เมื่อวันที่ 6 ก.ค. เวลา 10.30 น. ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม.2 ดินแดง นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม ครั้งที่ 1 ประจำปี 2565 โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.ได้ยื่นร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566
นายชัชชาติกล่าวว่า การจัดทำร่างงบประมาณดังกล่าวแล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.64 แต่ตนเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.65 และมีการพิจารณาร่างดังกล่าวใหม่แล้วเสร็จวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยได้พิจารณาเหตุผลความจำเป็นและความคุ้มค่าเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน สำหรับงบประมาณประจำปี 2566 จำแนกเป็น ประมาณการรายรับ 80,028.63 ล้านบาท ประกอบด้วย ประมาณการรายรับของ กทม. 79,000 ล้านบาท ประมาณการรายรับของการพาณิชย์ของ กทม. 1,028.63 ล้านบาท การประมาณการรายจ่าย 79,825.13 ล้านบาท ประกอบด้วย ประมาณการรายจ่ายของ กทม. 79,000 ล้านบาท จำแนกตามประเภทดังนี้ งบบุคลากร 17,568,399,310 บาท งบดำเนินงาน 17,701,722,793 บาท งบลงทุน 10,383,088.891 บาท งบเงินอุดหนุน 5,272,268,680 บาท งบรายจ่ายอื่น 13,703,787,726 บาท งบกลาง 14,370,732,600 บาท และประมาณการรายจ่ายของการพาณิชย์ของ กทม. 825.13 ล้านบาท จึงเสนอสภา กทม.พิจารณาร่างข้อบัญญัติ
นายชัชชาติกล่าวภายหลังว่า สำหรับโครงการที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก เช่นโครงการปรับปรุงสวนลุมพินี วงเงิน 1,800 ล้านบาท จากการประชุมร่วมกับนายกฯ วันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา นายกฯได้ให้ข้อสังเกตว่าสิ่งแรกที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือการเชื่อมต่อระหว่างสวนลุมพินีกับสวนเบญจกิติ พร้อมทั้งจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน จึงคาดว่าจะใช้งบประมาณเพียง 500 ล้านบาทเท่านั้น ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องมีการทบทวนโครงการดังกล่าวใหม่หรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า ไม่ใช่ทบทวนโครงการ แต่พิจารณาสิ่งที่ควรดำเนินการก่อน และในภายหลังจึงจะมาทำตามรูปแบบของโครงการต่อไป ถามต่อว่าโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี งบ 980 ล้านบาท จะมีการทบทวนหรือไม่ นายชัชชาติกล่าวว่า ทุกโครงการต้องมีการทบทวน เพราะงบประมาณมีน้อยแต่ไม่ได้หมายความว่าโครงการในสมัยก่อนไม่ดี แต่เป็นเรื่องงบประมาณที่มีน้อย
...
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 จะมีการอภิปรายของ ส.ก. เป็นเวลา 2 วัน ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (7 ก.ค.) จะมีการพิจารณารับหลักการ ก่อนจะตั้งคณะกรรมการวิสามัญและตั้งคณะทำงาน เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว เป็นเวลา 35 วัน จากเดิม 45 วัน เนื่องจากมีวันหยุดเยอะ จากนั้นจึงนำผลการเข้าสู่วาระ 2 และวาระ 3 ก่อนเสนอผู้ว่าฯกทม.ลงนามภายในต้นเดือน ก.ย.