ดีเอสไอคุมตัว 3 คนไทยกรรมการบริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ ฝากขังศาลอาญา ไม่ค้านประกันตัว รอตรวจสอบคำให้การและเส้นเงินที่เอามาซื้อหุ้น เบื้องต้นพบบางคนมีเงินในบัญชีหลักหมื่นบาท ทนายยื่นปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นศาล มีคำสั่งอนุญาตด้วยหลักทรัพย์คนละ 3 แสนบาท ด้านจุดเกิดเหตุอาคาร สตง.ถล่ม ทีมกู้ภัยยังลุยค้นหาร่างผู้เสียชีวิตต่อเนื่องเป็นวันที่ 26 พบร่างผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 4 ศพ รวมเป็น 51 ศพ ผบก.พฐก.เผยข้อตกลง ถ้าพบชิ้นส่วนร่างส่วนใหญ่แต่ไม่ครบ จะมอบร่างให้ญาตินำกลับทำพิธีทางศาสนา กระทรวงแรงงานจ่ายเงินเยียวยาผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวแล้วกว่า 38 ล้านบาท ด้านปลัด อว.โต้ข้อกล่าวหา นศ.จีนลงทะเบียนเรียนในไทย แต่ปล่อยออกไปทำงานทั่วประเทศ มจร แจงไม่มีนิสิตจีนต่อวีซ่าหัวละหมื่น
กรณีสืบสวนคลี่คลายคดีอาคารกำลังก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่ม หลังเหตุแผ่นดินไหว ทำให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหายจำนวนมาก หลังเกิดเหตุเมื่อวันที่ 28 มี.ค. การรื้อซากหาร่างผู้เสียชีวิตยังไม่เสร็จสิ้น ขณะที่การสืบสวนสาเหตุการถล่มโดย 2 หน่วยงาน ประกอบด้วย กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เร่งดำเนินการรวบรวมหลักฐานดำเนินการทุกความผิด เบื้องต้นมีความคืบหน้าการสอบสวนคดีนอมินีของดีเอสไอ ส่งกำลังจับกุมตัวนายชวนหลิง จาง กรรมการบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ที่โรงแรมย่านรัชดาภิเษก ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 22 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานการสอบสวนปากคำ 3 ผู้ต้องหานอมินีชาวไทย ประกอบด้วย นายประจวบ ศิริเขตร อายุ 53 ปี นายมานัส ศรีอนันท์ อายุ 62 ปี และนายโสภณ มีชัย อายุ 66 ปี กรรมการบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ว่า คืนที่ผ่านมาถูกสอบสวนนานกว่า 10 ชม. เสร็จสิ้นเวลาประมาณ 22.00 น. ผู้ต้องหาทั้ง 3 คนยังไม่ให้ความร่วมมือ ให้การปฏิเสธ อ้างว่าไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นแทน หลังจากนั้นควบคุมตัวทั้ง 3 คนไปที่ห้องขังชั้น 6 อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ เตรียมนำตัวไปฝากขังต่อศาลอาญาผัดแรก ทั้ง 3 คนไม่ได้มีการยื่นขอประกันตัวในชั้นสอบสวน รวมถึงท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนคดีพิเศษไม่ได้คัดค้านประกันตัว เนื่องจากผู้ต้องหาเดินทางเข้ามอบตัวเอง
...
ต่อมาเวลา 10.20 น. เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษควบคุมผู้ต้องหาทั้ง 3 คน ออกจากอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษไปฝากขังที่ศาลอาญา ทั้งหมดถูกใส่กุญแจมือและใช้ผ้าคลุมศีรษะสภาพอิดโรย ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามเรื่องคดี แต่ทั้งหมดก้มหน้าไม่ตอบ เจ้าหน้าที่ ปพ.คุมตัวขึ้นรถตู้อเนกประสงค์ 2 คัน ทะเบียน ฮม 1251 กรุงเทพมหานคร และทะเบียน ฮม 1247 กรุงเทพมหานคร ออกจากอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษไปยังศาลอาญาทันที
ที่ศาลอาญา พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ คุมตัวนายประจวบ ศิริเขตร นายมานัส ศรีอนันท์ และนายโสภณ มีชัย ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาคดีที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 2542 หรือคดีนอมินี มายื่นคำร้องฝากขังต่อศาลครั้งแรก ชั้นสอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ ผู้ร้องขอฝากขังผู้ต้องหาเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.ถึงวันที่ 3 พ.ค. เนื่องจากต้องสอบพยานเพิ่มเติมอีก 20 ปาก รอผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรและอื่นๆ ศาลพิจารณาคำร้องแล้วอนุญาตให้ฝากขังได้ ต่อมาทนายความของผู้ต้องหาทั้งสาม ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดขอปล่อยชั่วคราว ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาไป ตีราคาประกันคนละ 3 แสนบาท
ด้าน พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า พนักงานสอบสวนสอบปากคำ 3 ผู้ต้องหาเสร็จสิ้นแล้ว ภาพรวมมีผู้ต้องหา 1 คนคือ นายโสภณ มีชัย ที่ยอมให้การ ขณะที่อีก 2 คนคือนายประจวบ ศิริเขตร และนายมานัส ศรีอนันท์ แจ้งความประสงค์ขอชี้แจงเป็นเอกสารภายใน 30 วัน การชี้แจงผ่านหนังสือจะไม่มีผลต่อรูปคดี เพราะผู้ต้องหาย่อมให้การอย่างไรก็ได้ แต่ทุกคำให้การจะถูกนำมาพิสูจน์ทั้งหมด ประเด็นที่ต้องชี้แจงเพิ่มเติมคือ การถือหุ้น กระบวนการเปลี่ยนแปลงตัวกรรมการและผู้ถือหุ้น รวมถึงที่มาของเงินที่ใช้ลงทุน และอำนาจการบริหาร
“อย่างไรก็ตาม ระหว่างข้อมูลที่ผู้ต้องหาให้การกับข้อมูลที่ดีเอสไอรวบรวมมา พบว่าบางส่วนไม่ตรงกัน เราสอบถามประเด็นไม่ยอมเข้ามาพบดีเอสไอก่อนมีหมายจับ แต่พวกเขาไม่ตอบ แจ้งเพียงว่าพอเห็นหมายจับจึงเข้ามาพบพนักงานสอบสวน ไม่ได้ให้ข้อมูลว่าไปอาศัยอยู่ด้วยกันหรือไม่ สำหรับความสัมพันธ์ระหว่าง 3 กรรมการชาวไทยและชาวจีน 2 คนคือนายบินลิง วู และนายชวนหลิง จาง ให้ข้อเท็จจริงว่า รู้จักกัน โดยเฉพาะในส่วนของนายประจวบ และนายมานัสที่ทำงานกับบริษัทอื่นที่มีคนจีนเกี่ยวข้อง ไม่ได้เริ่มต้นจากการเข้ามาเกี่ยวข้องในบริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ แต่ไปเริ่มต้นกับบริษัทอื่นมาก่อน ถ้าจำไม่ผิดคือบริษัทสันติภาพ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด” โฆษกดีเอสไอกล่าว
