“รายงานพิเศษ”-บำบัดน้ำให้ใกล้เคียงธรรมชาติก่อนใช้อีก
เมื่อเร็วๆนี้ สภา กทม.ได้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย (อีกครั้ง) เพื่อเสนอต่อผู้บริหาร กทม.พิจารณา หากได้รับความเห็นชอบและคาดว่าภายในปี 2562 กทม.จะสามารถเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียได้
“รายงานพิเศษ” วันนี้จะไปพูดคุยกับ สุทธิมล เกษสมบูรณ์ รอง ผอ.สำนักการระบายน้ำ ว่าเพราะอะไร กทม.จึงไม่สามารถจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียได้ ทั้งที่ข้อบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 และทำไม กทม.จึงมีความจำเป็นต้องจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย
ปัญหาที่ทำให้ กทม.ยังไม่สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียได้?
สุทธิมล-ปัญหามีหลายประเด็น เช่น วิธีการเก็บผู้บริหารมีความเห็นไม่ตรงกัน อีกทั้งประชาชนมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย
ปัจจุบัน กทม.มีโรงบำบัดน้ำเสีย 8 แห่ง บำบัดน้ำเสียได้ 45% จากการใช้น้ำประปา 2.5 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน หรือสามารถบำบัดได้ 1.1 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ในส่วนนี้ต้องใช้งบประมาณในการบริหารจัดการ ดูแลระบบโรงบำบัดน้ำปีละกว่า 600 ล้านบาท การเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย จะเป็นรายได้หลักในการบริหารจัดการ และเดินระบบบำบัดน้ำเสีย รวมทั้งสามารถนำเงินไปก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียเพิ่มเติม เพื่อขยายพื้นที่รับน้ำเสียเข้าสู่ระบบบำบัดต่อไป

...
แนวทางการจัดเก็บมีลักษณะอย่างไร ทุกบ้านต้องจ่ายหรือไม่?
สุทธิมล-เบื้องต้นจะจัดเก็บเฉพาะพื้นที่ที่มีโรงบำบัดน้ำเสียให้บริการ 8 แห่ง ครอบคลุม 21 เขต ได้แก่ พื้นที่เขตพระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ บางรัก สาทร บางคอแหลม ยานนาวา ดินแดง ราชเทวี พญาไท ปทุมวัน บางซื่อ จตุจักร ห้วยขวาง หนองแขม บางแค ภาษีเจริญ ดุสิต ทุ่งครุ จอมทอง และราษฎร์บูรณะ
สาเหตุที่จัดเก็บแค่ 21 เขต เพราะ กทม.จะจัดเก็บค่าธรรมเนียมสิ่งใดได้ จะต้องมีสิ่งที่ กทม.มีให้บริการในพื้นที่นั้น ส่วนวิธีการเก็บ กทม.มีแนวคิดจัดเก็บไม่ต่างจากการเก็บค่าน้ำประปา หรือค่าไฟฟ้า คือมีใบแจ้งหนี้ มีบิลค่าใช้จ่ายออกไป แล้วให้ประชาชนมาชำระตามสถานที่กำหนด เช่น ธนาคาร เคาน์เตอร์เซอร์วิส สำนักงานเขต
การจัดเก็บค่าธรรมเนียมนอกจากจะช่วยดูแลการเดินระบบแล้ว จะมีส่วนช่วยให้มีการก่อสร้างโรงบำบัดเพิ่มได้ด้วย ทุกวันนี้เรานำน้ำจากธรรมชาติมาใช้ และวันหนึ่งที่เราต้องส่งน้ำคืนให้กับธรรมชาติ ก็ควรบำบัดให้สะอาดใกล้เคียงกับธรรมชาติที่เราดึงมาใช้มากที่สุด
กรุงเทพฯจำเป็นต้องมีโรงบำบัดน้ำเสียกี่แห่งถึงจะเพียงพอ?
สุทธิมล-ตามแผนแม่บทที่ได้ศึกษาไว้ พื้นที่กรุงเทพฯควรมีโรงบำบัดน้ำเสีย 27 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะบ้านเรือนประชาชน ที่อยู่อาศัย ชุมชนต่างๆ.