นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. ได้ทำหนังสือส่งถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อขอความเห็นรูปแบบการลงทุนโครงการรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) ที่จะครบกำหนดสัญญาจ้างเอกชนเดินรถเดือน ส.ค.2566 ซึ่ง กทม.มีโครงการจะดำเนินการต่อและเปลี่ยนจากรถยนต์ NGV เป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถ EV โดยจ้างเอกชนเดินรถ จะต้องเข้าสู่ขบวนการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน พ.ศ.2562 หรือไม่ ทั้งนี้จากการเปิดรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนหรือมาร์เกตซาวน์ดิ้ง ร่วมลงทุนโครงการ พบว่า เสียงส่วนใหญ่สนใจที่จะรับจ้างเดินรถมากกว่าลงทุนเองทั้งหมด เพราะไม่คุ้มทุน ซึ่งทางฝ่ายกฎหมาย กทม.ให้ความเห็นว่า กรณี กทม.ลงทุนจัดซื้อรถและจ้างเอกชนเดินรถอาจจะเข้าลักษณะคล้ายกับการจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง รูปแบบ PPP Gross Cost โดยรัฐลงทุนโครงการและจ้างเอกชนเดินรถ อย่างไรก็ตาม หาก สคร.ให้ความเห็นว่าไม่เข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน กทม.จะดำเนินการยกร่าง TOR เพื่อจัดซื้อจัดจ้างต่อไป
นายวิศณุกล่าวว่า สำหรับขบวนการจัดซื้อจัดจ้างรถ จากการสอบถามผู้ประกอบการรถ EV ต้องใช้เวลาในการผลิตอย่างน้อย 8 เดือน เนื่องจากเป็นรถยนต์ไฟฟ้า และมีแนวคิดจะทำประตูทางขึ้นลงสองฝั่ง สามารถจอดรับส่งที่ป้ายรถโดยสารธรรมดาได้ด้วย นอกจากนี้ รถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่จะออกแบบเป็นรถชานต่ำ ขณะที่สถานีรถปัจจุบันออกแบบโครงสร้างชานชาลายกพื้นสูง จึงต้องมีการปรับปรุงสถานีเพื่อให้ผู้โดยสารขึ้นลงรถได้สะดวก ทั้งนี้ กทม.ตั้งเป้าประมาณ 1 ต.ค.2567 สามารถให้บริการรถรุ่นใหม่ได้ โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านหลังจากหมดสัญญาเดือน ส.ค.นี้ จะมอบให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ KT รับผิดชอบเดินรถรุ่นเก่าไปก่อน เพื่อไม่ให้การบริการขาดและกระทบต่อการเดินทางของประชาชน.
...