มีนายตำรวจที่ผ่านงานสอบสวนมาเพียง 5 ปี

แต่มองสภาวะการขาดแคลนพนักงานสอบสวนในยุคปัจจุบันอย่างทะลุปรุโปร่งว่า การเพิ่มเงินประจำตำแหน่ง ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด

เหตุผลเพราะการเพิ่มเงินประจำตำแหน่งเป็นการเฉลี่ยค่าตอบแทนที่ไม่ตรงกับภาระงาน บางพื้นที่งานเยอะ คนน้อย บางพื้นที่งานน้อย แต่คนเยอะ ทำค่าตอบแทนตามเกณฑ์เท่าเทียม ทว่าไม่ยุติธรรม

บางคนรับเลขสำนวนเยอะ แต่ได้รับเงินประจำตำแหน่งเท่ากับคนรับเลขน้อย

ทางแก้ไข เขามีความเห็นว่า ควรไปเพิ่มเงินค่าตอบแทนให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีเป็นรายคดีไป เพื่อให้ค่าตอบแทนตรงกับภาระงานที่พนักงานสอบสวนแต่ละคนต้องเจออย่างยุติธรรมและเท่าเทียม

อีกเรื่อง คือ การประกันความก้าวหน้า เนื่องจากพนักงานสอบสวนเป็น “วิชาชีพเฉพาะทาง” ที่ต้องอาศัยความรู้ทางด้านกฎหมาย อาชญาวิทยา และมนุษยสัมพันธ์ สั่งสมประสบการณ์สร้างความชำนาญ ดังนั้น การประเมินเลื่อนขั้นแบบสายวิทยาการ (สบ 1 2 3) เป็นการประกันความก้าวหน้าโดยผลงาน และสร้างแรงจูงใจในการทำงาน

ให้อิสระลดความกดดันจากสภาพแวดล้อมเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

ส่วนสายการบังคับบัญชาในงานสอบสวนต้องทำความเข้าใจว่าทุกคนคือ “ผู้ปฏิบัติ” ไม่ใช่ ผู้บังคับบัญชา ไม่ใช่พออาวุโสสูงมักชอบวางตัวเป็นผู้บังคับบัญชาสั่งการ แต่ไม่รับคดี ทั้งที่ตำแหน่งเป็นผู้ปฏิบัติเหมือนกัน

ขณะที่ระบบและอุปกรณ์สนับสนุนงานสอบสวน มีไม่น้อยต้องควักเงินซื้อเอง ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ ปรินเตอร์ หมึก กระดาษ รวมถึง “น้ำมันรถร้อยเวร” ที่ต้องวัดดวงเอาว่าธุรการโรงพักไหนจะส่งกำลังบำรุงได้ดีกว่ากัน

เจ้าตัวยืนยันว่างานสอบสวนเป็นหลักประกันความยุติธรรมเดียวในกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจ

...

แนวคิด “ปฏิรูปตำรวจ” ด้วยการเพิ่มยอดพีระมิด ไม่ได้ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

การสร้างรากฐานที่แข็งแรงต่างหากจะทำให้องค์กรตำรวจมั่นคง.

สหบาท