ปี 2560 ประเทศไทยปลอดภัยแล้ง!
นั่นเท่ากับเป็นการ ประหยัดงบประมาณชาติในการแก้ปัญหาภัยแล้งไปได้นับหมื่นล้านบาท และแม้ว่าจะมีหลายหน่วยงานต่างพากันออกมาคาดการณ์ว่า หลังสงกรานต์ต่อเนื่องถึงเดือน พ.ค.- มิ.ย. จะเกิดภัยแล้ง แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วโอกาสเกิดแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย จะมีก็เพียงแค่ “ร้อน” จากฤดูกาลตามปกติเท่านั้น
ข้อมูลจากศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน วันที่ 21 เม.ย.2560 ปริมาตรน้ำใน 4 เขื่อนหลัก คือ ภูมิพล มี 5,824 ล้าน ลบ.เมตร มากกว่าปี 2559 ที่มี 4,285 ล้าน ลบ.เมตร สิริกิติ์ มี 5,039 ล้าน ลบ.เมตร มากกว่าปี 2559 ที่มี 3,857 ล้าน ลบ.เมตร แควน้อยฯ มี 336 ล้าน ลบ.เมตร มากกว่าปี 2559 ที่มี 277 ล้าน ลบ.เมตร และ ป่าสักฯ 285 ล้าน ลบ.เมตร มากกว่าปี 2559 ที่มี 269 ล้าน ลบ.เมตร ทั้ง 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีน้ำใช้การได้รวม 4,819 ล้าน ลบ.เมตร มากกว่าปี 2559 ที่ใช้การได้แค่ 1,973 ล้าน ลบ.เมตร ต่างกันเกือบ 3 พันล้าน ลบ.เมตร
ขณะที่ในเขื่อนอื่นๆก็มีระดับน้ำอยู่ในขั้นน่าพอใจ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกือบทั้งภาค น้ำในคูคลอง หนอง บึงและสระ มีน้ำเต็มเกือบหมด จากอิทธิพลพายุฤดูร้อนที่เกิดต่อเนื่องตั้งแต่เดือน มี.ค.-เม.ย. เช่นเดียวกับภาคเหนือ ฝั่ง จ.น่าน-ลำปาง-เชียงราย-แพร่ เรื่อยลงมาถึงเพชรบูรณ์ ด้านภาคตะวันออกกับภาคใต้ก็ไม่ต่างกัน
อย่างไรก็ตาม ยังมีจุดที่น่าห่วงคือ ปัญหาน้ำน้อยทางฝั่งตะวันตก ตั้งแต่ จ.เชียงใหม่ ตาก ลงมาจนถึงกาญจนบุรี โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่ต้นปี 2560 มีฝนตกเพียง 1-2 วันเท่านั้น! ทำให้ปริมาตรน้ำในเขื่อนแม่งัดกับเขื่อนแม่กวง น้อยลงอย่างน่าตกใจ เช่นเดียวกับเขื่อนศรีนครินทร์กับเขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี
...
สาเหตุที่ประเทศไทยฝั่งตะวันตกมีปัญหาเรื่องฝนเพราะลมตะวันตกเฉียงใต้กำลังไม่แรงพอ
อีกจุดหนึ่งที่มีปัญหาคือ จ.นครราชสีมา เขื่อนลำตะคอง มีปริมาตรน้ำน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี! คือมีน้ำกักเก็บคงเหลือเพียง ร้อยละ 25 หรือ 78 ล้าน ลบ.เมตร ใช้ได้จริง แค่ 56 ล้าน ลบ.เมตร น้อยกว่าปี 2559 ที่มีอยู่ 83 ล้าน ลบ.เมตร ส่วนเขื่อน ลำพระเพลิง ลำนางรอง ลำแซะ มูลบน ก็เหมือนกัน
แต่เมื่อมองภาพรวมทั้งประเทศก็ต้องนับว่าในปี 2560 ประเทศไทยยังไม่ถึงกับต้องเผชิญปัญหาภัยแล้ง

“ปัญหาน้ำปีนี้ อยู่ที่ฝีมือการบริหารจัดการ แม้จะมีน้ำสำรองพอเพียง แต่จะเกิดปัญหาคือ เมื่อถึงฤดูฝนแล้วฝนจะทิ้งช่วง ฝนตกใต้เขื่อนและเขื่อนภูมิพล ซึ่งแต่เดิม คาดว่าปริมาตรน้ำจะ กลับมาปกติคือในวันที่ 1 พ.ย. 2560 จะต้องมีน้ำ ในเขื่อนประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 1 หมื่นล้าน ลบ.เมตร แต่คงยาก ขณะที่เขื่อนศรีนครินทร์กับเขื่อนวชิราลงกรณ ที่ปกติจะถูกผันน้ำมาช่วยเจ้าพระยา แต่ปีนี้ก็น้ำน้อย ขณะที่ฤดูฝนปีนี้จะมาเร็ว และหมดเร็ว คือ เดือน พ.ค.สัปดาห์ที่ 2-3 น่าจะมีฝนตกลงมาแล้ว และฝนจะตกมาก แต่อาจจะตกใต้เขื่อน ทำให้เขื่อนอาจได้น้ำไม่เยอะ จากนั้นจะมีปัญหาฝนทิ้งช่วงยาวในเดือน มิ.ย.-ก.ค. ต้องระวัง ฝนจะกลับมาตกอีกครั้งช่วงปลาย มิ.ย.-ก.ย. ส่วน ต.ค.ฝนจะตกน้อยและหมดเร็ว เพราะช่วงปลายปีประเทศไทยจะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญหรือภาวะฝนน้อยอีกครั้ง เพราะฉะนั้นต้องใช้น้ำจากฤดูฝนให้เกิดประโยชน์สูงสุด” นายรอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุถึงสถานการณ์น้ำของปีนี้
การใช้น้ำอย่างระวังจึงสำคัญที่สุด เพราะน้ำสำรองที่มีอยู่จะถูกนำไปใช้ในเกือบทุกกิจกรรม แม้กระทั่งการท่องเที่ยวที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยถึง 33 ล้านคน
“ประเทศที่เจริญแล้วใช้น้ำ 80 กว่าลิตรต่อคนต่อวัน คนไทยใช้น้ำ 200 ลิตรต่อคนต่อวัน ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้น้ำประมาณ 300 ลิตรต่อคนต่อวัน เรามีน้ำเสีย 70-80 เปอร์เซ็นต์ แต่บำบัดได้เพียง 30 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือต้องใช้น้ำสำรองเข้าไปแก้ไข เป็นต้น เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการจึงสำคัญ” นายรอยล กล่าว
“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่การบริหารจัดการน้ำควรจะมีการสร้างระบบ อะไรสักอย่าง ที่มีประสิทธิภาพและความแน่นอนขึ้นมาช่วยเขื่อนในการกักเก็บและระบายน้ำ
ขณะเดียวกัน ควรจะมีมาตรการทางกฎหมายขึ้นมารองรับการใช้น้ำ รวมถึงการหาวิธีการเอาน้ำเสียมาบำบัดเพื่อให้เกิดการนำน้ำนั้นกลับมาใช้ซ้ำ
อย่าให้น้ำที่เราอุตส่าห์เปรียบว่าคือชีวิต ...ถูกทิ้งไปอย่างไร้ค่า โดยเฉพาะจากการบริหารแบบทิ้งๆขว้างๆอีกเลย..
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม