ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ กฟผ. จ่ายค่าชดเชย 25 ล้าน ไม่รวมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ปล่อยมลพิษจนล้มป่วย-เสียชีวิต หลังต่อสู้มายาวนาน 11 ปี...

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 25 ก.พ.58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลปกครองเชียงใหม่ ประชาชนจำนวน 200 คน จาก อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ได้เดินทางมารับฟังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาคดีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง กรณีละเมิดจากการปล่อยมลพิษจากฝุ่นละอองและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ สร้างปัญหาให้ชาวบ้านล้มป่วยและเสียชีวิต คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากจากกลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยสิทธิ์แม่เมาะ ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองและผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ทางเครือข่ายผู้ป่วยฯ ได้ฟ้องร้อง กฟผ.แม่เมาะ จนกระทั่งศาล ปกครองสูงสุดจังหวัดเชียงใหม่ ฟังคำพิพากษา สิ้นสุดคดีในช่วงบ่ายวันนี้ ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ดังกล่าว

ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาคดี กรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง ผู้ถูกฟ้องคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผู้ฟ้องคือตัวแทนชาวบ้านคือนายคำ อินจำปา ตัวแทนชาวบ้าน ต.นาสัก ต.สบป้าด ต.บ้านดง และ ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง โดยมีนายธีระศักดิ์ ชึขุนทด ทนายความชาวบ้านเหยื่อโรงงานไฟฟ้าแม่เมาะลำปาง นำชาวบ้าน อ.แม่เมาะ เดินทางเข้ามารับฟังการพิพาษาครั้งนี้ หลังจากศาลปกครองเชียงใหม่ได้พิจารณาใช้เวลานานกว่า 1.30 ชม.

ทั้งนี้ นายธีระศักดิ์ ชึขุนทด ทนายความเหยื่อแม่เมาะ ภายหลังออกจากห้องพิจารณา เปิดเผยว่า ในวันนี้คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ยืนตามคำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ.2548 ชาวบ้านทั้งหมดกว่า 477 คน มีผู้ได้รับชดค่าเสียหายจำนวน 131 ราย รวมถึงผู้เสียชีวิตไปแล้วด้วย ส่วนคดีความทั้งหมด ที่หมดอายุความ ที่เป็นผู้ฟ้องหรือชาวบ้านนั้น บางส่วนที่ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือทางศาลถือว่ายังมีสิทธิ์ โดยจะนำเงินที่ได้จากการฟ้องร้องครั้งนี้นำไปหักในส่วนต่อค่าธรรมเนียมศาลที่ขาดอายุความก็จะสามารถยื่นขอความช่วยเหลือได้ต่อไป อย่างไรก็ตามถือว่าน่าพอใจถึงแม้ว่าจะมีบางรายได้ค่าชดเชยจำนวนมาก บางรายได้ค่าชดเชยจำนวนน้อยก็ตาม ซึ่งเงินที่โรงงานไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต้องชดใช้รวมจำนวน 25 ล้าน ไม่รวมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี ได้ต่ำสุดรายละ 10,000 บาท สูงสุด 240,000 บาท

...

ด้านนางปราณี อินปัญโย อายุ 43 ปี ชาวบ้านสบกลาง ม.6 ต.นาสัก อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง กล่าวว่า ตนมาเป็นตัวแทนพ่อ คือนายสงวน วงค์ดี อายุ 64 ปี ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วด้วยโรคมะเร็งสมองและไซนัส ผลการพิจารณาคดีครั้งนี้ครอบครัวตนได้รับเงินชดเชยเพียง 200,000 บาท ถือว่าไม่พอกับการที่ครอบครัวต่อสู้มานาน และต้องย้ายบ้านออกจากพื้นที่ อ.แม่เมาะ ไปอยู่ที่อื่น ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวไม่พอในการดำเนินการแน่นอน ยังไม่พอกับเงินรักษาพ่อขณะที่ยังมีชีวิตอยู่เลย ถือว่าไม่ยุติธรรมสำหรับครอบครัวตนเอง ก็ยังไม่รู้ว่าจะต่อสู้ต่อไปอย่างไรดี นางปราณี กล่าว

อย่างไรก็ตาม นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าวว่า พอใจในคำตัดสินของศาล แม้ว่าบางคนจะได้ค่าเยียวยาน้อยไปหน่อยก็ตาม ซึ่งเราได้ต่อสู้มาด้วยระยะเวลาที่ยาวนานถึง 11 ปี ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน อย่างน้อยก็ได้พิสูจน์ให้สาธารณชนได้รู้ว่า พวกเราได้รับผลกระทบจริง ต่อจากนี้ไปจะทำให้เป็นต้นแบบชุมชนอื่น ที่จะต้องลุกต่อสู้เพื่อปกป้องตัวเอง และกรณีดังกล่าวจะเป็นตัวอย่างให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตระมัดระวังในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหิน ได้คำนึงถึงความสำคัญต่อไป.