คดีความรุนแรงในครอบครัว ภรรยาโดนตามรังควานจากสามีเก่า

โจทก์หวั่นเกรงถูกจำเลยคุกคาม

ผู้ต้องหามายุ่มย่ามพยานหลักฐาน

จำเลยจิตใจบริสุทธิ์ แต่พลั้งทำผิด ไร้เงินประกัน ต้องนอนคุก

...ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป หากมี...กำไล EM !?

เพราะมันจะดักจับทุกฝีก้าว ทุกวินาที ไม่ว่าคุณจะทำอะไร อยู่ที่ไหน พวกเขารู้!

กำไล EM คืออะไร?

‘กำไล EM’ เป็นชื่อเรียกสั้นๆ ของ กําไลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring: EM) มีลักษณะคล้ายนาฬิกาข้อมือหรือสายหนังรัดข้อมือ บางประเภทเป็นสายรัดข้อเท้า ประกอบไปด้วยอุปกรณ์ส่งสัญญาณ อุปกรณ์รับ สัญญาณ จีพีเอส และศูนย์ควบคุมกลาง

โดยความพิเศษของเจ้าเครื่องมือตัวนี้ จะสามารถจับทุกความเคลื่อนไหวของผู้ที่สวมใส่ในทุกๆ ฝีก้าว ไม่ว่าจะเดินไปที่ไหนก็ตาม และที่สำคัญ เมื่อผู้ที่สวมใส่กำไล EM ก้าวเท้าเข้าไปในเขตที่ได้มีการมาร์กจุดว่าห้ามเข้า เช่น สถานบันเทิง หรืออำเภอแห่งหนึ่ง กำไล EM ก็จะสั่นขึ้นมาให้รู้ว่า ‘คุณกำลังเข้าเขตหวงห้ามแล้วนะ!’ พร้อมกันนี้ ยังส่งสัญญาณแสดงไปที่ศูนย์ควบคุม จากนั้นเพียงไม่นานก็จะมีเจ้าหน้าที่กรูกันเข้ามาหาคุณในทันที!!!

....และที่อธิบายเรื่องกำไล EM มาทั้งหมดนี้ เพื่อให้เข้าใจว่า ศาลยุติธรรมบ้านเรากำลังเตรียมนำร่องใช้เจ้ากำไล EM ให้กับจำเลยที่ได้รับคำสั่งจากศาลให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่ต้องใช้เงินประกันแม้แต่บาทเดียว ขอเพียงคุณยอมรับเงื่อนไขการสวมใส่กำไล EM นี้ คุณก็จะได้รับอิสระจากห้องขัง

...

สำหรับผู้ที่จะมาอธิบายเรื่องนี้ให้กระจ่าง คือ นายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา โดยท่านผู้พิพากษาได้อธิบายถึงที่มาในการใช้ กำไล EM ว่า เนื่องมาจาก สถิติผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 60 พบว่า มีผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการสอบสวนและการพิจารณาของศาลมีจำนวนถึง 59,070 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 289,675 คน หรือ 20% ของผู้ต้องขังทั้งหมด

โดยเชื่อว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องขังที่พฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรง แต่ไม่มีหลักทรัพย์วางประกันจึงทำให้ถูกขังระหว่างการพิจารณา แตกต่างจากผู้ที่มีฐานะดีมีหลักประกันมาวางต่อศาลสามารถไปใช้ชีวิตปกติ ประกอบอาชีพได้

ดังนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพลดความเหลื่อมล้ำในการปล่อยชั่วคราวหรือการประกันตัวผู้ต้องหา และจำเลย ในระหว่างการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีในศาล ซึ่งส่วนใหญ่ศาลจะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ศาลยุติธรรมจึงนำนวัตกรรม กำไล EM มาใช้ โดยผู้ต้องหาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เบื้องต้นจะจัดซื้อประมาณ 1,000 ชิ้น แต่ยังไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับการประเมินราคา

จุดประสงค์สำคัญ เพื่อคุ้มครองผู้เสียหาย

นายมุขเมธิน อธิบายว่า “กำไล EM ช่วยลดการหลบหนีได้บ้าง แต่ไม่มาก เพราะว่า นั่นไม่ใช่ประเด็นหลักของการป้องกันการหลบหนี จุดประสงค์หลักของ กำไล EM ต้องการคุ้มครองผู้เสียหาย ป้องกันไม่ให้ผู้ต้องหาก่อปัญหาขึ้นมาอีก เช่น คดีความรุนแรงทางครอบครัว ระหว่างสามี-ภรรยา ที่เลิกกันแล้วมีการทำร้ายร่างกายกันขึ้น เราก็จะให้ทางสามีใส่กำไล EM ไว้ และกำหนดพื้นที่ห้ามเข้าไปในอำเภอที่ภรรยาเก่าอยู่

หากสามีก้าวเข้าเขตนั้น กำไล EM จะส่งสัญญาณ GPS ที่ติดไว้ แจ้งเตือนมายังศูนย์กลางของสำนักงานศาล และเราก็จะประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการติดต่อว่า เขามีปัญหาอะไร หากฉุกเฉินจะแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น”

นอกจากนี้ การใช้ กำไล EM ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน เพราะไม่ต้องใช้ทรัพย์สินประกัน แต่จะพิจารณาประเมินความเสี่ยงเป็นหลัก และสำหรับคนที่มีเงินแต่มีความเสี่ยงสูงว่าจะคิดหนี ในระบบใหม่ก็จะไม่ได้ปล่อยตัว

...

เงื่อนไขประเมินความเสี่ยงปล่อยตัวชั่วคราว

แต่...ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะมีโอกาสสวมใส่ กำไล EM โดย นายมุขเมธิน อธิบายต่อว่า กำไล EM จะใช้ในชั้นปล่อยตัวชั่วคราวซึ่งก็คือชั้นที่ยังไม่พิพากษา โดยดูจากพฤติการณ์ของผู้ต้องหาเป็นหลัก และจะใช้ในคดีทุกประเภทที่มีผู้เสียหาย และผู้เสียหายกลัวว่าจะถูกคุกคาม โดยเจ้าหน้าที่จะต้องประเมินความเสี่ยงในการปล่อยตัวชั่วคราวก่อน เช่น มีความเสี่ยงในการหลบหนี ความเสี่ยงในการก่อเหตุซ้ำ ความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอันตรายในสังคม ความเสี่ยงที่จะเข้าไปยุ่งกับพยานหลักฐาน และประเมินจากฐานข้อมูลพฤติกรรมส่วนบุคคล

ยกเว้นความผิดในคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ และคดียาเสพติดที่มีไว้ในครอบครองและจำหน่ายจำนวนมาก หรือประเภทที่มีหมายจับซ้ำๆ กระทำความผิดซ้ำๆ เคยหลบหนีมาก่อน มีถิ่นฐานที่ไม่แน่นอน ย้ายถิ่นตลอดเวลา คนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะหลบหนีสูง

...

อย่างไรก็ดี เพื่อรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหา จะต้องอาศัยความยินยอมจากตัวผู้ต้องหาด้วยว่า ยินยอมจะให้ใส่อุปกรณ์นี้หรือไม่ หากไม่ยินยอมเจ้าหน้าที่ก็จะไม่ใส่ให้ แต่อาจจะต้องขังแทน

“กำไล EM อยู่ในขั้นทดลองใช้ใน 5 ศาล ได้แก่ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ศาลจังหวัดจันทบุรี ศาลอาญากรุงเทพใต้ ส่วนในศาลอื่นๆ ยังใช้ระบบการปล่อยตัวแบบเดิมอยู่ คือ ใช้เงินประกันตัว”

ประเมินความเสี่ยง ผุดช่องโหว่ เจ้าหน้าที่เอื้อผู้ต้องหา?

การทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ อาจเป็นช่องโหว่ให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ต้องหาหรือไม่? นายมุขเมธิน ยอมรับว่า กังวลในเรื่องดังกล่าว แต่เนื่องจากระบบประเมินความเสี่ยงจะใช้ข้อเท็จจริงเป็นหลักไม่ใช่ข้อคิดเห็น และจะมีเจ้าหน้าที่กรองอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้น ถ้าเกิดเจ้าหน้าที่จะทุจริต ต้องเป็นการโกหกในเรื่องข้อเท็จจริง คือ สอบทานแล้วว่า ความจริงเป็นอย่างอื่น ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องยาก เพราะไม่ใช่ความเห็น รวมทั้งยังมีระบบให้เจ้าหน้าที่สอบทานกันอยู่ด้วย

...

กรมคุมประพฤติ นำร่องใช้กำไล EM ที่แรก ผลลัพธ์ดี!

