทธศาสนา...โลกบาลธรรมหรือธรรมคุ้มครองโลกมีสองอย่าง คือ “หิริ” กับ “โอตตัปปะ”

หิริ คือความละอายใจต่อการทำชั่ว โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อความชั่วและผลของความชั่ว

หลักธรรมนี้ช่วยปกครองควบคุมใจมนุษย์ให้อยู่กันด้วยความเรียบร้อยสงบสุข กล่าวกันว่าผู้ไม่ละอายกับความชั่วมักมีสีหน้าไม่สลด สิ่งที่ควรอายแต่ก็ไม่อาย คนที่ไม่มีความรู้สึกอาย ในสิ่งที่ควรอาย เรียกว่า “หน้าไม่อาย”

“ถ้าไม่อายอย่างมากล่ะคุณ...” เสียงหนึ่งแทรกขึ้นมา “หน้าด้าน” “ถ้าทั้งหนาและหน้าด้านล่ะ” เขายังถามต่อ “หน้าด้านหน้าทน”

“ก็แล้ว ถ้าทั้งหนา ทั้งด้าน ทั้งทนล่ะ” เขาเรียกว่า “ไร้ยางอาย”

ความรู้เรื่องไอ เรื่องอาย...ของอาจารย์ปรัชญา...วันนี้มาแรง...ครับ...ผมไม่กล้าเลี้ยวเข้าหาการเมือง เพราะเมื่ออ่านก็รู้กันทันที ไม่ต้องถามเลยพรรคใด?

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม