ขอเท้าความไปถึงสถิติการเกิดอุบัติเหตุในประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ารถจักรยานยนต์ เป็นพาหนะที่มีการเกิดอุบัติเหตุสูงที่สุด และส่วนใหญ่ผู้ขี่มักจะเสียชีวิต จึงทำให้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างออกมารณรงค์ใส่หมวกกันน็อกตลอดมา

กระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องหมวกกันน็อกในสื่อสังคมออนไลน์ เรื่องที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจับหมวกกันน็อกที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก มอก. รวมถึงการฉาบกระจกบังลมสีปรอท ขณะที่ หลากหลายความเห็นต่างสงสัยว่าทำไมหมวกกันน็อกแบบเต็มใบราคาหลายหมื่น แต่กลับผิดกฎหมาย เพียงเพราะไม่มีตรามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และทำไมหมวกแบบครึ่งใบราคาไม่กี่ร้อยบาท หรือได้รับแจกตามกิจกรรมรณรงค์ทั่วไป จึงถูกกฎหมาย

วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอพาไปเจาะลึกถึงเรื่องคุณสมบัติของหมวกกันน็อกแต่ละแบบ และหมวกแบบไหนที่ใส่แล้วสามารถป้องกันอันตรายได้ดีที่สุด รวมถึงไขข้อกฎหมายว่าหมวกแต่ละแบบถูกหรือผิดกฎหมายอย่างไร มีคำตอบให้ด้านล่างนี้...

...

65% สองล้อคว่ำ ดับจากแผลที่ศีรษะ ทั้งด้านหน้าและท้ายทอย

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ได้เปิดเผยข้อมูลกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เกี่ยวกับสถิติการสวมหมวกกันน็อกในประเทศไทย พบว่า ประเทศไทยมีรถที่จดทะเบียนทั้งสิ้น 38 ล้านคัน แบ่งเป็นรถจักรยานยนต์ 19 ล้านคัน ซึ่งอัตราการสวมใส่หมวกกันน็อก ทั้งผู้ขี่และผู้ซ้อน รวมทั้งสิ้น 43% แบ่งเป็นผู้ขับขี่ 70% ผู้ซ้อน 19% และในเขตเมืองมีผู้ใส่หมวกกันน็อกมากกว่าในชนบท 60% ต่อ 40%

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เกิดจากยานพาหนะทุกประเภทเฉลี่ย 14,000 คน แบ่งเป็นรถจักรยานยนต์ 8,500 คนต่อปี หรือเดือนละ 112 คน เฉลี่ยวันละ 4 คน

ทั้งนี้ รถจักรยานยนต์ เป็นกลุ่มที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดถึง 80% และเสียชีวิตสูงถึง 60% ซึ่งเป็นการเสียชีวิตที่เกิดจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ 65% ตำแหน่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบริเวณหน้าผาก ศีรษะด้านบน รองลงมา คือ ด้านข้าง และด้านหลังท้ายทอย

เมื่อเกิดอุบัติเหตุศีรษะจะพุ่งไปปะทะวัตถุที่เป็นของแข็ง จะทำให้เกิดการบาดเจ็บของผู้ขี่รถจักรยานยนต์ 2 ลักษณะ ดังนี้

1. แบบแผลเปิด : มีวัตถุมากระทบที่ศีรษะและมีเลือดออก เช่น หัวแตก กะโหลกร้าว

2. แบบไม่มีแผล : เป็นการบาดเจ็บภายในสมอง ซึ่งกลไกที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บแบบนี้ คือ การที่สมองลอยอยู่ในน้ำไขสันหลังที่มีเยื่อหุ้มอยู่ เมื่อศีรษะพุ่งไปข้างหน้าและไปกระทบกับวัตถุแข็ง เช่น ต้นไม้ เสาไฟฟ้า สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ศีรษะจะเหวี่ยงตัวพุ่งไปข้างหน้าไปชนกับวัตถุ และศีรษะก็จะเหวี่ยงไปข้างหลัง สมองที่ลอยอยู่ในน้ำไขสันหลังก็จะเหวี่ยงกลับ เยื่อสมองก็จะกลับมากระแทกกะโหลกด้านหลัง

หมวกกันน็อก ลดแรงกระแทก แพทย์แนะ ใส่เต็มใบป้องกันได้ดีกว่า !?

นพ.ธนะพงศ์ ได้อธิบายคุณสมบัติของหมวกกันน็อกไว้ว่า เปลือกข้างนอกจะเป็นวัตถุแข็ง ช่วยลดแรงกระแทก และป้องกันไม่ให้มีของทิ่มเข้ามา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของหมวกกันน็อกก็คือ โฟมด้านใน จะดูดซับแรงเหวี่ยง และช่วยลดแรงเหวี่ยงของสมอง ซึ่งสาเหตุที่สมองช้ำเกิดจากแรงเหวี่ยงไปข้างหน้าแล้วเหวี่ยงกลับมาข้างหลัง เพราะฉะนั้น ถ้ามีโฟมอยู่ในหมวกกันน็อกสมองจะไม่เหวี่ยงแรง เพราะว่าแรงที่กระทบถูกกระจายออก ซึ่งแทนที่จะเอาศีรษะชนวัตถุแข็งก็เปลี่ยนเป็นหมวกกันน็อกชนแทน หมวกกันน็อกที่ชนก็จะกระจายแรงออกไปด้านข้าง โฟมข้างในก็จะดูดซับแรงช่วยลดการเหวี่ยง ทำให้ไม่มีการบาดเจ็บของสมองที่จะเหวี่ยงไปข้างหน้าและหลัง โดยหมวกตามมาตรฐานและกฎหมายจะมีอยู่ 3 ลักษณะ

1. หมวกแบบเต็มใบปิดหน้า
2. หมวกแบบเต็มใบและเปิดคาง
3. หมวกแบบครึ่งใบ

...

ทั้งนี้ นพ.ธนะพงศ์ แนะนำว่า ควรจะใส่หมวกที่เป็นแบบเต็มใบมากกว่า เนื่องจากพบว่า การบาดเจ็บไม่ได้เกิดแค่ด้านหน้าหรือด้านบนอย่างเดียว แต่ยังมีการบาดเจ็บด้านหลังที่ท้ายทอยเช่นกัน แม้เปอร์เซ็นต์การเกิดจะไม่มาก แต่ว่าการใส่หมวกเต็มใบจะปลอดภัยกว่า ส่วนหมวกครึ่งใบ ถ้าเกิดอุบัติเหตุบริเวณที่มีหมวกป้องกันอยู่ก็สามารถช่วยป้องกันได้ เพียงแต่บางครั้งศีรษะไม่ได้โดนกระแทกจากด้านบนหรือหน้าผากเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจจะมีโอกาสบาดเจ็บตรงคางหรือท้ายทอยได้เช่นกัน ฉะนั้น ดีที่สุดคือซื้อหมวกเต็มใบ

เมื่อทีมข่าวฯ ถามว่า ทำไมกฎหมายจึงไม่มีจำกัดให้ใส่หมวกเต็มใบอย่างเดียว? นพ.ธนะพงศ์ ให้คำตอบว่า ต้องยอมรับว่าการออกกฎหมายถ้าไปกำหนดว่าต้องใส่หมวกเต็มใบอย่างเดียวเลยนั้น จะเป็นการกีดกันหรือทำให้การปฏิบัติยากขึ้น เพราะหมวกครึ่งใบเป็นที่นิยมในระดับหนึ่งเนื่องจากสภาพอากาศร้อน ประชาชนก็จะรู้สึกว่าเบาและโปร่งกว่า เพียงแต่ว่าประสิทธิภาพจะสู้หมวกเต็มใบไม่ได้

ซื้อหมวกกันน็อกอย่างไรให้ปลอดภัยและถูกกฎหมาย !?

ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ให้คำแนะนำในการเลือกซื้อหมวกกันน็อกว่า

...

1. เลือกซื้อตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) โดยปัจจุบันได้ออก มอก. 369/2557 ฉบับใหม่ขึ้นมา เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 58 ซึ่งในเชิงมาตรฐานถือว่าค่อนข้างดีเป็นมาตรฐานที่มีความใกล้เคียงกับสากลอย่าง DOT ที่เป็นมาตรฐานอเมริกา และ ECE มาตรฐานยุโรป ถึงแม้อาจจะยังไม่สูงเท่าแต่ก็ใกล้เคียงกัน

2. เลือกซื้อให้พอดีกับศีรษะ เนื่องจากหมวกกันน็อกมีหลายขนาด ผู้ซื้อจะต้องลองใส่ให้พอดีและกระชับกับศีรษะ อีกทั้งควรเลือกซื้อหมวกกันน็อกแบบเต็มใบจะดีที่สุด

3. เลือกซื้อหมวกที่มีสีสว่าง เช่น สีขาว สีเหลือง เพราะหากขี่รถจักรยานยนต์ในตอนกลางคืน ก็จะช่วยให้ผู้อื่นมองเห็นผู้ขี่ได้ในระยะไกล ขณะที่คนส่วนใหญ่มักจะชอบใส่สีดำ และที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อใส่หมวกกันน็อกแล้วต้องคาดสายรัดคาง เนื่องจากพบว่าผู้ที่เสียชีวิตและใส่หมวกกันน็อกอยู่ด้วยนั้น อันที่จริงคือหมวกหลุดเพราะไม่ได้คาดสายรัดคาง

สำหรับหมวกกันน็อกที่ใช้กับพวกนักแข่ง ข้อดี คือ จะมีโฟมที่หนาและแข็งแรงกว่า จะช่วยดูดซับแรงกระแทกได้ดีกว่าหมวกกันน็อกทั่วไป แต่ข้อเสีย คือ เป็นหมวกสนามแข่งที่มีวัสดุหนาเป็นพิเศษ ทำให้การได้ยินไม่ชัดเท่าหมวกกันน็อกที่มี มอก.

...

นอกจากนี้ หมวกยังมีอายุการใช้งานประมาณ 5 ปี และเมื่อเกิดอุบัติเหตุและศีรษะไปฟาดพื้นขณะที่ใส่หมวกอยู่ควรจะเปลี่ยนหมวกกันน็อกใบนั้น เพราะว่าโฟมในหมวกกันน็อกได้ทำงานดูดซับแรงกระแทกแล้ว ทำให้โฟมในหมวกสูญเสียคุณสมบัติความยืดหยุ่น แต่ถ้าหมวกตกเฉยๆ ก็ไม่เท่าไร

“การศึกษาจากหลายงานวิจัยขององค์การอนามัยโลก พบว่า ถ้าใส่หมวกกันน็อกอย่างถูกวิธี หมวกกันน็อกจะช่วยลดการบาดเจ็บศีรษะได้ 72% ลดการเสียชีวิตได้ 39% ส่วนข้อมูลของประเทศไทยเอง หมวกกันน็อกช่วยลดการเสียชีวิตได้ 43% ในผู้ขับขี่ ลดการเสียชีวิตของผู้ซ้อนได้ 58%” นพ.ธนะพงศ์ ระบุ

บก.จร. เผย จับแน่! หากไม่ใส่หมวกกันน็อก เรื่องอื่นยังเล็กน้อย

ด้าน พล.ต.ต.อภิสิทธิ์ เมืองเกษม ผู้บังคับการตำรวจจราจร เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า หมวกกันน็อกแบบที่ถูกกฎหมาย คือ แบบครึ่งใบ แบบเต็มใบเปิดหน้า แบบเต็มใบปิดหน้า และเป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งของเดิมบังลมที่ปิดหน้าจะต้องโปร่งใส แต่ปัจจุบันกำลังแก้ไขเปลี่ยนเป็นให้บังลมมีแสงผ่านได้ไม่น้อยกว่า 80% และหากแสงผ่านน้อยกว่า 80% ก็ต้องไม่น้อยกว่า 50% ซึ่งประเภทนี้ใช้ได้เฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น นอกจากนี้ จะต้องมีสายรัดคางและมี มอก. ด้วย

ทั้งนี้ หากซื้อหมวกจากต่างประเทศที่มีการรับรองมาตรฐานเป็น DOT หรือ ECE ผู้นำเข้าต้องการขายในประเทศไทยก็ต้องผ่านการรับรองจาก มอก. ก่อน ซึ่งในความจริงเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้เคร่งครัดถึงขนาดนั้น เพียงแต่ว่าผู้ที่นำเข้ามาควรจะไปสอบเทียบกับมาตรฐานอุตสาหกรรมของไทย เหมือนกับอยู่ในเมืองไทยก็ต้องใช้มาตรฐานของไทย แต่ในอนาคตก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขก็ได้ เช่นอาจจะรับรองว่ามาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานที่ในเมืองไทยสามารถยอมรับได้ แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีการกำหนดไว้

“เหตุผลที่ตำรวจเรียกผู้ขี่ที่ใส่หมวกกันน็อกโดยบังลมมืดทึบนั้น ไม่ใช่กลัวเรื่องอาชญากรรม เพราะมันเป็นเรื่องรองเป็นเจตนาแฝง แต่ที่บังลมของหมวกกันน็อกก็เหมือนกับกระจกหน้าของรถยนต์ เกี่ยวกับเรื่องทัศนวิสัยในการขับขี่มากกว่า ไม่เช่นนั้น จะมีการห้ามใช้บังลมที่แสงผ่านน้อยกว่า 80% ทำไม” ผู้บังคับการตำรวจจราจร กล่าว

สิ่งที่คนซื้อหมวกกันน็อกต้องการ คือ ความปลอดภัย

ขณะที่ นายพีรวัศ กุลนันท์วัฒน์ หรือ แอมป์ นักแสดงและพิธีกรชื่อดัง ผู้หลงรักมอเตอร์ไซค์คันใหญ่อย่าง TRIUMPH ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เกี่ยวกับเรื่องหมวกกันน็อกมาตรฐาน มอก. และมาตรฐานต่างประเทศ โดยหนุ่มแอมป์ มองว่าเป็นปัญหาสัมปทานมากกว่า เป็นเรื่องของผลประโยชน์ และหมวกบางหมวกได้ มอก. เวลาล้มก็ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตเหมือนกัน แต่หากมีการรับรองมาตรฐาน มอก. นั้น ช่วยการันตีความปลอดภัย

“บางคนก็ซื้อมาจากอเมริกา แม้ว่าเมืองไทยจะไม่รับรองมาตรฐาน แต่เมืองนอกมีการรับรองมาตรฐานอยู่ ซึ่งเมื่อถามว่าคนที่ซื้อหมวกกันน็อกเขาต้องการอะไร สิ่งที่เขาต้องการคือ ความปลอดภัย และเมื่อรถล้มหมวกที่เขาซื้อมันจะช่วยป้องกันเขาได้ เพราะว่า หมวกมาตรฐาน มอก. กับหมวกมาตรฐานของเมืองนอกนั้นมีความแตกต่างกันอยู่แล้วในเรื่องของวัสดุที่ดีกว่า มีความปลอดภัย แน่นหนามากกว่า ก็คล้ายกับแบรนด์กระเป๋า ซึ่งกระเป๋าก็เหมือนๆ กัน แต่วัสดุที่ใช้ต่างกัน และมันก็ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ใช้มากกว่า” นักแสดงและพิธีกรชื่อดัง ระบุ

นอกจากนี้ หนุ่มแอมป์ ยังเห็นด้วยเรื่องห้ามใช้บังลมฉาบปรอทที่บดบังวิสัยทัศน์ แต่ก็สามารถใช้บังลมโปร่งใสและใส่แว่นกันแดดแทนก็ได้ เมื่อไม่มีแดดค่อยถอดแว่น ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ขับขี่

ไม่ว่าหมวกจะถูกจะแพง จะได้มาตรฐานการันตีความปลอดภัยใดๆ ก็ตาม อย่าลืมสิ่งสำคัญที่สุด นั่นคือ ความไม่ประมาท!