นายกฯส่งสารเนื่องในวันแรงงาน แห่งชาติ ปี 2566 ขอบคุณแรงงาน ทุ่มเทมุ่งมั่นพัฒนาประเทศ ด้านสภาองค์การลูกจ้างฯยื่น 7 ข้อเรียกร้องต่อ “สุชาติ ชมกลิ่น” พร้อมจวกพวกที่เคยหาเสียงปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 425 บาท แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาล กลับตระบัดสัตย์ ยันจะกลับมายื่นข้อเสนออีกครั้งต่อรัฐบาลใหม่ ขณะที่กลุ่ม สสรท.-สรส.แยกจัดงานเหมือนเดิม บุกทำเนียบรัฐบาลยื่นข้อเรียกร้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 712 บาทเท่ากันทั้งประเทศ พร้อมให้คุมราคาสินค้า ลดราคาเชื้อเพลิงรวมถึงค่าไฟ

เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ วันที่ 1 พ.ค.ประจำปี 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวปราศรัยเผยแพร่ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ว่า ขอส่งความระลึกถึงและความปรารถนาดีมายังผู้ใช้แรงงานทุกคน ถือเป็นบุคลากรที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศที่ต้องได้รับการดูแลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมทั้งพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ เพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน และสร้างความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที ในนามของรัฐบาลขอชื่นชมทุกภาคส่วนและขอบคุณผู้ใช้แรงงานทุกคน ที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจ มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของตน จนทำให้ประเทศของเราเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ สามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคงท่ามกลางวิกฤตการณ์สังคมโลก

สำหรับการจัดกิจกรรมเนื่องในวันแรงงาน ประจำปี 2566 ของกลุ่มแรงงานต่างๆนั้น ช่วงเช้า สภาองค์การลูกจ้างกับสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และกลุ่มแรงงานนอกระบบ นำโดยนายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมด้วยการจัดขบวนถือป้ายข้อเรียกร้องต่างๆ เคลื่อนจากบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนินนอก ไปยื่นขอเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งมีการตั้งเวทีจัดกิจกรรมที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพ มหานคร มีนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เป็นผู้รับมอบข้อเรียกร้องจำนวน 7 ข้อ โดยนายชินโชติ แสงสังข์ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2566 กล่าวว่า มีบางข้อเป็นข้อเรียกร้องเดิมที่ยื่นมานาน อาทิ ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งเรียกร้องตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน ให้กระทรวงแรงงานออกพระราชบัญญัติ หรือกฎกระทรวง ให้มีการตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง กรณีสถานประกอบการเลิกจ้าง ส่วนสิทธิตามระบบประกันสังคม เงินบำนาญชราภาพที่ให้สูงสุด 3,000 บาท ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ ขอให้ปรับเพิ่มเริ่มต้นที่ 5,000 บาท และให้คงสิทธิ 3 ประการให้กับผู้ประกันตนที่เกษียณ และเข้าสู่ประกันตนเองตามมาตรา 39 ให้รักษาพยาบาลตลอดชีวิต โดยไม่ปรับเข้าสู่ระบบบัตรทอง ได้เงินชดเชยทุพพลภาพ และค่าทำศพ

...

นายชินโชติกล่าวว่า รัฐบาลเป็นรัฐบาลรักษาการ ข้อเรียกร้องปี 66 จึงดำเนินการตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมา แต่ทันทีที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังวันที่ 14 พ.ค.เครือข่ายแรงงานจะมีการรีวิวและยื่นข้อเสนอเหล่านี้ต่อรัฐบาลใหม่โดยย้ำในข้อเรียกร้องให้รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาไอแอลโอโอฉบับที่ 87 และ 98 ส่วนเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งมีการปรับเพิ่มไปเมื่อเร็วๆนี้ และมีหลายพรรค การเมืองนำเรื่องค่าแรงขั้นต่ำมาหาเสียงอีกครั้ง ถือว่าเป็นประโยชน์ไม่คัดค้าน แต่จะเห็นว่าในการเลือกตั้งปี 62 ก็มีรัฐบาลที่เคยหาเสียงว่าจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 425 บาท แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาล กลับไม่เคยพูดถึงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาทเลย เป็นการไม่รักษาคำพูดหรือตระบัดสัตย์

ส่วนที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน และนายชาลี ลอยสูง และสหภาพแรงงานกลุ่มต่างๆ แยกเวทีจัดงานเหมือนทุกปี ได้ตั้งขบวนเคลื่อนไปยังทำเนียบรัฐบาล บริเวณประตู 5 ยื่นข้อเรียกร้อง อาทิ รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน ต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 712 บาทเท่ากันทั้งประเทศ กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างและมีการปรับค่าจ้างทุกปี ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการดำรงชีพของประชาชนในราคาที่เป็นธรรม ลดราคาน้ำมัน ก๊าซ พร้อมกับการปรับโครงสร้างการกำหนดราคาใหม่ เลิกเก็บเงินที่ซ้ำซ้อนทั้งระบบภาษี และเก็บเงินเข้ากองทุนต่างๆ ทำให้ประชาชนต้องจ่ายราคาน้ำมันต่อลิตรสูงมาก ลดค่าไฟฟ้าที่ปรับราคาสูงขึ้นอย่างมาก จากการบริหารจัดการด้านไฟฟ้าที่ผิดพลาด ทำให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองเกินความต้องการ การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชน ถึงแม้ไม่ผลิตไฟฟ้าแต่ประชาชนจะต้องจ่าย ที่เรียกว่า “ค่าพร้อมจ่าย” ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก และควรจัดวางระบบการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าใหม่