การบ้านการเมืองหรือการไหน เรื่องเจริญหูเจริญใจไม่มี ผมขออ่าน “สามก๊ก” คั่นเวลาอีกวัน
ในหนังสือ 101 คำถามสามก๊ก (หลี่ฉวนจวิน และคณะ เขียน ถาวร สิกขโกศล แปล สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2556) คำถามที่ 36 เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย สามคนนี้ เล่าปี่ เป็นพี่ใหญ่ จริงหรือ?
ในนิยายสามก๊กตอนที่ 1 เลี้ยงสวนท้อ สามทกล้าร่วมสาบาน บั่นโจรมารวีรชนประเดิมชัย นั้น เขียนว่า
ปีแรกของรัชศกจงผิง (ค.ศ.184) รัชกาลพระเจ้าเลนเต้ กบฏโพกผ้าเหลืองลุกลาม ขณะนั้นเล่าปี่อายุ 28 ปี
ในวันที่เขาอ่านประกาศรับสมัครทหารของเล่าเอี๋ยน ข้าหลวงมณฑลอิวจิ๋ว ได้รู้จักกับเตียวหุย และกวนอู สองผู้กล้าหาญ เมื่อได้รู้จักต่างเสียดายกันว่า พบกันช้าไป
ดังนั้น วันรุ่งขึ้น ที่ในสวนท้อของเตียวหุย ได้จัดโคดำม้าขาวและเครื่องเซ่นสังเวยไว้พร้อมสรรพ แล้วทั้งสามคนจุดธูปไหว้ฟ้าดิน พร้อมทั้งสาบานว่า
“ข้าพเจ้า เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย แม้ต่างแซ่แต่ขอสาบานเป็นพี่น้อง ร่วมแรงร่วมใจกัน บำบัดทุกข์ขจัดภัย เบื้องบนสนองคุณประเทศชาติ เบื้องล่างทะนุบำรุงประชาชน
ไม่หวังเกิดวันเดียว เดือนเดียว ปีเดียวกัน แต่ขอตายวันเดียวเดือนเดียว ปีเดียวกัน
ขอฟ้าดินจงแจ้งประจักษ์หัวใจนี้
หากตระบัดสัตย์ทิ้งไมตรี ขอฟ้าดินแลมนุษย์จงร่วมกันพิฆาต” สาบานเสร็จก็คารวะเล่าปี่ เป็นพี่ใหญ่ รองลงมาคือกวนอู เตียวหุยเป็นน้องเล็ก
นับแต่นั้นมา ทั้งสามคนก็ช่วยกันรวบรวมบ้านเมือง เป็นตำนานงามที่กล่าวขานกันไปทั่ว
เรื่องการสาบานในสวนท้อ ถูกพิสูจน์แล้วว่า เป็นเรื่องที่นักเขียนนิยายแต่งเติม แม้กระทั่งเรื่องเล่าปี่อายุ 28 ปี ที่กล่าวถึงในนิยายสามก๊ก ก็ไม่ตรงกับความจริงในประวัติศาสตร์
...
หนังสือประวัติศาสตร์ที่บันทึกเหตุการณ์เรื่องสามก๊ก เช่นจือจื้อทงเจี้ยน สามก๊กจี่ ล้วนไม่ได้บอกปีเกิดของเล่าปี่ แต่ในประวัติเล่าปี่ในสามก๊กจี่ ภาควุยก๊ก กล่าวว่า
เล่าปี่ตายเมื่อฤดูร้อนเดือนสี่ ปีที่ 3 รัชศกจางอู่ (ค.ศ.223) ขณะนั้น อายุ 63 ปี เล่าปี่ก็น่าจะเกิดเมื่อรัชศกเอี้ยนซี ปีที่ 4 รัชกาลพระเจ้าฮั่นหวนตี้ (ค.ศ.161)
ดังนั้น เมื่อเกิดกบฏโจรโพกผ้าเหลือง ในปีแรกของรัชศกจงผิง รัชกาลพระเจ้าเลนเต้ นั้น เล่าปี่ ควรอายุ 24 ปี
อนุมานตามบันทึกที่เกี่ยวข้องกับประวัติกวนอู และประวัติเตียวหุย ในสามก๊กจี่ ปีนั้นกวนอู น่าจะอายุ 25 ปี และเตียวหุยอายุ 20 ปี
หากเรียงตามลำดับอายุของคนทั้งสาม กวนอูควรอาวุโสสุด รองลงมาคือเล่าปี่ และเตียวหุยเด็กสุด
ดังนั้น ว่าตามอายุจริงแล้ว การสาบานในสวนท้อ ก็ไม่อาจเป็นเรื่องจริงได้
อ่านคำถามที่ 36...แล้ว เป็นไงครับ ผมลองลำดับอารมณ์ ตอนสาบานในสวนท้อ สำนวนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ทั้งสนุกและรื่นหู นี่ก็คือ ตอนที่แต่งเติมตามที่เรารู้กันว่า สามก๊กนั้น เป็นเรื่องจริงเจ็ด เป็นเรื่องเท็จสาม
เรื่องแต่งที่เป็นเรื่องไม่จริง ก็มักสนุกรื่นรมย์อย่างนี้เอง
แต่พอมาตั้งใจอ่านประวัติจริง นอกจากไม่สนุกแล้ว อ้าว! พี่ใหญ่ เล่าปี่ กลายเป็นน้องรองไปเสียแล้ว ก็ทั้งไม่สนุกทั้งผิดหวัง...
ย้อนไปอ่านนิยาย อีกที ขอสาบานเป็นพี่น้อง ร่วมแรงร่วมใจกัน บำบัดทุกข์ขจัดภัย เบื้องบนสนองคุณประเทศชาติ เบื้องล่างทะนุบำรุงประชาชน...เรื่องโกหก เรื่องแต่งเติม ก็เป็นเช่นนี้ อ่านเมื่อไหร่ ฟังดูดี มีความหวัง
ส่วนเรื่องจริงๆ ก็คงเป็นเช่นที่กล่าวๆกันไว้ ความจริงมักเศร้าเสมอ
ความจริง ในบ้านเมืองไหนๆก็มักเศร้าอย่างนี้ล่ะครับ เรื่องพี่เรื่องน้องก็พูดกันสนุกปากไปยังงั้น.
กิเลน ประลองเชิง