ห้วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้คนลำบากเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก แต่ได้เกิดภาพดีๆ ความประทับใจในการช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน เมื่อมีการริเริ่มโครงการ “ตู้ปันสุข” ของกลุ่มอิฐน้อย ในรูปแบบตู้กับข้าว เต็มไปด้วยอาหารแห้ง สิ่งของเครื่องใช้จำเป็นสำหรับหลายๆ ชีวิต สามารถมาหยิบเอาไปใช้ได้

จากจุดเริ่มต้น “ตู้ปันสุข” เพียง 5 ตู้ ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ใจบุญ และหลายองค์กร นำแนวคิดนี้ไปใช้ เพื่อปันสุขให้คนไทยในหลายพื้นที่ทั่วประเทศได้อิ่มท้อง จนขณะนี้ครอบคลุมไปทั่ว 77 จังหวัด และล่าสุดรวมแล้ว 618 ตู้ ซึ่งจะมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างแน่นอน เพราะคนไทยไม่ทิ้งกันในยามลำบาก

“โค้ชแบงก์” สุภกฤษ กุลชาติวิจิตร วัย 33 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด และเจ้าของเพจรู้รอบตอบโจทย์ธุรกิจ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มอิฐน้อย ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการ “ตู้ปันสุข” กล่าวกับทีมเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ว่า ได้ร่วมกับเพื่อนๆ ในกลุ่มปฏิบัติธรรม 18 กว่าคน ทำโครงการตู้ปันสุข เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน นำแนวคิดมาจากสหรัฐฯ ที่หญิงคนหนึ่งสร้างตู้ในชุมชนนำเครื่องกระป๋อง ขนมปัง แยม ที่ยังไม่ได้ทานและยังไม่ได้ใช้มาใส่ตู้ แบ่งให้คนอื่นๆ ในชุมชนที่ไม่มีอาหารได้มาหยิบไป และตั้งแต่ได้โพสต์คลิปไวรัลตู้ปันสุขในเพจเมื่อวันพฤหัสที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้เป็นที่สนใจของผู้คนจำนวนมาก จนรู้สึกดีใจเมื่อมีหลายคนเห็นประโยชน์ของตู้ปันสุข ทำให้คนอยากทำตาม

...

“ยิ่งเห็นในคลิปที่นำมาเผยแพร่ยิ่งมีความสุข เห็นคนวนเวียนเอาของมาใส่ในตู้และมีคนมาเอาของจากตู้ จากแรกเริ่มที่พวกเรารวมกลุ่มกันหลวมๆ ในช่วงโควิดเริ่มระบาด นำหน้ากากอนามัย นำเจลแอลกอฮอล์ ไปให้บุคลากรทางการแพทย์ จนนำไปสู่โครงการตู้ปันสุข ทำให้ขณะนี้มี 618 ตู้ใน 77 จังหวัด แค่เวลาไม่ถึงสัปดาห์ แสดงให้เห็นน้ำใจคนไทยรวดเร็วกว่าไวรัสโควิดเสียอีก”

ส่วนระยะเวลาของตู้ปันสุข จะอยู่นานหรือไม่นั้นไม่สามารถบอกได้ เพราะขึ้นอยู่กับชุมชนสถานที่วางตู้ หากคนในชุมชนสามารถควบคุมดูแลรักษาจัดการได้ดี ทั้งคนรับของและคนให้ของ คิดว่าตู้นี้จะอยู่ได้นาน จากจุดเริ่มของพวกเราลงทุนซื้อตู้ 5 ตู้ ในราคาหมื่นกว่าบาท และซื้อของใช้เล็กน้อยนำไปใส่ในตู้เท่านั้น โดยใช้พื้นที่หน้าบ้าน หรือไปคุยกับเจ้าหน้าที่เทศกิจ หรือเจ้าของตลาดนำตู้ไปวาง ซึ่ง 4 ตู้อยู่ในกรุงเทพฯ และอีก 1 ตู้ในระยอง ภายใต้แนวคิด “การแบ่งปัน”

จากผลตอบรับที่ดีจะมีการต่อยอดโครงการในอนาคต จะบริจาคเสื้อผ้าหนังสือแบ่งปันเผื่อแผ่ให้ผู้อื่นต่อ แต่หลักการในช่วงนี้ยังแบ่งปันสิ่งของให้แก่กัน จากที่เริ่มแบ่งปันอาหารแห้ง และต่อมาได้มีผู้ร่วมแบ่งปันเป็นอาหารพร้อมทานเข้ามาเสริมหลายเมนู และของใช้หลากหลายเข้ามาใส่ในตู้

“รู้สึกชอบในสิ่งที่ทำ เป็นการตอบแทนคุณแผ่นดิน แม้ขณะนี้จะมีข่าวนั้นข่าวนี้ออกมาเหมือนเทน้ำลงขวด ก็อยากให้คนทำดีกันต่อไป ไม่ควรจดจำภาพที่ไม่ดีนั้นๆ ไว้”

ส่วนตัวมองว่าควรใส่ของในตู้ให้คละกันไป ไม่ควรใส่ของนั้นๆ ในปริมาณมากๆ ป้องกันคนกวาดของไปหมด ซึ่งเข้าใจว่าบ้านเราขณะนี้มีการตั้งตู้ปันสุขเหมือนโรงทานขนาดเล็ก มีการนำของมาใส่เป็นจำนวนมาก ทำให้มีแนวโน้มจะถูกกวาด แต่แนวคิดของตนมองว่า ตู้ปันสุข คือตู้ชุมชน ใส่อาหารแห้งเติมเข้าไป หรือจะบริจาคอะไรก็ได้เล็กๆ น้อย เพราะฉะนั้นหากทำเป็นตู้โรงทาน ควรมีการบริหารจัดการให้ดีโดยคนในพื้นที่ น่าจะแก้ปัญหาได้.