พ.ต.ต.วรณันกล่าวต่อว่า ส่วนใครเป็นคนชวนเข้ามาเป็นกรรมการและถือหุ้น ในคำให้การกล่าวอ้างของนายโสภณ มีชัย ระบุว่า นายประจวบและนายมานัสคือผู้ชักชวน แต่คำให้การของผู้ต้องหาต้องนำมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงอีกครั้ง ในการสอบปากคำนายโสภณ มีชัย เจ้าตัวตอบเอง บางครั้งทนายความช่วยอธิบายคำถามบ้าง เพราะบางประเด็นอาจเข้าใจไม่ละเอียด นอกจากนี้ในประเด็นการถือหุ้นของทั้ง 3 คน พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 61-68 สลับเพิ่มขึ้นลดลง ตอนนี้เราแบ่งเงินที่เกี่ยวข้องกับบริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ ออกเป็น 2 ส่วนคือ เงินลงหุ้นและเงินที่กู้ยืมมาทำธุรกิจ ตรงส่วนนี้จะไล่ย้อนหลังตรวจสอบเส้นทางการเงิน จะสอดคล้องกับสัดส่วนการถือหุ้นหรือไม่ ต้องให้เวลาพนักงานสอบสวนตรวจสอบก่อน เพราะเพิ่งได้รับข้อมูล ส่วนรายได้และเงินคงค้างในบัญชีของทั้ง 3 คน ดีเอสไอพอมีข้อมูล เป็นเงินไม่เยอะ บางคนเหลือเงินติดบัญชีแค่หลักหมื่นบาท
ส่วนความคืบหน้าด้านการปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหายจุดเกิดเหตุอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินถล่ม เข้าสู่วันที่ 26 เจ้าหน้าที่กู้ภัย USAR จากหลายหน่วยงานยังระดมกำลังค้นหาผู้สูญหายที่ยังติดอยู่ในซากตึก สตง.อย่างต่อเนื่อง ใช้เครื่องจักรกลหนักเจาะสกัดแผ่นคอนกรีตและโกยเหล็กเส้น สลับกับทีมค้นหาเดินเท้าพร้อมอุปกรณ์ตัดเหล็กเส้นที่ถักทอในแผ่นคอนกรีตเพื่อรื้อซากและกองดินขนาดใหญ่ออก ต่อเนื่องตลอดทั้งคืน โดยเฉพาะบริเวณโถงบันไดโซนซี สามารถกู้ร่างผู้เสียชีวิตบริเวณช่องบันไดหนีไฟได้อีก 2 ร่าง แต่ไม่ทราบเพศ เวลา 20.25 น. และ 22.01 น. วันที่ 21 เม.ย.ตามลำดับ รวมทั้งพบชิ้นส่วนอวัยวะ เช่น กระดูก ชิ้นเนื้อ และเส้นผมอีก 3 จุดบริเวณใกล้เคียงกัน
...
ต่อมาเวลา 10.50 น. ที่กองอำนวยการร่วมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์สำนักงานเขตจตุจักร นายสุริยชัย รวิวรรณ ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. (สปภ.กทม.) และ พล.ต.ต.วาที อัศวุตมางกูร ผบก.พฐก. แถลงถึงความคืบหน้าปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหายและการตรวจพิสูจน์ยืนยันตัวตนผู้เสียชีวิตเหตุการณ์ตึก สตง.ถล่ม
นายสุริยชัย รวิวรรณ ผอ.สปภ.กทม. กล่าวว่า จากการทำงานตลอดคืนวันที่ 21 เม.ย.จนถึงเช้าวันนี้ สามารถลดความสูงซากอาคารโซนเอและดีเหลือเพียง 9.78 เมตร ส่วนโซนบีและซีเหลือเพียง 8.58 เมตร แต่พื้นที่ปฏิบัติงานโดยรวมอยู่ที่ความสูงประมาณ 7 เมตร ส่วนการค้นหาร่างผู้สูญหายเมื่อช่วงค่ำวันที่ 21 เม.ย.พบร่างผู้เสียชีวิตค่อนข้างสมบูรณ์ 2 ร่าง บริเวณช่องบันไดโซนซี และยังพบชิ้นส่วนอวัยวะอีก 3 ชิ้น ล่าสุดเวลา 11.00 น.พบผู้เสียชีวิตอีก 2 ร่าง บริเวณช่องบันไดโซนซีจุดเดียวกับที่พบร่างผู้เสียชีวิตก่อนหน้านี้
“ส่วนการดำเนินการขนย้ายชิ้นส่วนซากตึก สตง.ขณะนี้ขนออกไปได้ 221 เที่ยว แยกชิ้นส่วนระหว่างปูนกับเหล็กอย่างชัดเจน ตอนนี้ถ้าดูจากตัวซากอาคารที่ความสูงลดลง ด้านข้างบางลง ระยะเวลาที่เหลืออีก 8 วันสามารถเคลียร์ซากอาคารทั้งหมดได้ถึงชั้น 1 ตามแผน เนื่องจากตอนนี้เพิ่มจำนวนรถแบ็กโฮเป็น 28 คัน สลับหมุนเวียนทำงานตลอดทั้งคืน” นายสุริยชัยกล่าว
ด้าน พล.ต.ต.วาที อัศวุตมางกูร กล่าวว่า เรื่องศพผู้เสียชีวิตที่ยังตกค้างอยู่ จำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตยืนยันทางการอยู่ที่ 51 ศพ นิติเวชส่งมอบร่างให้ญาติผู้เสียชีวิตไปแล้ว 37 ศพ วันนี้ในที่ประชุมกองอำนวยการร่วมฯมีมติส่งร่างผู้เสียชีวิตให้ครอบครัวอีก 5 ศพ นอกจากนั้นยังมีชิ้นส่วนอวัยวะผู้เสียชีวิตอีก 100 กว่าชิ้นส่วน เมื่อนำชิ้นส่วนที่พบมาประกอบร่างพิสูจน์อัตลักษณ์ยังไม่ครบร่างสมบูรณ์ ที่ประชุมมีความเห็นว่า ถ้ากรณีนำชิ้นส่วนอวัยวะมารวมกันแล้วพบว่า สามารถยืนยันตัวบุคคลเสียชีวิตได้แน่นอน เช่น พบช่องอก แนวสันหลังหรือลำตัว แต่ขาดมือเท้าไปบางส่วน จะพิจารณาส่งร่างผู้เสียชีวิตให้ครอบครัวไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนายังภูมิลำเนา
...
“สำหรับร่างผู้เสียชีวิตที่ตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์ยืนยันบุคคลได้แล้ว แต่อวัยวะยังไม่ครบ ที่นิติเวชมีทั้งหมด 49 ราย ใกล้เคียงกับยอดที่ทีมกู้ภัย USAR กู้ร่างผู้เสียชีวิตมาได้ 51 ศพ ถือว่านิติเวชสามารถส่งคืนร่างผู้เสียชีวิตให้ครอบครัวลุล่วงทั้งหมด 99 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการเก็บพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บหลักฐานเพิ่มเติม มีทีมเจ้าหน้าที่กรมโยธาธิการและผังเมืองและกระทรวงอุตสาหกรรมรวมทีมเข้าพร้อมกัน ส่วนสาเหตุที่ทำให้ตึกถล่มเกิดจากอะไร ตอนนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบ หากพยานหลักฐานยังไม่ครบ เราไม่สามารถตอบได้ว่าสาเหตุทั้งหมดเกิดจากอะไร” ผบก.พฐก.กล่าว
ที่กระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยความคืบหน้าการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุอาคาร สตง.ถล่มว่า จากข้อมูลที่ได้รับการยืนยันแล้ว มีผู้ได้รับผลกระทบและผู้เสียชีวิตทั่วประเทศกว่า 50 คน เฉพาะตึก สตง.กว่า 40 คน กระทรวงแรงงานจ่ายเงินชดเชยเยียวยาผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 38 ล้านบาท ส่วนผู้บาดเจ็บสำนักงานประกันสังคมจะดูแลค่ารักษาพยาบาลจนสิ้นสุดกระบวนการรักษา กรณีรักษาในโรงพยาบาลรัฐไม่จำกัดวงเงิน หากรักษาในโรงพยาบาลเอกชนเพดานค่ารักษาสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนผู้ว่างงานยังหางานไม่ได้สามารถยื่นคำขอรับเงินชดเชยได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาทั่วประเทศ
กรณีนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคประชาชน ตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุที่ตึก สตง.ถล่มว่า พบเบาะแสนำวิศวกรต่างชาติมาทำงานโดยไม่ได้ผ่านการควบคุมจากสภาวิศวกร ใช้มหาวิทยาลัยศูนย์เหรียญที่อยู่ในทุนของคนจีนออกวีซ่านักศึกษา เข้ามาเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์และทำงาน นายศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดเหตุตึกถล่มมีข่าวคนจีนได้วีซ่านักเรียนมาทำงาน อว.สอบถามข้อมูลไปที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) แล้วเมื่อวันที่ 8 เม.ย. เพื่อขอทราบรายชื่อหลักสูตรและสถาบันอุดมศึกษาที่มี นศ.ต่างชาติได้รับวีซ่า ED plus แต่ไปทำงานในภาคเอกชน
...
“ส่วนกรณีคนจีนที่ไปหยิบแฟ้มออกจากบริเวณตึกถล่มคือ นายจิน หยู (Jin Yue) ได้วีซ่านักศึกษามาเรียนที่วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ซึ่งเป็นข้อมูลจาก สตม. อว.สอบถามไปยัง มจร รายงานกลับมาว่า บุคคลดังกล่าวสมัครเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 28 ก.พ.67 ถึงวันที่ 31 มี.ค.68 พ้นสภาพเมื่อวันที่ 1 เม.ย.68 ระหว่างเรียนตรวจสอบรายชื่อผู้เรียนต่อเนื่อง และรายงานต่อ ตม.ลำพูนเป็นประจำทุกสัปดาห์ ตม.ลำพูนเข้าตรวจสอบมาตรฐานการจัดการหลักสูตรและมีหลักฐานยืนยันการตรวจสอบอย่างชัดเจน เพื่อให้การจัดการนักศึกษาต่างชาติเป็นไปตามกฎหมาย” ปลัด อว.กล่าว
นายศุภชัยกล่าวอีกว่า มจร ยืนยันว่าไม่มีการต่อวีซ่าให้ผู้เรียนหรือเรียกรับเงินขอเปลี่ยนหรือขอวีซ่าจากชาวต่างชาติ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเข้าไซต์งานทั่วประเทศของคนจีนหรือชาวต่างชาติ อย่างไรก็ตาม อว.มีหนังสือถึง มจร และมหาวิทยาลัยเอกชนที่คนจีนถือหุ้นทั้ง 3 แห่ง ให้รายงานข้อมูลนักศึกษาจีนที่มาเรียน ทั้งจำนวน สาขาที่เรียน เวลาที่ใช้เรียนจนจบการศึกษา และวีซ่านักเรียนที่ได้รับ ส่งรายละเอียดให้ อว.ภายใน 1 สัปดาห์
ส่วนพระเทพวัชรสารบัณฑิต รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ ราชวิทยาลัย (มจร) กล่าวว่า วิทยาลัยสงฆ์ลำพูนให้ฝ่ายบ้านเมืองทั้งปกครองและตำรวจเข้ามาดูข้อเท็จจริง ตรวจสอบแล้วเบื้องต้น ทำรายงานเสนอข้อเท็จจริงให้ทุกภาคส่วนรับทราบแล้ว ขอยืนยันว่า วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน มจร ไม่มีนิสิตจีนที่ไม่ได้เรียนจริง แต่อาศัยช่องทางนี้ทำผิดกฎหมาย ขอยืนยันในความบริสุทธิ์การจัดการศึกษาของวิทยาลัยสงฆ์ลำพูน ไม่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นแน่นอน
เวลา 18.00 น. ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์สำนักงานเขตจตุจักร สรุปยอดความคืบหน้าภารกิจกู้ภัยคนงานผู้สูญหายจากซากอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหลังใหม่พังถล่ม ณ เวลา 18.00 น. ของวันที่ 22 เม.ย. ว่า มีจำนวนผู้ประสบเหตุ 103 ราย แยกเป็น ผู้เสียชีวิต 53 ราย ผู้บาดเจ็บ 9 ราย และยังมีผู้สูญหายอยู่ระหว่างค้นหา 41 ราย
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่