รัฐบาลกราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพฯเสด็จฯเป็นองค์ประธานประชุมอำนวยการเตรียมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 26 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล “วิษณุ” เผยตั้ง คณะกรรมการ 7 ชุดเตรียมงาน ขณะที่เดือน เม.ย. เริ่มพิธี “พลีกรรม” ตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ วันที่ 4 พ.ค.63 เป็นวัน “ฉัตรมงคล” ตลอดรัชกาลนี้ ด้านมหาเถรสมาคมมีมติทุกวัดทั่วประเทศเจริญชัยมงคลคาถา ย่ำฆ้อง กลอง ระฆัง วันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พร้อมจัดบวช 6,810 รูป-ปฏิบัติธรรม เฉลิมพระเกียรติ

พระราชพิธีอันเป็นมหามงคลยิ่งและเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่ต้องจารึกไว้ คืองาน “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ที่ไทยทั้งแผ่นดินต่างปลื้มปีติยินดี เฝ้ารอคอยอย่างใจจดใจจ่อชมพระราชพิธีสำคัญครั้งนี้

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 10 ม.ค. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อรับทราบหมายกำหนดการพระราชพิธี ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 พ.ค. โดยมีรองนายกรัฐมนตรี รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ผบ.เหล่าทัพ และผู้แทนสำนักพระราชวังเข้าร่วม

ต่อมานายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การแถลงรายละเอียดขอเป็นหลังวันที่ 26 ม.ค. เนื่องด้วยในวันดังกล่าวนั้น เวลา 17.30 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะองค์ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะทรงพระกรุณา เสด็จเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยจะมีประธานองคมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา เข้าร่วมประชุมด้วย มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

...

นายวิษณุกล่าวอีกว่า จะแบ่งเป็นคณะกรรมการต่างๆ 7 คณะ ประกอบด้วย

1.ฝ่ายพิธีการ มีตนเป็นประธาน

2.คณะกรรมการฝ่ายรักษาความปลอดภัย มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน

3. คณะกรรมการฝ่ายโครงการต่างๆ มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน

4.คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

5.คณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการเสนองบประมาณ มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

6.คณะกรรมการในส่วนของการทำจดหมายเหตุ

และ 7.กรรมการในส่วนประสานงานต่างๆซึ่งเป็นชุดย่อยลงไป หลายเรื่องในที่ประชุมวันนี้ต้องนำความกราบบังคมทูลในวันที่ 26 ม.ค. ก่อน บางเรื่องต้องขอพระราชวินิจฉัยจากสมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมถึงบางเรื่องต้องนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละออง ธุลีพระบาทด้วย จึงไม่สามารถแถลงได้

นายวิษณุกล่าวว่า เบื้องต้นขณะนี้หมายกำหนด การออกมาแล้วว่า พระราชพิธีจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน 1.การเตรียมการเบื้องต้น 2.พระราชพิธีเบื้องกลาง และ 3.ส่วนที่เป็นกิจกรรมต่อเนื่องเบื้องปลาย โดยพระราชพิธีเบื้องกลางคือ ตัวพระราชพิธีที่มี 3 วัน คือวันเสาร์ที่ 4 พ.ค. วันอาทิตย์ที่ 5 พ.ค. วันจันทร์ที่ 6 พ.ค. แต่พิธีเบื้องต้นที่นำหน้ามาก่อนนั้น มีเกือบเต็มทั้งเดือน เม.ย. โดยจะเริ่มจากพิธี “พลีกรรม” คือพิธีตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. กระทั่งสิ้นเดือน เม.ย. ต่อด้วยเดือน พ.ค.ในวันที่ 2-3 พ.ค. ต่อจากนั้นจะเข้าสู่พิธีเบื้องกลาง ซึ่งเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 4-6 พ.ค. โดยวันสำคัญที่สุดคือวันที่ 4 พ.ค. ที่ในปีนี้เป็นวันบรมราชาภิเษก แต่ในปีหน้าวันที่ 4 พ.ค.63 จะไม่ใช่วันบรมราชาภิเษก เพราะบรมราชาภิเษกไปแล้ว จึงเป็นวันที่ระลึกถึงการบรมราชาภิเษก ซึ่งปีหน้าวันที่ 4 พ.ค.63 จะเรียกว่า “วันฉัตรมงคล” และจะเรียกตลอดไปในรัชกาลนี้

รองนายกฯกล่าวอีกว่า ส่วนกิจกรรมเบื้องปลายต่อเนื่องหลังวันที่ 6 พ.ค. คือในวันที่ 8-9 พ.ค. เป็นพระราชพิธีพืชมงคล หลังจากนั้นจะเป็นกิจกรรมของรัฐบาลและประชาชน ที่จะจัดน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย ตรงนี้หลายๆ อย่าง ต้องรอให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องประชุมกันอีกที

เมื่อถามว่า หลังประชุมวันที่ 26 ม.ค.จะได้ข้อสรุปกระบวนการงานพระราชพิธีครบถ้วนใช่เลยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ครบทุกอย่าง วันนี้เท่าที่มีการรายงานในที่ประชุม ได้มีการเตรียมงานกันไปเองก่อนแล้ว ถือว่าลุล่วง 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อถามว่าสำหรับงานพระราชพิธีน่าจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ นายวิษณุกล่าวว่า น่าจะคงยาวไปตลอด แต่จะไม่กระทบต่อเหตุการณ์บ้านเมือง

วันเดียวกันที่อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) พุทธมณฑล จ.นครปฐม สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) เสด็จเป็นประธานการประชุมมหาเถรสมาคม ภายหลังการประชุม นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีการหารือตามที่สำนักพระราชวังประกาศว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามพระราชประเพณี เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติและราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 4-6 พ.ค.2562 เพื่อให้พสกนิกรประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าได้พร้อมใจกันร่วมแสดงความจงรักภักดี ถวายเป็นราชสักการะแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ได้สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์

นายสิปป์บวรกล่าวต่อไปว่า ในการนี้ คณะสงฆ์โดยมหาเถรฯและสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบโครงการบรรพชาอุปสมบทและปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยกำหนดจัดโครงการทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และวัดไทยในต่างประเทศ ดังนี้

...

1.โครงการบรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติฯ ทั่วประเทศ 6,810 รูป ระยะเวลา 15 วัน

2.โครงการปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ โดยสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด จัดปฏิบัติธรรมระยะเวลา 7 วัน หรือตามความเหมาะสม

3.พิธีทำบุญตักบาตร วันที่ 4 พ.ค. เวลา 07.00 น. และตั้งโต๊ะหมู่พระฉายาลักษณ์

4.ให้ทุกวัดทั่วประเทศเจริญชัยมงคลคาถา ย่ำฆ้อง กลอง ระฆัง ในวันที่ 4 พ.ค. เวลาเดียวกันกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สำหรับกำหนดการจัดกิจกรรมทั้งหมดดังกล่าวจะมีการหารืออีกครั้งว่าจะจัดวันใด แต่เบื้องต้นจะเริ่มจัดในช่วงวันพิธีบรมราชาภิเษก