ชื่อชั้นอันเป็นศักดิ์ศรี ของหนังสือ เกร็ดภาษา หนังสือไทย (เล่ม 2 งานค้นคว้าของอาจารย์ ส.พลายน้อย สำนักพิมพ์พิมพ์คำ พิมพ์ครั้งที่ 7 พ.ศ.2553) เปิดสารบัญ เริ่มที่หน้า 163 มีคำหลายคำ

ผมผ่านเลยคำ “ไข้เรือรบ” หลายครั้ง

ด้วยเหตุที่เคยถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารเรือ ประจำการ ร.ล.จันทร กว่าครึ่งปี เคยนอนเรือรบสุโขทัย (จอดในอู่บางกอกด๊อก) ก็หลายคืน ไม่เคยเป็น “ไข้เรือรบ” กับเขาเลย จึงสะดุดใจ ตั้งตาอ่าน

ส.พลายน้อย อธิบายคำว่าไข้ในสำนวนภาษาไทย ใช้ในรูปความต่างๆ ถ้าหมายถึงความระทมใจ ก็ใช้ว่าไข้ใจ หรือถ้าหมกมุ่นอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น สนใจอยู่กับเรื่องเรือรบ ก็เรียกว่าไข้เรือรบ

สำนวนนี้ มีปรากฏอยู่ในบทละครพูดเรื่อง มหาตมะ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตอนหนึ่ง “อ้ายพุก นี่มึงก็เป็นไข้เรือรบด้วยเหมือนกันฤา”

เพื่อให้เข้าใจเรื่องดีขึ้น ส.พลายน้อย เล่าถึงบทละครเรื่องมหาตมะ ในสมัยรัชกาลที่ 6 นั้น ได้มีการเรี่ยไรซื้อเรือรบพระร่วง เพราะเห็นว่าเมืองไทยเรายังขาดกำลังป้องกันประเทศทางทะเล

การเรี่ยไรครั้งนั้น คนที่เห็นด้วยก็มีมาก คนที่ไม่ชอบก็มี

ในสมัยนั้น ร.6 ทรงเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ แสดงความคิดเห็นได้โดยเสรีบรรดาผู้ไม่เห็นด้วยก็เขียนบทความคัดค้าน ลงในหน้าหนังสือพิมพ์

ผู้ที่เขียนคัดค้านจนเป็นที่รู้จักกันดี คือผู้ใช้นามแฝงว่า “ทุ่นดำ”

ส.พลายน้อย เข้าใจว่า จากเสียงคัดค้านเรื่องการเรี่ยไรซื้อเรือรบนี่เอง ร.6 ทรงนำมาผูกเป็นโครงเรื่อง มหาตมะ เมื่อแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง เนื้อเรื่องจึงเกี่ยวกับการเรี่ยไรซื้อเรือรบทั้งสิ้น

...

รวมถึงกล่าวถึงตัวละคร ที่เป็น “ทุ่นดำ” ด้วย

มีผู้วิจารณ์เรื่องมหาตมะว่า ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อจะด่าทุ่นดำ แต่ ส.พลายน้อย ไม่เห็นด้วยทีเดียวนัก เพราะรู้ว่า ทางจะกำจัดทุ่นดำนั้นง่ายมาก

ทุ่นดำนั้นไม่ใช่คนอื่นไกล ที่แท้เป็นข้าราชการ มียศบรรดาศักดิ์ถึงพระยา เป็นนายทหารเรือ คือพลเรือตรีพระยาวินัยสุนทร (วิม พลกุล)

ถ้าหากพระองค์จะทรงแค้นเคืองแล้ว ก็ไม่เป็นการยากที่จะจัดการ เมื่อมีเสนาบดีขอพระราชทานปลด พลเรือตรีพระยาวินัยสุนทรออกจากราชการ

นอกจากพระองค์ไม่ทรงเห็นชอบ แทนการปลดออกจากราชการ พระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งเป็นลายพระหัตถ์ลงไปว่า ให้นายพลตรี “ทุ่นดำ” ได้รับพระราชทานสายสะพายมงกุฎสยาม ในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล

ผมอ่านถึงตรงนี้ มีเรื่องให้คิดต่อ พลเรือตรีพระยาวินัย สุนทร (วิม พลกุล) คนนี้ เป็นบรรพบุรุษของพี่น้องนักหนังสือพิมพ์รุ่นตำนาน ประจำการ“ไทยรัฐ”สองคน

คนแรก อุทธรณ์ พลกุล นามปากกา“งาแซง” เขียนคอลัมน์การเมืองหน้า 3 ก็คอลัมน์เดียวกับที่ผมกำลังเขียนให้ท่านผู้อ่านอยู่นี่ไง! คนที่สอง วิมล พลกุล เคยเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ ตั้งแต่ยุคเสียงอ่างทอง ต่อถึง ไทยรัฐ

รู้กันถึงขั้นนี้แล้วก็ยิ่งชัดเจน พระเจ้าแผ่นดิน องค์ที่ตั้งพระทัยวางรากฐาน การปกครองแบบประชาธิปไตยให้เมืองไทย ทรงมีน้ำพระทัยเมตตา ลุ่มลึก กว้างขวาง และยิ่งใหญ่เกินประเมินประมาณ

เสียดาย ผมเป็นพลทหารเรือสองปี ไม่เคยหือเคยอือกับผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่จ่าไปถึงนายพล...จึงไม่เคยเป็นไข้เรือรบกับเขาสักครั้ง

วันนี้ใครโชคไม่ดี เป็นไข้เรือรบ อาการหนักหนามากน้อยแค่ไหน คุยมาให้รู้กันบ้างเน้อ!

กิเลน ประลองเชิง