ความเสมอภาคระหว่างเพศ "การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี" เป็นหลักการสำคัญที่ทั่วโลกกำหนดร่วมกัน "ประเทศไทย" ในฐานะสมาชิกสหประชาชาติก็ได้ร่วมรับรองให้คำมั่นโดยการภาคยานุวัติ (accession) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบมาตั้งแต่ปี 2528
นับว่าเป็น “ข้อผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ” โดยรัฐมีพันธกิจในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ “ส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศ” แล้วประเทศไทยยังรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) ซึ่งเป็นวาระแห่งการพัฒนาของโลกระหว่างปี ค.ศ.2016-2030
โดยความเสมอภาคระหว่างเพศ และประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิง-เด็กหญิงถูกบรรจุในเป้าหมาย SDGs ทำให้ประเทศไทยวางกรอบหลักการสิทธิและความเสมอภาคระหว่างบุคคลในรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาโดยตลอด
แล้ว “รธน.2560” ก็เน้นย้ำความเท่าเทียมทางเพศ รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กำหนดห้ามมิให้เลือกปฏิบัติอาศัยเหตุจากเพศของบุคคล การคุ้มครองสิทธิเด็ก เยาวชนสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส
แม้กฎหมายจะรับรอง “บางกลุ่มก็ยังเข้าไม่ถึงโอกาสการพัฒนา” เพียงแค่สังคมมีเจตคติต่อความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยเฉพาะผู้บริหารหน่วยงานผู้กำหนดนโยบาย ทำให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว สถาบันพระปกเกล้า UN Women ได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมความเสมอภาคระหว่างเพศสำหรับผู้บริหารรุ่น 2 (GGE2) ขึ้น
...
เพื่อเสริมสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อความเสมอภาคระหว่างเพศและการอยู่ร่วมกัน ได้บรรยายหัวข้อวิถีประชาธิปไตยที่คำนึงถึงหลักความเสมอภาคเท่าเทียมว่า
รัฐธรรมนูญกำหนดเกี่ยวกับความเสมอภาคเป็นหลักหนึ่งในการปกครอง “ระบอบประชาธิปไตย” ทั้งยังอธิบายการเลือกปฏิบัติมีเหตุมาจากความแตกต่างของแต่ละบุคคล เช่น เพศ อายุ อันเป็นการรับรองสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนไว้ในรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด “กฎกติกาอื่นที่รัฐ” ออกมาจะขัด หรือแย้งไม่ได้
เพียงแต่ความเสมอภาค หรือความเท่าเทียมอาจไม่เท่ากันแล้วทุกคนสามารถปฏิบัติที่มีความแตกต่างกันได้ตราบเท่าที่อธิบายให้คนในสังคมยอมรับผลเหตุนั้นที่แตกต่างกันออกไปตามกาลเวลาแต่ละยุคสมัย
อย่างสมัยก่อน “ผู้มีแนวคิดรักร่วมเพศถูกมองเป็นความผิดปกติทางจิต” พอผ่านมาถึงปัจจุบันกลายเป็นเรื่องสิทธิ และเสรีภาพที่เลือกเกิดไม่ได้แต่เลือกใช้ชีวิตอยู่ในสังคม หรือประเทศให้การยอมรับกับเรื่องนี้ได้เหมือนประเทศไทยที่แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2567 หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีผลใช้บังคับ 22 ม.ค.2568
ดังนั้นความเสมอภาคในทางกฎหมายคือ “สิทธิเสรี” ที่ข้อเท็จจริงเดียวกันปฏิบัติกฎเกณฑ์เหมือนกัน ถ้าข้อเท็จจริงที่ต่างกันมีสิทธิปฏิบัติด้วยกฎเกณฑ์ต่างกันสุดแท้แต่จะอธิบายเข้าเรื่องอะไร เช่น “รถไฟเลดี้โบกี้เฉพาะผู้หญิง-เด็ก” ที่ห้ามชายขึ้น ป้องกันการคุกคามทางเพศเป็นกฎเกณฑ์แตกต่างกันที่มีความเสมอภาคถ้าสังคมยอมรับ
ถ้ามาดูตาม “สิทธิและเสรีภาพปวงชนชาวไทย” ตัวบทกฎหมายรับรองความเสมอภาคห้ามเลือกปฏิบัติเฉพาะกรณีไม่เป็นธรรม แต่การเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรมทำได้ตาม ม.27 วรรค 3 มาตรการรัฐกำหนดส่งเสริมบุคคลใช้สิทธิ หรือเสรีภาพได้เช่นบุคคลอื่นเพื่อคุ้มครองอำนวยความสะดวกให้เด็กสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส
อย่างเช่นจุดจอดรถคนพิการแม้เลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่มก็ไม่ขัดต่อความเสมอภาค เพราะเป็นการเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรมให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตปกติได้ ย่อมไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
ถ้าเอาจริงๆ ความไม่เสมอภาคทางเพศในสังคมไทยยังมีอยู่ แม้ดูเหมือนเปิดกว้างแต่ก็พบความเหลื่อมล้ำระหว่างชาย-หญิงและกลุ่มความหลากหลายทางเพศ เกิดช่องว่างความไม่เท่าเทียมไม่เป็นธรรมหลายด้านกระทั่ง “รธน.2560 ม.90 วรรค 3” กำหนดให้ทำบัญชีรายชื่อผู้สมัคร สส.คำนึงถึงความเท่าเทียมกันระหว่างชาย-หญิง
สิ่งนี้เป็นการเยียวยา “ความไม่เสมอภาค ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีที่นั่งในสภาฯ” ทำให้การเหยียดระหว่างเพศชายและเพศหญิง
ลดน้อยลงในปัจจุบัน แต่ลึกๆผู้ชายมักมีโอกาสเข้าไปนั่งในสภาฯมากกว่าผู้หญิงเช่นเดิม
เรื่องนี้ไม่เป็นตามนั้นเสมออย่างยุคหนึ่ง “โรงเรียนนายร้อยเคยรับผู้หญิงเข้าเรียน” แต่ปัจจุบันถูกยกเลิกหายไปทั้งที่หากมีความเสมอภาคกันตาม รธน. “ผู้หญิง” ย่อมต้องสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยได้ดังเดิม
หากเปรียบเทียบกับ “หลักความเท่าเทียมในต่างประเทศ” อย่างสหรัฐฯเป็นประเทศประชาธิปไตย มีหลักการปกครอง “ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย” ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดแล้วมีหลักความเสมอภาคเป็นหลักที่ยิ่งใหญ่ของประเทศ “แต่ก็มีความไม่เสมอภาค” โดยเฉพาะการเหยียดผิวสีค่อนข้างรุนแรง
ก่อนหน้านี้ “โดนัลด์ ทรัมป์” เคยรณรงค์หาเสียงโน้มน้าวจะเปลี่ยนการเมือง มุ่งปกป้องผลประโยชน์คนขาว จนชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งนี้เลือกตั้ง 2024 “ทรัมป์” ออกนโยบาย America First จนกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯอีกยิ่งสะท้อนปัญหาความไม่เท่าเทียมในสหรัฐฯอาจร้อนแรงโดยเฉพาะกลุ่มหลบหนีเข้าเมือง
...
ส่วนความไม่เสมอภาคระหว่างเพศก็มีสังเกตจากผู้หญิงที่ควรเป็นประธานาธิบดีในช่วง 20 ปีนี้คือ ฮิลลารี คลินตัน แต่ค่านิยมสหรัฐฯยังยกย่องชายเป็นผู้นำจึงถอนตัวให้บิล คลินตัน ลงชิงจนได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ
เช่นเดียวกับเลือกตั้ง 2024 “คามาลา แฮร์ริส ที่พ่ายแพ้” ส่วนหนึ่งก็มาจากความไม่เท่าเทียมทางเพศในสหรัฐฯที่ยังมีอยู่ เพียงแต่ไม่เป็นปัญหาข้อพิพาทเด่นชัดนั้นก็ทำให้ที่ผ่านมา “สหรัฐฯ” ไม่มีประธานาธิบดีเป็นผู้หญิง
ย้อนมาดูที่ “ประเทศไทย” จำเป็นต้องส่งเสริมสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศเชื่อมโยงหลักประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลเป็นเงื่อนไขให้เกิดการกำหนดทิศทาง นโยบาย และมาตรการการส่งเสริมความเสมอภาคด้วยอาจจะกำหนดที่นั่งสภาฯให้สตรี คนพิการ ผู้ด้อยโอกาสเป็นพื้นฐานไว้สำหับคนกลุ่มนี้ได้มีสิทธิมีเสียงในสภาฯ
แม้จะเป็นเสียงข้างน้อย “ก็เป็นระบบเยียวยาความเหลื่อมล้ำอันเป็นหลักประกันขั้นต่ำ” ให้มีตัวแทนกลุ่มเข้ามาเพื่อสร้างสังคมที่สมดุล เสมอภาค ปรองดอง เอื้ออาทร เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ปฏิบัติต่อบุคคลด้วยความเสมอภาค ให้โอกาสทุกคนได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ในการมีส่วนร่วมสร้างสรรค์พัฒนาสังคม
...
สิ่งนี้ล้วนเป็น “กุญแจสำคัญ” ในการสร้างพลังการเปลี่ยนแปลง และผลักดันความเสมอภาคระหว่างเพศในการมีศักยภาพการใช้โอกาสในสังคม และชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม