เมื่อวันที่ 19 พ.ค. นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัด กทม. กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจระบบระบายน้ำที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู พบว่าถนนแจ้งวัฒนะมีเศษดินและเศษวัสดุจากการก่อสร้างอุดตันบ่อพักและท่อระบายน้ำ ช่องรับน้ำหน้าคันหินโดนรื้อออก ไม่สามารถรับน้ำฝนจากผิวจราจรได้ ฐานรากของรถไฟฟ้ากีดขวางทางระบายน้ำ ท่อระบายน้ำบางส่วนชำรุดเสียหายบางจุดมีการก่อสร้างเบี่ยงแนวท่อระบายน้ำ ประกอบกับไม่มีช่องรองรับน้ำฝน เมื่อเกิดฝนตกหนักจึงส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังในผิวจราจร ส่วนถนนรามอินทรา บริเวณปากซอยรามอินทรา 5 เดิมสำนักงานเขตบางเขนได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวขนาด 0.26 ลบ.ม./วินาที เพื่อเร่งระบายน้ำลงแก้มลิง หมู่บ้านเธียรสวน เมื่อมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ผู้รับจ้างได้รื้อย้ายเครื่องสูบน้ำออกและไม่มีการจัดหาเครื่องสูบน้ำมาทดแทน
สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม งานโยธาแล้วเสร็จ 93.55% ซึ่งงานส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน จึงส่งผลกระทบต่อระบบระบายน้ำเป็นบางส่วน อาทิ ถนนรามคำแหง บริเวณสถานีหัวหมาก ซอยรามคำแหง 67 ซึ่งผู้รับจ้างได้ทำความสะอาดท่อระบายน้ำแล้ว แต่ยังต่อคืนท่อระบายน้ำถาวรไม่แล้วเสร็จ บริเวณแยกลำสาลี ผู้รับจ้างใช้ท่อ By pass ระบายน้ำอยู่ ทำให้น้ำระบายได้ไม่สะดวก รวมถึงงานเบี่ยงคลองโต๊ะยอชั่วคราว การวางท่อระบายน้ำลอดใต้ถนน 3 จุด บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงและการกีฬาแห่งประเทศไทย การก่อสร้างและคืนสภาพท่อระบายน้ำเดิม นอกจากนี้ สำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการปรับปรุงสถานีสูบน้ำโต๊ะยอ จากเดิมที่มีอัตราการสูบน้ำ 4 ลบ.ม./วินาที เป็น 7 ลบ.ม./วินาที ซึ่งแล้วเสร็จและเปิดใช้งานเมื่อเดือนตุลาคม 2562 โดยสถานีสูบน้ำโต๊ะยอทำหน้าที่เร่งระบายน้ำในพื้นที่เขตบางกะปิ บริเวณแยกลำสาลี หมู่บ้านสวนสน ซอยรามคำแหง 60 ถนนรามคำแหง ระบายลงสู่คลองแสนแสบ ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักการระบายน้ำประสานกับผู้รับจ้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีส้มเร่งดำเนินลอกท่อทำความสะอาดท่อระบายน้ำตามแนวถนนที่มีการก่อสร้าง เพื่อเปิดทางน้ำไหล รวมถึงเร่งคืนสภาพท่อระบายน้ำเดิม.
...