ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. ...ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ถือว่าเป็นกฎหมายปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนทุกคนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงตลอดชีวิต โดยยกระดับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ให้เป็น “กรมส่งเสริมการเรียนรู้” ซึ่งจะช่วยปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะกฎหมายกำหนดให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ประชาชน ในการจัดการศึกษาทุกระดับ ให้คนทุกกลุ่มที่อยู่นอกระบบสถาบันการศึกษา มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ระวังคือ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ไม่ควรทำงานด้วยระบบที่แข็งตัวแบบระบบราชการ เพราะการทำงาน กับเด็กเยาวชนด้อยโอกาสหรือแรงงานนอกระบบต้องใช้วิธีการที่หลากหลาย ดังนั้นระบบระเบียบที่เชื่องช้าควรลดทอนลง และปรับเปลี่ยนเป็นการทำงานเชิงรุก นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.นี้ยังไม่ได้กล่าวถึง “ครูนอกระบบ” ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่สุดของการทำงานกับกลุ่มเด็กเยาวชนด้อยโอกาส ทั้งนี้ หน่วยงานที่จะเข้ามามีบทบาทเสริมได้คือ กสศ. ซึ่งต้องมีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ในฐานะภาคี เพื่อขยายภาพความสำคัญของเด็กเยาวชนด้อยโอกาสและแรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม ทั้งเชื่อมโยงกับครูทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษาให้เข้ามาเป็นกำลังสำคัญ และร่วมกันผลักดันให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมทั้งระยะสั้นและระยะยาว มีการสร้างระบบธนาคารเครดิต เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ โดยสนับสนุนให้เด็กเยาวชนนอกระบบกว่า 9 แสนคน และแรงงานนอกระบบกว่า 20 ล้านคน ได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง ผ่าน พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ฉบับนี้.

...