รอง ผบ.ตร.เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหา มลพิษฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เพิ่มชุดตรวจควันดำจาก 14 ชุดเป็น 20 ชุด ครอบคลุมทุกพื้นที่ใน กทม.พร้อมบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น หากพบรถควันดำ จะติดสติกเกอร์ห้ามใช้ และให้แก้ไขใน 30 วัน ฝ่าฝืนดึงสติกเกอร์ออกมีความผิดทางอาญา ส่วนโรงงานที่มีเครื่องจักร 50 แรงม้าขึ้นไป เจ้าหน้าที่จากกรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบควบคุมดูแล ขณะที่สถิติจับกุมรถควันดำ ตั้งแต่ต้นปี 62 ถึงปัจจุบัน จับกุมไปแล้ว 116,040 คัน

หลายหน่วยงานร่วมประชุมแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นจิ๋วปกคลุมเมือง โดยเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 ต.ค. ที่กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. เชิญตัวแทน กทม. กรมควบคุมมลพิษ กรมเจ้าท่า กรมการขนส่งทางบก กรมโรงงานอุตสาหกรรม ขสมก. ตำรวจในสังกัด บช.น. บก.จร. ตัวแทน บช.ก บช.ภ.1 บช.ภ.2 และ 7 ที่รับผิดชอบในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ร่วมประชุมชี้แจงรับทราบปัญหา พร้อมแนวทางแก้ไขมลพิษที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในเขต กทม.และปริมณฑล เป็นกรณีเร่งด่วน ใช้เวลาประชุมกว่า 2 ชั่วโมง

พล.ต.อ.สุวัฒน์กล่าวว่า ก่อนหน้ารัฐบาลได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์มลพิษฝุ่นละออง (PM 2.5) จากที่ประชุมสรุปสาเหตุได้ 4 สาเหตุ คือ 1.ปัญหาการจราจร การนำรถที่มีสภาพเครื่องยนต์ไม่พร้อมก่อให้เกิดควันดำมาใช้บนท้องถนน 2.การเผาในที่โล่งในภาคเกษตรกรรม 3.การปล่อยมลพิษทางอากาศของภาคอุตสาหกรรม 4.การก่อสร้างและผังเมืองที่ไม่มีคุณภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหาเป็นกรณีเร่งด่วน

รอง ผบ.ตร.กล่าวต่อว่า ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำชับให้หน่วยในสังกัดดำเนินการดังนี้ 1.เพิ่มมาตรการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่นำรถยนต์ที่มีลักษณะปล่อยมลพิษควันดำมาใช้บนถนน 2.เพิ่มมาตรการตรวจสอบบังคับใช้กฎหมายกับผู้ประกอบการที่ปล่อยมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน 3.ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบเผาพืชไร่เผาในที่โล่งในภาคเกษตรกรรม และกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 4.เพิ่มมาตรการตรวจสอบ และบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่บิดเบือนสร้างข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อประสงค์ให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก 5.บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งราชการ และภาคเอกชนในการสนับสนุนการดำเนินการตามข้อ 1-2

...

6.ให้ สน.ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบแนวทางการป้องกันตนเองจากสถานการณ์ ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 โดยเฉพาะมาตรการตามข้อ 1. เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่นำรถยนต์ที่มีลักษณะปล่อยมลพิษควันดำมาใช้บนท้องถนน ให้ บก.จร. เพิ่มความเข้มในการกวดขันจับกุม โดยเพิ่มชุดตรวจจับควันดำจากเดิม 14 ชุดปฏิบัติการ เพิ่มเป็น 20 ชุดปฏิบัติการ แบ่งเป็นชุดประจำจุดตามแผน 15 ชุด และชุดเคลื่อนที่อีก 5 จุด ครอบคลุมทุกเขตในพื้นที่ กทม.

พล.ต.อ.สุวัฒน์กล่าวต่อว่า หลังจากนี้จะนำมาตรการทั้งระยะสั้น และระยะยาวมาใช้ มาตรการระยะสั้นจะเป็นการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การตรวจรถที่ปล่อยมลพิษ เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการที่จะนำมาใช้ ดังที่ทราบกันดีว่าเครื่องยนต์ดีเซลเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดมลพิษมากถึง 50% ถึงแม้ในวันนี้สภาพอากาศจะอยู่ในขั้นปลอดภัย แต่ต้องบังคับใช้กฎหมายต่างๆต่อไป เพราะปัจจัยทางอากาศ กระแสลม หรืออื่นๆอาจทำให้มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกลับมาสะสมจนถึงขั้นอันตรายต่อร่างกายอีกได้ หลังจากนี้หากพบรถที่ปล่อยมลพิษจะเข้าจับกุม โดยจะตั้งจุดตรวจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากตรวจพบจะนำสติกเกอร์ห้ามใช้รถมาติดที่หน้ากระจกรถคันนั้นโดยทันที เจ้าของรถมีเวลา 30 วัน ในการแก้ไข เมื่อแก้ไขเสร็จให้แจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อจะยกเลิกคำสั่งห้ามใช้ต่อไป หากเจ้าของรถนำสติกเกอร์ออกหรือนำไปทิ้งจะมีโทษทางอาญาด้วย ในส่วนรถใหญ่หากพบว่ารถไม่พร้อมใช้ จะพ่นสีห้ามใช้ ในส่วนนี้กรมการขนส่งฯจะเป็นผู้ดำเนินการ

พล.ต.อ.สุวัฒน์กล่าวอีกว่า สำหรับโรงงานที่มีเครื่องจักร 50 แรงม้าขึ้นไป นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทุกจังหวัดรณรงค์การลดมลพิษในโรงงาน ในส่วนนี้จะมีเจ้าหน้าที่ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมคอยควบคุมดูแล อย่างไรก็ตาม จากสถิติของ บก.จร. ที่ผ่านมา มีผลจับกุมรถควันดำในปี พ.ศ.2560 จำนวน 188,718 คัน ปี พ.ศ.2561 จำนวน 133,733 คัน และ ม.ค.62- ก.ย.62 จำนวน 116,040 คัน ฝากประชา-สัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชนที่พบรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษให้แจ้งมาที่ บก.จร. หรือสายด่วน 1197 เพื่อเข้าดำเนินการต่อไป