ป.ป.ท.ไล่บี้ขบวนการโกงเงินคนจน ตั้งอนุกรรมการไต่สวนเพิ่มอีก 61 คน จากเดิม 95 คน รวมเป็น 165 คน ในขณะที่ รมว.พม.เชื่อปลัดคนใหม่แก้ปัญหาได้ ยันเหตุสั่งให้ “ธีรพงษ์” ออกจากราชการ เนื่องจากพบมีเอี่ยวเงินคนจน อธิบดี พส.จ่อย้ายอีก 20 หัวหน้าหน่วยพ้นเก้าอี้ หลังพบหลักฐานมัดแน่น ส่วนคดีโกงเงินเด็ก บอร์ดกองทุนเสมาฯสั่งเบรกจ่ายเงินเพื่อวางระบบสกัดโกง พร้อมมีมติให้ใช้ดอกเบี้ยเยียวยาเด็กที่ได้รับผลกระทบ “การุณ” เตรียมสั่งเด้งข้าราชการ 6 ราย ด้าน สพฐ.เอาด้วย หลังสงกรานต์สั่งล้างบางครั้งใหญ่ ให้ข้าราชการครูฯพัวพันทุจริต-ประพฤติมิชอบตั้งแต่ระดับ ผอ.เขตพื้นที่ฯ ยันผอ.โรงเรียน ออกจากราชการไว้ก่อน 14 ราย

ป.ป.ท.ยังคงเดินหน้าสอบสวนเพื่อเอาผิดกับขบวนการโกงเงินคนจน โดยเมื่อเวลา 16.10 น.วันที่ 11 เม.ย. พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณประจำปี พ.ศ.2560 ประเภทเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง 76 ศูนย์ วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 123,159,000 บาท ว่า ขณะนี้ตรวจสอบพบมีการทุจริตงบศูนย์คุ้มครองฯแล้ว 56 จังหวัด งบประมาณ 109,299,000 บาท คิดเป็นประมาณ 89 เปอร์เซ็นต์ บอร์ด ป.ป.ท. รับไว้ไต่สวนข้อเท็จจริง 33 จังหวัด ก่อนหน้านี้ บอร์ด ป.ป.ท. ได้ตั้ง อนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่ 95 คน ล่าสุดบอร์ด ป.ป.ท.ตั้งอนุกรรมการไต่สวนเพิ่มอีก 61 คน รวมเป็น 156 คน หลังจากนี้จะส่งรายชื่อให้ ต้นสังกัดข้าราชการคือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) เพื่อการเอาผิดตามขั้นตอนกฎหมาย

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงนายปรเมธี วิมลศิริ ปลัด พม.คนใหม่ว่า เป็นเลขาสภาพัฒน์มาก่อน น่าจะมองภาพรวมได้ดีหากเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ประเทศและ พม.ให้เข้ากันก็จะทำให้แผนงาน พม.มีความชัดเจน คิดว่าปลัด พม. คนใหม่สามารถมาช่วยได้ ก็คาดหวังท่านอย่างเต็มที่ด้วย ตนจะทำให้ พม.เป็นผู้นำด้านสังคมทั้งในประเทศและระดับอาเซียนตามยุทธศาสตร์ รวมถึงให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขภายใน 1 ปี ผู้สื่อข่าวถามว่าล้างบางฐานอำนาจเก่าได้มากน้อยแค่ไหน พล.อ.อนันตพรกล่าวว่า หากทุกคนช่วยกันทำก็จะแก้ไขสิ่งต่างๆได้ รวมถึงการปรับย้ายไม่เป็นธรรม หน่วยงานที่มีความสำคัญต้องเอาคนดีไปอยู่ เชื่อว่าผู้บริหารทุกคนจะเข้าใจ แต่หากไม่เข้าใจและยังมีเหตุการณ์ออกมาอีกก็ช่วยไม่ได้แล้ว ผู้สื่อข่าวก็ต้องช่วยตน หากเจออะไรที่ไม่ดี ขอให้มาบอก ส่วนผลสอบปลัดและรองปลัด พม. คาดว่าหลังเทศกาลสงกรานต์จะได้รับทราบความคืบหน้า

...

ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงการออกคำสั่งให้ผู้ตรวจราชการกระทรวง พม. ออกจากราชการไว้ก่อน จากกรณีปัญหาการทุจริตเงินผู้ไร้ที่พึ่ง ว่า ผู้ตรวจฯคนดังกล่าว คือ นายธีรพงษ์ ศรีสุคนธ์ อดีตรองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เนื่องจากถูกคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องมีมูล ต้องถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ตามหลักการและมติ ครม. ต้องให้นายธีรพงษ์ออกจากราชการไว้ก่อน ยังไม่ถือว่าเป็นผู้กระทำผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ หากผลการสอบสวนสุดท้ายพบว่านายธีรพงษ์ไม่มีความผิด สามารถกลับมารับราชการได้

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการสะสางปัญหาในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่า นอกจาก 3 คนที่ถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน ในส่วนของคนอื่นกระทรวง พม.กำลังดำเนินการอยู่ ตนได้สั่งการเพิ่มเติมว่านอกจากศูนย์พักพิงคนไร้ที่พึ่งแล้ว ยังสั่งให้ตรวจสอบนิคมสร้างตนเอง ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง และศูนย์ประสานงานโครงการหมู่บ้าน รวม 62 แห่ง ที่มีการร้องเรียนว่าอาจมีการทุจริตในบางแห่ง จึงให้ตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส หลังสงกรานต์จะให้ พม.และคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ถ้าพบมีความผิดจริงจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบต่อไป

นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กล่าวว่า หลังจาก ป.ป.ท.ส่งข้อมูลผู้เกี่ยวข้องการทุจริตเงินสงเคราะห์ให้ พม.ดำเนินการ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาทั้งหมด 95 รายชื่อ ในจำนวนนี้ 17 ราย ตรงกับที่ พส.ได้ดำเนินการสอบวินัยไปแล้ว แยกเป็น 14 รายเป็นข้าราชการสังกัด พส. อีก 3 ราย เป็นข้าราชการสังกัดสำนักงานปลัด พม. ที่เหลืออีก 78 ราย อยู่ระหว่างตรวจสอบว่าเป็นข้าราชการระดับใดบ้าง เบื้องต้นพบ 20 รายเป็นระดับหัวหน้าหน่วย คาดว่าหลังสงกรานต์นี้จะมีคำสั่งย้ายออกจากพื้นที่ได้ทันที เพื่อดำเนินการสอบวินัยต่อไป พื้นที่ที่หัวหน้าหน่วยถูกสั่งย้ายได้มอบหมายให้ระดับรองหัวหน้าหน่วยรักษาการ แต่บางหน่วยงานที่ไม่มีก็ให้ประสานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) หรือหัวหน้ากลุ่มในหน่วยงาน พมจ. มารักษาการ

ส่วนเรื่องการยักยอกเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ซึ่งเป็นการประชุมคณะกรรมการกองทุนฯครั้งแรก ประจำปี 2561 ว่าได้มีการชี้แจงความเป็นมาของเงินกองทุนต่อที่ประชุม เนื่องจากมีกรรมการเพิ่งเข้ามาใหม่ โดยกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตเป็นเงินกองทุนที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลกับเงินจากสลากกินแบ่งรัฐบาล เงินกองทุนมีเหลืออยู่ในบัญชี 600 ล้านบาท และดอกเบี้ยอีก 49 ล้านบาท เท่ากับว่าเงินในกองทุนนี้ยังมีอยู่ครบ ที่ประชุมได้หารือถึงข้อบกพร่องทั้งการบริหารโครงการ กองทุนเสมาฯและการเบิกจ่ายเงินทั้งหมด โดยมีความเห็นว่าให้หยุดการเบิกจ่ายเงินไว้ก่อน เพื่อกลับมาทบทวนและสร้างแนวปฏิบัติการเบิกจ่ายให้มีความรัดกุมมากขึ้น

นายการุณกล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังมีมติให้เยียวยาผู้ที่ได้รับเงินจากกองทุนที่ อาทิ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ยังขาดอีก 11 ล้านบาท และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อีก 11 ล้านบาท เบื้องต้นมีประมาณ 198 ราย ให้ใช้ดอกเบี้ยเงินกองทุนมาเยียวยา และกำชับให้เร่งจัดทำระเบียบต่างๆของการเบิกจ่ายเงินในกองทุนให้มีความรัดกุม และให้เสร็จสิ้นภายในเดือน เม.ย.นี้ ขณะเดียวกันก็ได้จัดทำร่างคำสั่งย้ายข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับกองทุนเสมาฯ ให้ไปปฏิบัติหน้าที่อื่นเป็นการชั่วคราว 6 ราย รวมทั้งมีคำสั่งให้แต่งตั้งผู้มาปฏิบัติหน้าที่แทน คาดว่าคำสั่งน่าจะออกหลังสงกรานต์

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาใช้มาตรการปราบโกงของ คสช. จัดการกับข้าราชการที่มีปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบว่า ได้รับรายงาน จากนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ว่า หลังพิจารณาแล้วจะมีข้าราชการ สพฐ.ที่ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง 41 ราย ที่อยู่ในข่ายต้องถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามแนวทางมาตรการป้องกันและปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 14 ราย เนื่องจากผลการสอบสวนพบว่ามีมูลความผิดชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีให้ย้ายออกจากตำแหน่งเดิมส่วนหนึ่งด้วย

...

นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. ได้ดำเนินการตามมาตรการ คสช. 2 ส่วน คือ การดำเนินการของ สพฐ. ส่วนกลาง และแจ้งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ร่วมกับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) แต่ละจังหวัดดำเนินการ ในส่วนของ สพฐ.ส่วนกลางพบว่าเข้าข่ายที่จะต้องให้ออกจากราชการไว้ก่อน 14 ราย กลุ่มนี้มีการสรุปเรื่องจากคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแล้ว อนาคตต้องถูกตัดสินโทษวินัยอย่างร้ายแรงมีโทษไล่ออก หรือปลดออกจากราชการอยู่แล้ว ย้ายออกจากตำแหน่งเดิม 7 ราย และที่ถูกย้ายออกจากงานเดิมไปแล้วแต่ด้วยสาเหตุอื่น 2 ราย มีผู้ถูกสั่งให้มาประจำ สพฐ. 1 ราย รวม 24 ราย คาดว่าคำสั่งดังกล่าวจะออกมาหลังสงกรานต์ ผู้ที่จะถูกพิจารณาโทษตามมาตรการ คสช. มีตั้งแต่ ผอ. และรอง ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา ผอ.โรงเรียน ครูและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆ การดำเนินการครั้งนี้ถือเป็นการล้างท่อครั้งใหญ่

นอกจากนี้ในวันเดียวกันมีจดหมายเปิดผนึกอ้างว่าเป็นของนางรจนา สินที ส่งถึงนักข่าวประจำกระทรวงศึกษาธิการ เนื้อความของจดหมายเขียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในทำนองว่าการพิจารณาลงโทษความผิดตนเป็นการรวบรัด ขาดความชอบธรรม พร้อมปฏิเสธว่าไม่ได้มีการพูดคุยกับนายอรรถพล ตรึกตรอง ประธานสืบฯตามที่นายอรรถพลให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด รวมทั้งไม่ได้บังคับให้เด็กไปเปิดบัญชีเอาเงินผ่านเพื่อโกงรัฐ นอกจากนี้ เนื้อความของจดหมายยังเรียกร้องให้นายกฯตรวจสอบการทุจริตในโครงการต่างๆด้วย โดยเนื้อความส่วนใหญ่คล้ายกับจดหมายฉบับแรกที่นางรจนาเคยส่งมา