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวพบว่า ในประเทศไทย กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานรัฐหน่วยแรกและหน่วยเดียวที่เคยมีการนำกำไล EM มาใช้ ในส่วนของคดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วว่าได้กระทำความผิดจริง

ผู้สื่อข่าวจึงได้ติดต่อไปยัง นายพยนต์ สินธุนาวา ผอ.สำนักพัฒนาการคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม มาให้ข้อมูลถึงการใช้งานกำไล EM ด้วย

นายพยนต์ เผยว่า ทางกรมคุมประพฤติได้ทดลองใช้ กำไล EM เมื่อปี 2557 เป็นครั้งแรก โดยจัดซื้อมาเป็นระบบเช่า จำนวน 200 ชุด ผลการคุมประพฤติพบว่า ได้ผลดี 99.99% ไม่มีผู้ถูกคุมประพฤติหลบหนี ส่วนครั้งที่สอง จำนวน 3,000 ชุด พบว่า มีผู้ถูกคุมประพฤติในคดียาเสพติดขยับตัว 9-10% ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่แล้วกำไล EM ของกรมคุมประพฤติ จะทดลองใช้ในคดีที่ไม่หนักมาก และจะเป็นคดีเกี่ยวกับ พ.ร.บ.จราจร เป็นหลัก

“ผู้ต้องขังที่ติดกำไล EM ผลออกมาค่อนข้างดีมาก ตอนแรกเราไม่ชัวร์ว่า ระบบเทคโนโลยีจะรายงานฉับพลันไหม มันจะผิดเพี้ยนไหม แต่พอมาทดลองใช้ เมื่อผู้ต้องหาออกจากจุดที่เราตั้งไว้ ระบบก็จะแจ้งเตือนมาที่ศูนย์ทันที และเราก็สร้างระบบติดต่อให้ยิงกลับไปที่พนักงานที่ดูแลผู้ถูกคุม เขาก็สามารถรู้ได้ทันที ถือว่าระบบสอบผ่านแล้ว

อย่างคดีที่ศาลมีคำสั่งห้ามออกจากบ้านหลัง 4 ทุ่ม เขาแอบออกไปรับแฟนตอนตี 2 ซึ่งสัญญาณเตือนมาที่เราทันที แต่เขาก็ให้เหตุผลได้ละเอียดว่าแฟนเปลี่ยนกะกลางคืน แล้วกลับบ้านอันตรายมาก ไม่รู้จะโทรหาใครเลยออกไปรับเองรีบไปรีบกลับไม่คิดว่าจะมีเหตุ แต่กำไลก็แจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ทันที ซึ่งถือว่าได้ผลดีมาก” นายพยนต์ ยกตัวอย่าง

นักโทษคดียาเสพติด แหกกฎ ทำลายอุปกรณ์ทิ้ง

นายพยนต์ เล่าต่อว่า "กรมคุมประพฤติได้ทดลองใช้กับคดียาเสพติดด้วย โดยส่วนใหญ่มักจะแหกกฎ ตัดกำไล EM ทิ้ง ซึ่งกำไล EM ต้องติดสำหรับคนที่พร้อมที่จะได้รับอิสรภาพแต่ขอติดโซ่ตรวนอิเล็กทรอนิกส์ แต่พวกคดียาเสพติดเขาไม่ได้พร้อมที่จะรับอิสรภาพ เขาพร้อมที่จะแหกกฎตลอดเวลา คนพวกนี้ต้องส่งเข้าบำบัดก่อน แต่ครั้งที่แล้วได้ทดลองดูว่า คดีพวกนี้จะพอไหวไหม ซึ่งประเภทคดียาเสพติด 90% ขึ้นไปที่ทำลายอุปกรณ์ ก็ส่งเจ้าหน้าที่ตามจับ มีหายไปบ้างแต่ไม่มาก อย่างไรก็ดี ทำให้รู้ว่า กำไล EM ยังไม่พร้อมที่จะใช้กับผู้ถูกคุมประพฤติคดียาเสพติด

สำหรับบทลงโทษของกลุ่มแหกกฎทำลายอุปกรณ์ จะเป็นไปตามเงื่อนไขของศาลที่ตัดสิน นอกจากนี้ ยังพ่วงไปด้วยข้อหาทำลายทรัพย์สินของทางราชการเสียหายด้วย"

คุ้มไหม? กำไล 3-4 หมื่น อยู่ในตัวของผู้ถูกคุมประพฤติ

นายพยนต์ กล่าวว่า กำไล EM จะตกอยู่ที่ราคาประมาณ 3-4 หมื่นบาทต่อชิ้น โดยต้องใส่ภายใต้เงื่อนไขที่ศาลกำหนด เช่น ใส่ตลอดเวลาภายใน 2 เดือน ซึ่งในอนาคตมองว่า หากรัฐซื้อมา 3-4 หมื่นบาท และทำให้ผู้ต้องหาในคดีข่มขืน ไม่ไปก่อคดีซ้ำซากขึ้นอีก เพียงแค่นี้ก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน