• เป็นที่สนใจของผู้คนในสังคมไปในทันที เมื่อ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ออกมาระบุ อีก 7 ปีข้างหน้า ไทยจะเป็นชาติที่ 5 ของเอเชีย จะผลิตยานอวกาศ ส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์ ต่อจากจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
     
  • นำไปสู่ประเด็นคำถาม ภายในระยะเวลา 7 ปี ไทยจะทำได้จริงหรือ? หลังจีน ส่งยาน "ฉางเอ๋อ-5 (Chang’e-5)" ไปดวงจันทร์เมื่อ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา ต่อจากอินเดีย ส่งยาน “จันทรยาน 2 (Chandrayaan 2)” สำรวจดวงจันทร์ เมื่อเดือนก.ค.ปีที่แล้ว และเมื่อ 13 ปีก่อน ยานอวกาศสัญชาติญี่ปุ่น ได้ขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์ มาแล้วเช่นกัน ส่วนในปีนี้ หรือปีหน้า เป็นคิวของเกาหลีใต้

7 ปี เป็นไปไม่ได้ มันยากมาก ไทยจะผลิตยานอวกาศ

“ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” ติดต่อไปยังสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร.
ซึ่งปฏิเสธให้ข้อมูลในเรื่องนี้ โดยชี้แจงเพียงสั้นๆ ว่า ในปีหน้าทางภาคีอวกาศจากชาติต่างๆ รวมทั้งไทย จะมีการลงนามข้อตกลงในการพัฒนาดาวเทียม รองรับอุตสาหกรรมอวกาศ นำร่องด้วยการเตรียมพร้อมด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ โดยแบ่งเป็นหลายเฟสในระยะเวลา 7 ปี

...

หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีดาวเทียม ระบุชัดเจนว่า ภายในระยะ 7 ปี เป็นไปไม่ได้ที่ไทยจะผลิตยานอวกาศ ไปสำรวจรอบดวงจันทร์ ยกเว้นระยะเวลา 20-30 ปี ข้างหน้า อาจเป็นไปได้ เนื่องจากกิจการอวกาศจะต้องเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งต้องอบรมบุคลากร และศึกษาความพร้อมในด้านต่างๆ เพราะฉะนั้นแล้วการทำยานอวกาศแบบนี้ จึงไม่ใช่การใช้เวลาแค่ 7 ปี หรือแค่สร้างดาวเทียม ไทยก็ยังไม่มีความพร้อม และต้องอาศัยจรวดประเทศอื่น

“หากเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ไทยจะทำจรวดเองก็ทำได้ เพราะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางทะเล เวลาจรวดขึ้นไปท่อนแรก ก็จะตกไปน่านน้ำ อาจไปถึงมาเลเซีย ทำให้เป็นปัญหา ให้ลองนึกภาพกองเรือจำนวนมากไปช่องแคบมะละกา เพื่อไปจีน หรือสิงคโปร์ เพราะขณะนี้จราจรทางเรือหนาแน่นมาก ไม่เหมือนเมื่อ 40 ปี หากจะทำตอนนั้นก็ทำได้ และการจะตั้งฐานจรวด ต้องหาพื้นที่ปลอดภัย รวมถึงเทคโนโลยียานอวกาศ ต้องใช้เวลาศึกษาพอสมควร ยกตัวอย่างประเทศดูไบ เริ่มเมื่อปี 2006 กว่าจะส่งดาวเทียมเสร็จสมบรูณ์ 100% ในปี 2018 ใช้เวลา 10 กว่าปี ที่สำคัญต้องใช้งบสูงหลายหมื่นล้านบาท ขนาดเรือดำน้ำยังโดนด่า”

