เมื่อกรุงเทพมหานครมี “ฐานะเป็นเมืองหลวงของไทย” ศูนย์กลางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความพร้อมต่อการบริหารจัดการด้วยงบประมาณหลายหมื่นล้านบาท/ปี
ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 กำหนดอำนาจหน้าที่ไว้อย่างกว้างขวางหลายด้านอันสำคัญ ฉะนั้น “การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” ถูกกำหนดขึ้นในวันที่ 22 พ.ค.นี้ มีความสำคัญ “คนกรุงเทพฯมีโอกาสเข้าคูหากาบัตรเลือกผู้ว่าฯ กทม.” เข้ามาทำหน้าที่แก้ไขปัญหาบริหารเมืองหลวงของประเทศ
ไม่นานนี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ยูดีดีซี) ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ตรวจการบ้านผู้ว่าฯเดิม เติมโจทย์ให้ผู้ว่าฯใหม่” อันมีนักวิชาการด้านการพัฒนาประเทศและการพัฒนาเมืองมาร่วมเสนอแนะสำหรับผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ยูดีดีซี เสนอรายงานสรุปว่า ทศวรรษคนอยู่เขตเมืองมากกว่าเขตชนบท ในการทำ กทม.เป็นเมืองน่าอยู่ ในหลายเมืองใช้หลัก “ผังเมือง” เป็นเครื่องมือกำหนดชี้นำบังคับให้เกิดการพัฒนา 2 ระดับ
...
ระดับแรก... “ผังเมืองรวม” มักพูดกันในวิสัยทัศน์นโยบายพัฒนาระยะยาวในการใช้ประโยชน์ที่ดิน คมนาคม สาธารณูปโภค สาธารณูปการ ระดับสอง... “ผังพัฒนาระดับย่าน” ด้วยการถ่ายทอดวิสัยทัศน์จากผังเมืองรวมสู่บริบทพื้นที่ที่คนชุมชนตกลงร่วมกันตราเป็นกฎหมายยึดเป็น “ธรรมนูญของท้องถิ่น” ใช้ควบคุมการพัฒนานี้
ที่ผ่านมา กทม.จัดทำผังเมืองรวมบังคับใช้หลายฉบับ สะท้อนการพัฒนาหลายด้าน แต่ยังไม่เคยบังคับใช้ผังเมืองพัฒนาเฉพาะพื้นที่ด้วย พ.ร.บ.ผังเมืองฯต้องตราเป็นกฎหมายมีขั้นตอนนาน ผลคือผังพัฒนาระดับย่านที่จัดทำขึ้นนั้นถูกใช้เป็นกรอบดำเนินงานให้หน่วยงาน กทม.ของบประมาณการพัฒนาโครงการเท่านั้น
ขาดผังพัฒนาระดับย่านเป็น “ธรรมนูญของท้องถิ่น” ส่งผลให้ประชาชนภายในย่านสูญเสียโอกาสการร่วมหารือสร้างภาพอนาคตที่พึงปรารถนาของย่าน และคนชุมชนเมืองอ่อนแอ ใช้ชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่
ข้อเสนอแนะต่อ “ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่” ควรใช้ พ.ร.บ.ผังเมือง พ.ศ.2562 เปิดช่องจัดทำผังเมืองเฉพาะที่ไม่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และยกระดับให้ผังเมืองเฉพาะเป็น “ธรรมนูญของท้องถิ่น” มีผลบังคับทางกฎหมายแล้วเปิดการมีส่วนร่วมให้ประชาชนมีบทบาทกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ตนเอง
ควรใช้ผังเมืองเฉพาะจัดลำดับความสำคัญโครงการ และใช้แก้ข้อขัดแย้งที่เกิดจากการพัฒนาเมือง

แต่การพัฒนาผังเมืองขนาดใหญ่ควรต้องเชื่อมโยงกับ “การเพิ่มพื้นที่สีเขียว อย่างเป็นธรรม” อันสำคัญต่อสุขภาวะคนเมือง และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม แล้วเรารู้ซึ้งถึงหัวใจ “ในช่วงโควิดระบาดที่มีมาตรการล็อกดาวน์” ด้วยพื้นที่สีเขียวเป็นตัวช่วยให้ร่างกายและจิตใจพร้อมรับมือวิกฤติต่างๆได้ด้วยซ้ำ
เหตุนี้ต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เพียงพอ “ประชาชน” เข้าถึงเท่าเทียมกันตามองค์การอนามัยโลก กำหนดขั้นต่ำ 9 ตร.ม./คน แล้วไม่แค่นั้น ควรมีมาตรฐานเชิงคุณภาพกระจายในระยะการเดินเท้าเข้าถึง 300-500 ม.
ทว่าปัจจุบัน กรุงเทพฯมีพื้นที่สวนสาธารณะ 8,922 แห่ง คิดเป็น 26,329 ไร่ เมื่อนำมาเฉลี่ยผู้มีทะเบียนราษฎร กทม.คิดเป็นพื้นที่สีเขียว 7.6 ตร.ม./คน “ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำ” ถ้านับรวมประชากรแฝงเหลือ 3 ตร.ม./คน
การศึกษาระยะทางเฉลี่ย “คนกรุงเทพฯ” เข้าถึงพื้นที่สีเขียวใกล้สุด 4.5 กม. สูงกว่ามาตรฐาน 9 เท่า ในแต่ละเขตก็เหลื่อมล้ำ 36 เขตมีพื้นที่
สีเขียวเฉลี่ยต่ำกว่า 3 ตร.ม./คน จำนวนนี้ 23 เขตไม่ได้มาตรฐาน เข้าใช้งานไม่ได้จริง “ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่” ควรทบทวนเกณฑ์พื้นที่สีเขียวให้ตรงมาตรฐานสากลและจัดสรรงบให้เท่าเทียมกันในแต่ละเขต

...
เช่นเดียวกับ ดร.สุเมธ องกิตติกุล ทีดีอาร์ไอ ก็มีข้อเสนอสรุปว่า ประชากรในกรุงเทพฯมีแนวโน้มมากขึ้น “ขยะมูลฝอยเพิ่มต่อเนื่อง” แต่กระบวนการรีไซเคิลน้อย มักถูกนำไปกำจัดแทนนำกลับมาใช้ประโยชน์
หนำซ้ำ “นโยบายจัดการขยะทั้งต้นทาง กลางทางและปลายทาง” ก็ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานรองรับ และไม่สามารถสื่อสารกับประชาชนได้เข้าถึงเข้าใจ ดังนั้นแนวทางจัดการขยะควรใช้ข้อมูลรอบด้าน แก้ระดับชุมชนเน้นการมีส่วนร่วมและพัฒนาใช้เทคโนโลยีและแรงจูงใจที่เหมาะสม
ต่อมา “เรื่องการขนส่งและจราจร” อันเป็นปัญหาภาพใหญ่ในภารกิจ “กทม.ร่วมกับรัฐบาลกลาง” ด้วยปริมาณรถเพิ่มขึ้นทุกวันทำให้อัตราเร็วเฉลี่ยเดินทางในพื้นที่ กทม.ลดลงจนรถติดรุนแรง แล้วยังมี “ปัญหาความปลอดภัย” ที่มีผลให้เกิดอุบัติเหตุมากมาย อย่างกรณีหมอกระต่ายถูก จยย.ชนระหว่างข้ามทางม้าลายเสียชีวิต
แม้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเชื่อมต่อศูนย์ควบคุมเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ แถมอุบัติเหตุการเดินทางก็มีแนวโน้มสูงอีก สะท้อนให้เห็นภาพการเดินทางใน กทม.อันตรายมากขึ้น ดังนั้นผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ควรแก้ปัญหาด้วยระบบขนส่งสาธารณะครอบคลุม และเพิ่มความปลอดภัยการใช้ถนน และทางเท้าของประชาชนทุกกลุ่ม
ประการถัดมา...“การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย” เป็นปัญหาใหญ่สำหรับมหานครอย่างเช่น “น้ำท่วม” ใช้งบประมาณจัดการน้ำท่วมมหาศาลทำให้ภาพรวมปัญหาลดความรุนแรงลง แต่ยังมีจุดเสี่ยงหากฝนตกปานกลางถึงหนัก และบริเวณชุมชนฟันหลอริมน้ำไม่ได้สร้างคันกั้นน้ำถาวร เรื่องนี้ควรมีระบบเตือนภัยให้ทันการ

...
ส่วน “อัคคีภัย” มีอุปสรรค 3 ด้านคือ 1.อุปกรณ์และยานพาหนะมีสภาพชำรุด ไม่พร้อมใช้งาน 2.ขาดบุคลากรด้านอัคคีภัย 3.พื้นที่ความรับผิดชอบสถานีดับเพลิงกว้าง จำเป็นต้องเพิ่มสถานีดับเพลิงให้พื้นที่รับผิดชอบของแต่ละสถานี จัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือ สุดท้ายคือ “ปัญหาฝุ่น PM 2.5” ยังมีปัญหาการบริหารจัดการข้อมูล
ต้องตรวจจับห้ามรถปล่อยควันดำใน กทม. ส่งเสริมใช้ขนส่งมวลชนลดการเดินทางด้วยรถส่วนตัว
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ สะท้อนปัญหาใน กทม.ว่า หาบเร่แผงลอยเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อยู่คู่ กทม.มานาน ที่ผ่านมามีการจัดระเบียบทางเท้าลดจุดผ่อนผันลง “การทำมาหากินยากขึ้น” ถ้าเทียบกับ “สิงคโปร์” ที่สร้างสมดุลผู้ใช้ทางเท้าให้เกิดระเบียบ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันได้
ฉะนั้นโจทย์ “ผู้ว่าฯคนใหม่” ควรมองหาบเร่มุ่งสร้างสมดุลระหว่างผู้ใช้ทางเท้ากลุ่มต่างๆ มากกว่าการห้ามใช้พื้นที่ทางเท้า แล้วบริหารจัดการแบบรายพื้นที่ พิจารณากำกับดูแลร่วมกับผู้ค้าให้ดูแลควบคุมกันเอง
ตอกย้ำด้วย “การฝึกทักษะอาชีพ” เพราะในช่วงโควิด-19 มีคนว่างงานใน กทม. 1.2 แสนคน จำนวนนี้เกือบครึ่งหนึ่งจบปริญญาตรีหรือสูงกว่า แล้วปัจจุบัน กทม. มีโรงเรียนฝึกอาชีพ 10 แห่ง ศูนย์ฝึกทักษะอาชีพมากกว่า 15 แห่ง เปิดสอนหลักสูตรมากกว่า 100 หลักสูตร/ปี แต่ยังไม่ตอบโจทย์ผู้ว่างงานที่ต้องการหางานทำที่มีรายได้
เพื่อช่วยแก้ปัญหาการว่างงาน“ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่” ต้องพัฒนาการฝึกอาชีพด้วยหลักสูตรให้ตรงตามตลาดแรงงาน อันมีกลไกประเมินวัดจาก “ผ่านอบรมต้องมีงานดีขึ้น” ถ้าไม่เป็นไปตามนั้นต้องปรับหลักสูตรใหม่

...
ประเด็นสำคัญ “การศึกษา” ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หลายสมัยมัก “ไม่ชูเป็นนโยบายหาเสียง” แต่ปัจจุบัน กทม. มีโรงเรียนระดับประถมศึกษาในสังกัดถึง 437 แห่ง ปัญหาคือ “การเรียนเด็กในสังกัด กทม.ตามผลการประเมินการสอบไม่ดีเท่าโรงเรียนสังกัดอื่น” แล้วก็มีเด็กหายออกจากระบบโดยไม่ทราบสาเหตุด้วยซ้ำ
ทั้งยังปัญหา “นโยบายมักเน้นสั่งการจากเบื้องบนให้ทำโครงการเดียวกัน” โดยไม่ได้พิจารณาความต้องการของโรงเรียนแตกต่างกัน และแถมยังมีปัญหากระจายตัวของครู ดังนั้นควรยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาพัฒนาเยาวชน สนับสนุนการมีอิสระของโรงเรียน สร้างพื้นที่เรียนรู้ให้เด็กทุกวัย
สุดท้ายนี้คือ “การรักษาพยาบาล” ด้วย กทม.เป็นศูนย์การรักษาพยาบาล ทั้ง รพ.เอกชน และ รพ.สังกัดมหาวิทยาลัยหลายแห่ง แต่ “คนรายได้น้อย” กลับเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพได้ยากกว่าคนต่างจังหวัด
เสนอแนะต่อผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ว่า “ควรเร่งขยายศูนย์บริการสาธารณสุข” โดยเฉพาะสาขาหรือสาขาย่อย เพื่อให้ทำหน้าที่ทั้งการเป็นศูนย์รักษาพยาบาลของชุมชน เน้นบทบาทส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค...
ย้ำว่า “กทม.” มิใช่องค์กรบริหารที่มีอำนาจเต็ม แต่ต้องทำงานร่วมกับ “รัฐบาลกลาง” ถ้าต่างคนต่างทำมักไม่สำเร็จ “ยิ่งทะเลาะกันจะไม่อาจแก้ปัญหาได้” เคราะห์กรรมมาตกที่ประชาชน...ขอฝาก “พ่อเมืองคนใหม่” ควรเข้าใจปัญหา ทำงานเป็นภาคีที่จะนำพาเมืองหลวงของประเทศสู่ความเจริญยิ่งๆขึ้นไป.