ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล บช.น. จะเริ่มเอาจริงเอาจังกับ “มนุษย์ปาด” ซึ่งเป็นต้นเหตุของการจราจรติดขัด และอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยติดตั้งกล้องตรวจจับผู้ฝ่าฝืนเปลี่ยนช่องทางเดินรถในเขตห้าม หรือเลนเชนจ์ กระจายตามทางขึ้นลงสะพานข้ามทางแยกและอุโมงค์

“รายงานวันจันทร์” วันนี้ พ.ต.อ.กิตติ อริยานนท์ รอง ผบก.จร. จะมาชี้แจงให้ทราบถึงรายละเอียดจุดที่ติดตั้ง การจับปรับ และอัตราโทษ


ถาม-ที่มาของการติดตั้งกล้องเลนเชนจ์

พ.ต.อ.กิตติ–บช.น.ได้รับงบจาก กทม.14 ล้านบาท ติดตั้งกล้องเลนเชนจ์ 15 จุด ซึ่งขณะนี้ติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการทดสอบตรวจรับโครงการ และเตรียมการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้ขับรถหลีกเลี่ยงการขับขี่ที่ปาดหรือเบียดบริเวณคอสะพาน และเขตที่ห้าม โดยติดตั้งป้ายแจ้งเตือนก่อนถึงจุดที่ติดตั้งกล้องเป็นระยะ 100 เมตร 70 เมตร และ 50 เมตร คาดว่าจะเริ่มจับกุมอย่างจริงจังในเดือน พ.ค.นี้

จุดที่ติดตั้งมีทั้งหมด 15 จุด ได้แก่ 1.สะพานแยกบางเขน ถนนงามวงศ์วานขาออก 2.สะพานแยกศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะขาออก 3.อุโมงค์ห้วยขวาง ถนนรัชดาภิเษกขาเข้า 4.สะพานแยกบรมราชชนนี ถนนบรมราชชนนีขาออก 5.สะพานแยกวงเวียนบางเขน ถนนแจ้ง-วัฒนะขาเข้า 6.สะพานแยกราชเทวี ถนนเพชรบุรีขาออก 7.แยกสามเหลี่ยมดินแดง ถนนดินแดงขาเข้า 8.สะพานแยกประชานุกูล ถนนรัชดาภิเษกขาออก 9.สะพานแยกอรุณอมรินทร์ขาออก 10.สะพานแยกรัชดา–ลาดพร้าวขาออก 11.สะพานแยกรัชดา–ลาดพร้าวขาเข้า 12.สะพานแยกวงศ์สว่างขาออก 13.สะพานแยกถนนพระราม 4 ถนนรัชดาภิเษกขาเข้า 14.สะพานพุทธฯ ถนนประชาธิปกขาเข้า 15.สะพานแยกกำนันแม้น ถนนกัลปพฤกษ์ขาออก

ถาม-การทำงานของกล้องเป็นอย่างไร

...

พ.ต.อ.กิตติ–กล้องเลนเชนจ์ติดตั้งบนโครงเหล็กสูงจากระดับพื้นดิน 5.5 เมตร กึ่งกลางถนน สามารถบันทึกภาพผู้กระทำความผิดได้ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยจะส่งข้อมูลภาพมายังศูนย์ควบคุมออกใบสั่ง บก.02 ตลอด 24 ชม. สามารถออกใบสั่งได้แบบวันต่อวัน และส่งถึงเจ้าของรถภายใน 1 สัปดาห์ โดยผู้กระทำความผิดจะต้องมาชำระค่าปรับภายใน 60 วัน หากยังไม่มาจะออกใบแจ้งเตือนให้มาชำระภายใน 30 วัน และถ้ายังไม่มาอีกจะส่งข้อมูลไปให้กรมการขนส่งทางบก ขณะนี้กรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างปรับปรุงซอฟต์แวร์การเชื่อมระบบ ทั้งนี้ กล้องยังสามารถใช้ตรวจสอบการเกิดอุบัติเหตุแต่ละช่วงเวลา โดยสามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้ 2 ปี

ถาม-ผู้ที่กระทำความผิดมีอัตราโทษเท่าไหร่

พ.ต.อ.กิตติ–ความผิดขับรถเปลี่ยนช่องทางในเขตห้าม มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ในช่วงแรกจะปรับในอัตรา 500 บาท ทั้งนี้หากผู้ที่กระทำความผิดมีข้อสงสัยสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ด้วยตนเองผ่านทางยูอาร์แอล (URL) และรหัสผ่านที่อยู่ท้ายใบสั่งได้ ส่วนการจ่ายค่าปรับสามารถชำระผ่านทางธนาคารกรุงไทย ไปรษณีย์ หรือตู้เอทีเอ็มที่มีสัญลักษณ์ PTM ติดอยู่.