“รายงานวันจันทร์”-มันมากับฤดูหนาว-มลพิษฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5
ปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน มักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวของทุกปี คือช่วงปลายเดือนธันวาคม และระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม แต่ปีนี้กรุงเทพฯประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานเร็วกว่า ปีที่ผ่านมา
“รายงานวันจันทร์” วันนี้จึงไปพูดคุยกับ รองปลัด กทม. “วิภารัตน์ ไชยานุกิจ” ถึงมาตรการ ป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน รวมถึงสาเหตุที่ปีนี้ กทม.มีฝุ่นขนาดเล็กเร็วกว่าปีที่ผ่านมา
------------------------

ถาม-ทำไมปีนี้ปัญหาฝุ่นละอองมาเร็วกว่าปีที่ผ่านมา
วิภารัตน์–ปีนี้ฤดูหนาวมาเร็วกว่าปกติ ทำให้ความกดอากาศสูง ลมสงบ มีลักษณะอากาศปิด ทำให้ฝุ่นละอองไม่สามารถลอยตัวขึ้นสูงได้ มีการสะสมของฝุ่นละอองในอากาศเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณฝุ่นละอองไม่ได้อยู่นิ่งและยาวนานติดต่อกัน มีลักษณะขึ้นลง ตามสภาพอุตุนิยมวิทยาตัวแปรหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานคือสภาพอากาศ ขณะที่แหล่งกำเนิดฝุ่นยังเท่าเดิม เช่น บนถนนมีรถวิ่งเท่าเดิม การก่อสร้างรถไฟฟ้าก็ยังสร้างไม่เสร็จ ทั้งนี้ ร้อยละ 54 ของปัญหาฝุ่น PM 2.5 มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงไม่สมบูรณ์จากเครื่องยนต์ดีเซล การเผาในที่โล่ง การก่อสร้างขนาดใหญ่
...
ถาม-ปีนี้ กทม.ได้เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองอย่างไรบ้าง
วิภารัตน์-ที่ผ่านมาแม้จะไม่ใช่ช่วงที่กรุงเทพฯประสบปัญหาฝุ่นละออง แต่ กทม.ได้ฉีดน้ำล้างถนน ติดตั้งสปริงเกอร์ อุปกรณ์พ่นละอองน้ำตามตึก อาคารต่างๆของหน่วยงาน กทม. รวมถึงดำเนินการตามมาตรการลดฝุ่นเป็นประจำอยู่แล้ว และได้ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ได้กำชับ 50 เขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ดำเนินการตามแผนลดฝุ่นละออง เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ แผนการรับมือปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ปลายปี 2562 กทม.ได้จัดทำแผนการรับมือกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ดังนี้ 1.ระยะก่อนเกิดวิกฤติ ดำเนินการดังนี้ 1.ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 และสภาพอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดหาเครื่องตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 แบบอัตโนมัติเพิ่มเติม 30 เครื่อง ติดตั้งและตรวจวัดฝุ่นได้อย่างต่อเนื่องครอบคลุมทั้ง 50 เขต แบ่งเป็น 1.สำหรับตรวจวัดฝุ่นละอองภายนอก อาคารพร้อมติดตั้ง 27 เครื่อง เพื่อใช้ตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่เขตเดิม ที่ยังไม่มีเครื่องตรวจวัด และเพื่อใช้ในพื้นที่เสี่ยงภารกิจเร่งด่วน และสนับสนุน ภารกิจของหน่วยงานต่างๆ และ 2.สำหรับติดตั้งในสถานีแบบตู้คอนเทนเนอร์ 3 เครื่อง ได้แก่ สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ สำนักงานเขตราษฎร์บูรณะ สำนักงานเขตพระโขนง และถนนวิภาวดีรังสิต (เขตดินแดง)
2.พัฒนาระบบข้อมูลการจัดการคุณภาพอากาศให้สามารถเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูล พร้อมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สู่สาธารณะ และแจ้งเตือนให้ประชาชนรับทราบ 3.ตรวจสอบแหล่ง กำเนิดมลพิษอย่างต่อเนื่อง อาทิ รถยนต์ รถโดยสารสาธารณะ เรือโดยสารในคลอง โครงการก่อสร้างทั้งอาคารและรถไฟฟ้า 4.ทดลองติดตั้งเครื่องกรองอากาศบริเวณพื้นที่สถานีรถไฟฟ้าสยาม เขตปทุมวัน โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

2.ระยะเกิดวิกฤติ ดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง อาทิ เพิ่มความถี่ในการล้างถนนและการฉีดน้ำ เป็นละอองฝอยในอากาศเพื่อลดฝุ่นละออง เพิ่มจุดตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำทุกประเภท ประสานอำนวย
ความสะดวกด้านการจราจรให้คล่องตัวและรณรงค์ใช้ระบบขนส่งมวลชน รณรงค์ไม่ขับ...ช่วยดับเครื่อง ห้ามเผาขยะและเผาในที่โล่งทุกชนิด ประสานอาคารสูงพ่นละอองน้ำขนาดเล็ก ประสานการพ่นน้ำในบรรยากาศโดยโดรน เฮลิคอปเตอร์ และเครื่องบิน ทำฝนเทียม ประกาศให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุม เหตุรำคาญโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
3.ระยะหลังวิกฤติ ดำเนินการดังนี้ ประชุมถอดบทเรียนเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองให้มีประสิทธิภาพ ยิ่งขึ้นในปีต่อไป ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 และสภาพอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง และปรับปรุงแผนปฏิบัติงานเพื่อควบคุมมลพิษทางอากาศอย่างต่อเนื่อง
“แม้ว่าส่วนใหญ่ กทม.จะแก้ปัญหาที่ ปลายเหตุ แต่ กทม.ไม่เคยนิ่งนอนใจ พยายาม แก้ปัญหาไม่ให้กระทบหรือสร้างความเดือดร้อน ให้ประชาชน” รองปลัด กทม.กล่าวสรุป.
...