ส่วนความสำคัญในการสำรวจดวงจันทร์ เป็นความพยายามของหลายประเทศในการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ เพราะทุกวันนี้ทรัพยากรเหล่านี้บนโลกหายากมากขึ้น ไม่เหมาะที่จะอาศัยอยู่ในอนาคต และเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีให้นำกลับไปใช้ในโลก ซึ่งหมายถึงความมั่นคง ตามที่หลายประเทศดำเนินการทั้งสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ในการตั้งกองทัพอวกาศ หรือสร้างยุทธศาสตร์ด้านอวกาศ ในการสอดแนม ใช้เป็นขีปนาวุธ หากชาติใดไม่มีเทคโนโลยีอวกาศ ก็จะไม่มีความมั่นคงทางทหาร และถือเป็นหนึ่งธุรกิจการลงทุนในอนาคต

ที่ผ่านมากองทัพอากาศของไทย มีแผนในการสร้างดาวเทียมให้มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ต้องสร้างคนในประเทศให้มีความเชี่ยวชาญ เนื่องจากในอนาคตไทยต้องมีเช่นเดียวกับเมียนมา ซึ่งต้องสร้างดาวเทียมในการเฝ้าตรวจวิเคราะห์จากภาพถ่าย เพื่อความมั่นคง

ก่อนจะส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ ต้องเริ่มจากการสร้างดาวเทียมเป็นเฟสแรก ตามมาด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ หรือระบบกล้องสื่อสารระยะไกลในส่วนของดาวเทียมที่ต้องลงทุนในการโคจรรองดวงจันทร์ คาดว่าไทยจะให้จีนทำดาวเทียม ส่วนเทคโนโลยีจรวด ผลักดันขึ้นไปอวกาศ จะใช้เชื้อเพลิงแบบใดต้องใช้เวลาศึกษาวิจัยอย่างน้อย 2-3 ปี และต้องเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน เนื่องจากกิจการอวกาศใช้งบสูง ต้องสร้างคนให้มีความพร้อม และต้องมีเทคโนโลยี AI ที่เข้มแข็งในการเดินทางไประยะไกลให้มากขึ้น เหมือนหลายประเทศที่ดำเนินการไปสำรวจดาวอังคาร

ส่งยานอวกาศ ไปดวงจันทร์ ผลพลอยได้ในโรดแมป

ด้านดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการผลิตยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ เป็นหนึ่งในโรดแมปของไทย ซึ่งเริ่มอย่างไม่เป็นทางการเมื่อ 2 ปีที่แล้ว จากการประชุมวางแผนระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านวิทยาศาสตร์อวกาศของไทย โดยเดือนหน้าจะประกาศอย่างเป็นทางการ เป็นเรื่องที่ต้องทำ หรืออย่างน้อยต้องมีการสร้างดาวเทียมโดยคนไทย 100% เพื่อความมั่นคงใช้พิสูจน์ทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ แบบเดียวกับของอินเดีย

...

แต่ในเฟสแรกไทยยังไม่ทำจรวด ดังนั้นภายใน 7 ปี จึงเป็นกระบวนการสร้างดาวเทียม ก่อนพัฒนาในเฟสต่อไปในการสร้างจรวด ซึ่งขณะนี้เทคโนโลยีเริ่มนิ่งไม่มีอะไรใหม่ อย่างกรณีของอีลอน มัสก์ มีการซื้อจรวดจากรัสเซีย ซึ่งเอกชนสามารถทำได้

“การไปดวงจันทร์ของไทย เป็นผลพลอยได้ที่อยู่ในแผน จึงค่อยๆ ทำไปตามงบประมาณ เริ่มจากดาวเทียม มาสู่จรวด และจะมีการปรับวงโคจรไปดวงจันทร์ แบบช้าๆ ใช้เชื้อเพลิงไม่มาก ความเร็วไม่สูงมากนัก ภายหลังโครงการดาวเทียมของไทยชะงักไปพักใหญ่ และต่อไปจะต้องสร้างดาวเทียมเอง มีการบริหารจัดการเอง ตามโรดแมปที่เคยวางไว้ ไม่ใช่ไทยเพิ่งคิดจะทำ”.