พงศพัศลุยแก้ปัญหาแบบยั่งยืน

“พงศพัศ” สวมหัวโขน สนช.เร่งจัดระเบียบลิง หลังก่อเหตุป่วนคนไปทั่ว โดยสำรวจจำนวนลิงล่าสุดพบ มีนับแสนตัว ชู 3 ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาพิพาท “คนกับลิง” ในพื้นที่วิกฤติ 12 จังหวัด ศึกษาธรรมชาติ บนเกาะห่างไกล 191 แห่ง เล็งสร้าง “นิคมลิง” รองรับ ลิงส่วนเกิน-ลิงเกเร จัดการภายใต้กรอบวิสัยทัศน์ “ประชาชนสุขใจ ลิงปลอดภัย อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน”

ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 พ.ค. พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการติดตามกลไกการปกป้องคุ้มครองสัตว์ เปิดเผยถึงรายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการปัญหาลิงในพื้นที่วิกฤติ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาวิจัยในมิติต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง พบว่าปัญหาพิพาทระหว่างคนกับลิง รวมทั้งความเดือดร้อนรำคาญที่เกิดจากลิงในปัจจุบันได้แผ่ขยายไปในหลายพื้นที่มากกว่า 50 จังหวัดทั่วประเทศ แต่พื้นที่ที่ถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤติและจำเป็นจะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยทันทีมีอยู่ทั้งสิ้น 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลพบุรี กระบี่ ชลบุรี ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ภูเก็ต มุกดาหาร สตูล สระบุรี อำนาจเจริญ และเขตบางขุนเทียน กทม. ซึ่งในรายงานฉบับนี้ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวออกเป็น 3 ยุทธศาสตร์ 9 กลยุทธ์ และกิจกรรมหลักในด้านต่างๆ ที่แต่ละจังหวัดจะต้องนำไปเร่งรัดดำเนินการตามสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประชาชนสุขใจ ลิงปลอดภัย อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน”

พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า แม้ว่าลิงจะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่การแก้ไขปัญหาลิงมีความจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการจากทุกภาคส่วน ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2559 เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาลิงที่จังหวัดลพบุรีเป็นแห่งแรก ซึ่งคณะอนุกรรมการร่วมกับทุกหน่วยจัดทำ “แผนแม่บทการบริหารจัดการปัญหาลิงในจังหวัดลพบุรีอย่างยั่งยืน” ขึ้นและได้ส่งมอบแผนให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีเพื่อนำไปขับเคลื่อนตั้งแต่ 24 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งจากการศึกษาเพิ่มเติมพบว่าปัญหาพิพาทระหว่างมนุษย์กับลิงไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในจังหวัดลพบุรีเท่านั้น แต่กระจายไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งพื้นที่วิกฤติอยู่ใน 12 จังหวัดข้างต้น โดยประชาชนได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากลิงอย่างต่อเนื่อง ทั้งถูกลิงทำร้ายร่างกายและแย่งชิงทรัพย์สิน บางส่วนต้องอพยพออกจากบ้านเรือนที่เคยอยู่อาศัยหรือทำมาค้าขาย นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเรื่องความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคจากสัตว์สู่มนุษย์ โดยเฉพาะจากการสัมผัสและการอยู่ใกล้ชิดกับลิง ในขณะเดียวกันก็มีลิงเป็นจำนวนไม่น้อยที่ถูกทำร้ายจากผู้ที่อยู่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว

...

พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวด้วยว่า จากการสำรวจของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จนถึงขณะนี้พบว่ามีลิงอยู่ไม่น้อยกว่า 100,000 ตัว โดย “ลิงแสม” เป็นลิงที่สร้างปัญหารบกวนประชาชนมากที่สุด เหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็เนื่องมาจากที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติเดิมของลิงถูกรุกล้ำหรือคุกคาม โดยเฉพาะการสร้างที่อยู่อาศัยหรือเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีอาหารตามธรรมชาติเพียงพอ ลิงต้องเข้าไปในชุมชนเพื่อหาอาหาร เข้าไปรื้อหรือทำลายทรัพย์สินในบ้านเรือน หรือบางครั้งก็มีการทำร้ายคนด้วย โดยเฉพาะในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆมีการให้อาหารลิงจนทำให้พฤติกรรมของลิงเบี่ยงเบนไป และที่สำคัญคือจำนวนประชากรของลิงที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกพื้นที่ ซึ่งมีผลทำให้การควบคุมดูแลเป็นไปได้ยาก

พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวอีกว่า ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่วิกฤติทั้ง 12 จังหวัดดังกล่าว คณะอนุกรรมการได้นำเสนอยุทธศาสตร์สำคัญขึ้น 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการลิง ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการถิ่นที่อยู่อาศัยของลิง และยุทธศาสตร์การบูรณาการแก้ปัญหาลิง โดยในแต่ละยุทธศาสตร์จะประกอบด้วยกลยุทธ์และกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การควบคุมประชากรลิงด้วยการทำหมัน การฟื้นฟูระบบนิเวศเดิมให้ลิงสามารถอยู่ได้ในถิ่นฐานเดิม การจัดทำฐานข้อมูลในการดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพลิง รวมทั้งการนำองค์ความรู้ในการลดปัญหาและข้อพิพาทเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและนำไปปฏิบัติ เช่น การให้อาหารลิงในพื้นที่ที่กำหนดไว้เท่านั้นเป็นต้น

“สำหรับแนวคิดเกี่ยวกับ “การสร้างนิคมลิง” เพื่อใช้เป็นสถานที่รองรับลิงบางส่วนที่จำเป็นจะต้องย้ายออกมาจากพื้นที่ ถือเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่จำเป็นจะต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เนื่องจากจำนวนประชากรลิงที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้กับชุมชนได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว มีผลทำให้ปัญหาต่างๆเกิดขึ้นมากมายเป็นเงาตามตัว การย้ายลิงบางส่วนออกไปไว้ในนิคมลิง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะจำนวนลิงส่วนเกินและลิงที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวสร้างปัญหาความเดือดร้อนหรือมีข้อพิพาทกับประชาชน โดยก่อนการโยกย้ายจะมีการทำหมันและพิจารณาเกี่ยวกับสวัสดิภาพลิงอย่างรอบด้าน” พล.ต.อ.พงศพัศกล่าว พร้อมระบุด้วยว่าในขณะนี้จังหวัดกระบี่ ตรัง สตูล ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี และภูเก็ต มีเกาะตามธรรมชาติที่อยู่ห่างไกลชายฝั่งรวมทั้งสิ้น 191 เกาะ ซึ่งจะต้องพิจารณาเกี่ยวกับปัจจัยความพร้อมของระบบนิเวศที่ลิงจะสามารถอยู่อาศัยได้โดยด่วนต่อไป โดยมีการพิจารณาทั้งในเรื่องของพืช อาหาร แหล่งน้ำ แหล่งหากินทางทะเล และปัจจัยคุกคามการดำรงอยู่ของลิงอันเกิดจากมนุษย์และสัตว์ป่า ซึ่งจังหวัดภูเก็ตศึกษาเสร็จสิ้นไปแล้ว 5 เกาะ ได้แก่ เกาะงำ เกาะปายู เกาะมาลี หรือมะลิ เกาะแพ และเกาะทะนาน ส่วนจังหวัดสตูลสำรวจแล้วที่เกาะโกยใหญ่ โดยเกาะทุกแห่งที่ผ่านการสำรวจแล้วสามารถนำไปสร้างนิคมได้ต่อไป ส่วนจังหวัดลพบุรี ซึ่งไม่มีพื้นที่เกาะก็ได้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ที่จะใช้พื้นที่บริเวณเขาพระยาเดินธง เขาสมโภชน์ และเขาเอราวัณ เพื่อสร้างเป็นนิคมลิงต่อไป

พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า ในวันพุธที่ 16 พ.ค.นี้ จะมีการสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ นายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมการติดตามกลไกและพิจารณาปกป้องคุ้มครองสัตว์ จะเข้าร่วมสัมมนากับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 12 จังหวัด รวมทั้งผู้บริหารของกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมปศุสัตว์ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหา เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในการนำแนวทางการบริหารจัดการปัญหาลิงในพื้นที่วิกฤติตามที่คณะอนุกรรมการได้จัดทำขึ้นไปปฏิบัติให้บังเกิดผลโดยเร็ว ก่อนที่ปัญหาพิพาทระหว่างคนกับลิง และปัญหาความเดือดร้อนต่างๆจะลุกลามขยายตัวออกไปจนไม่อาจควบคุมได้