“ทีม 4 ป.” ประกอบด้วยตำรวจ ปปป. ป.ป.ท. ป.ป.ช. และ ปปง. ซุ่มสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ออกหมายจับ 2 หัวหน้าด่านชั่งน้ำหนักและหัวหน้า ชุดเฉพาะกิจ Spot check กรมทางหลวง 1 หน้าเสื่อ และ 1 บัญชีม้า เปิดปฏิบัติการ “ล้างบาง Spot check” จู่โจมตรวจค้นจับกุมผู้ต้องหาคาด่าน ยึดข้อมูลการเรียกรับส่วยรถบรรทุกรายเดือนในพื้นที่ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง โดนหมดไม่ว่ารายใหญ่รายเล็ก ต้องจ่ายตั้งแต่หลักพันไปถึงหลักแสนบาท ตะลึงเฉพาะผู้ประกอบการภาคอีสานเจอเงินหมุนเวียนถึง 200 ล้านบาท เก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์มาตรวจสอบเพิ่ม เชื่อเจอคนมีเอี่ยวเพิ่มอีกแน่นอน

ทีม 4 ป. ปฏิบัติการ “ล้างบาง Spot check” เปิดเผยขึ้นเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 3 ก.ย. พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป. พ.ต.อ.ธณัชชนน์ เก่งกสิกิจ ผกก.3 บก.ปปป. พร้อมด้วยนายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการ ป.ป.ท. นายจักรกฤษณ์ ตันเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และนายสุขสันต์ ประสาระเอ ผอ.สืบสวนและกิจการพิเศษ สนง.ป.ป.ช.นำกำลังเปิดปฏิบัติการทลายเครือข่าย “เจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับส่วยรถบรรทุก” ตรวจค้นด่านชั่งทางหลวงพร้อมกัน 11 จุดใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ จ.ชัยภูมิ จ.เพชรบูรณ์ จ.นครปฐม จ.ชลบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพมหานคร เพื่อกวาดล้างขบวนการดังกล่าว

ปฏิบัติการดังกล่าวจับกุมผู้ต้องหาคนสำคัญ 3 ราย ประกอบด้วย 1.นายนพดล แสนงาย อายุ 57 ปี ตำแหน่งนายช่างเครื่องกลอาวุโส หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักอุบลราชธานีขาออก กรมทางหลวง และเป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจ Spot check2 ตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติ มิชอบภาค 3 ที่ จ.32/2567 ลงวันที่ 2 ก.ย.67 ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต 2.นายอเนก คำโฉม อายุ 59 ปี ตำแหน่งนายช่างเครื่องกลชำนาญงาน หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักด่านขุนทดขาเข้านครราชสีมา ตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 ที่ จ.32/2567 ลงวันที่ 2 ก.ย.67 ข้อหาเดียวกัน

...

และ 3.นายธงชัย หรือบอย เต็มฟอม อายุ 38 ปี ทำหน้าที่หน้าเสื่อ ตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 ที่ จ.34/2567 ลงวันที่ 2 ก.ย.67 ข้อหาเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานร่วมกันละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเรียกนายประทิน โพธิ์ชัยรัตน์ อายุ 39 ปี เจ้าของบัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) มารับทราบข้อกล่าวหาด้วย

เป้าหมายสำคัญคือ สถานีตรวจสอบน้ำหนักวังน้อย สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง ตรวจค้นห้องพักนายนพดลพบปืน 2 กระบอกมีทะเบียน 1 กระบอก ไม่มีทะเบียน 1 กระบอก ตรวจสอบคอมพิวเตอร์และจอควบคุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินพบว่ามีถังข้อมูล 2 ถัง ถังแรกส่งเข้าระบบส่วนกลาง ส่วนอีกถังไม่เข้าระบบ ตรวจยึดเซิร์ฟเวอร์ทั้ง 2 ถังมาตรวจวิเคราะห์ว่ามีความผิดปกติส่วนไหนบ้าง และยังให้เจ้าหน้าที่ด่านชั่งใช้เครื่อง spot check ตรวจสอบจริงกับรถบรรทุกบนถนนพหลโยธินขาออก เพื่อดูว่าเครื่องชั่งใช้งานได้ตามมาตรฐานหรือไม่

หลังจากนั้น พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก.พร้อมคณะนำหมายเข้าตรวจสอบศูนย์บัญชาการเครือข่ายสถานีตรวจสอบน้ำหนักยานพาหนะ สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี เพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติม ตรวจสอบเซิร์ฟเวอร์เก็บข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พร้อมสอบถามขั้นตอนการรายงานการปฏิบัติของด่านชั่งน้ำหนักต่างๆทั่วประเทศว่า รายงานการตรวจจับรถบรรทุกน้ำหนักเกินอย่างไร มีมาตรการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหัวหน้าด่านหรือไม่ หากเบิกอุปกรณ์ spot check ของด่านต่างๆเป็นไปตามระเบียบราชการหรือไม่ เพื่อนำมาประมวลว่าผู้ใดเข้าข่ายต้องถูกดำเนินคดีเพิ่มเติมอีก

คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อกลางปี 2566 กลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกยื่นเรื่องร้องเรียนตามหน่วยงานต่างๆ หลังถูกกลุ่มเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงร่วมกับพลเรือนเรียกเก็บส่วยรถเครนและรถบรรทุกน้ำหนักเกิน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีขณะนั้น สั่งการให้ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ประสานข้อมูลกับตำรวจ บก.ปอท. เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท.ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบข้อมูลสำคัญว่า เจ้าหน้าที่สำนักควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ (สคน.) กรมทางหลวง ใช้อำนาจหน้าที่การเป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจเก็บส่วยรายเดือนจากผู้ประกอบการ เพื่อแลกการไม่จับกุมดำเนินคดี

การสืบสวนทราบว่า นายธงชัย หรือบอย เป็นหน้าเสื่อเจรจาเรียกรับส่วย หากผู้ประกอบการรายใดไม่ทำตามจะถูกกวดขันจับกุมอย่างหนักจนกระทบธุรกิจ มีพฤติกรรมเช่นนี้มานานหลายปี ผู้ประกอบการตกเป็นเหยื่อกว่า 30 ราย มีทั้งรายใหญ่รายเล็กในพื้นที่ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ต้องจ่ายส่วยรายเดือนหลักพันถึงหลักแสน เงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาทต่อเดือน หลังจากนั้นถูกโอนเข้าบัญชีม้าที่เปิดโดยนายประทิน ก่อนถูกโอนไปยังหัวหน้าขบวนการ ชุดสืบสวนต้องหาหลักฐาน สอบปากคำพยานกว่า 30 คน รวมถึงข้อมูลบัญชีธนาคารผู้รับส่วย บัญชีม้า บัญชีผู้จ่ายส่วย ภาพกล้องวงจรปิด บัญชีธนาคาร กล้องโทรศัพท์มือถือพยาน ก่อนขอศาลอนุมัติหมายจับ

มีรายงานข่าวด้วยว่า ชุดจับกุมตรวจพบบัญชีม้า ของผู้ต้องหากลุ่มนี้ ที่เปิดขึ้นในชื่อของนายประทิน เพื่อรับโอนเงินจากผู้ประกอบการ ก่อนพบว่าบัญชีถูกเปิดตั้งแต่เดือน ส.ค.2565 จนถึงเดือน มิ.ย.2566 ระยะเวลาประมาณ 10 เดือน มีเงินโอนเข้าบัญชีทั้งการรับโอนและฝากเงินสดเข้าตู้เอทีเอ็มรวมกว่า 6,265,631 บาท ส่วนการตรวจสอบบัญชีธนาคารของนายธงชัย หรือบอย หน้าเสื่อพบว่า ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน มีเงินหมุนเวียนเข้าออกเกือบ 200 ล้านบาท ในจำนวนนี้โอนไปยังบัญชีธนาคารส่วนตัวของนายนพดล หัวหน้าชุด 31 ครั้ง รวมเป็นเงิน 3,161,100 บาท และยังพบว่าวิธีการผ่องถ่ายเงินส่วยส่วนใหญ่ใช้วิธีกดถอนเงินสดแล้วนำไปส่งมอบตามจุดนัดหมาย

ส่วนการตรวจสอบบัญชีธนาคารของนายนพดล ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน มีผู้โอนเงินหรือฝากเงินสดเข้ารวม 13,237,672 บาท ในจำนวนนี้พบว่า รับโอนเงินมาจากนายเอนก หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักด่านขุนทดขาเข้า ตั้งแต่ปี 2563-2566 รวมเป็นเงิน 5,526,500 บาท เชื่อว่าเป็นส่วยรถบรรทุกน้ำหนักเกินเช่นเดียวกัน เจ้าหน้าที่จึงขยายผลตรวจสอบเส้นทางการเงินของนายเอนกพบหลักฐานสำคัญว่า มีการรับโอนเงินรายเดือนจากผู้ประกอบการรถบรรทุก เดือนละตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท เฉพาะปี 2563-2566 มีเงินฝากเข้าบัญชีรวม 11,465,976 บาท

...

ต่อมาเวลา 16.00 น. ที่ห้องประชุมกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป. นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม และโฆษกกระทรวงคมนาคม นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ

ป.ป.ท. นายจักรกฤช ตันเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ร่วมกันแถลงผลปฏิบัติการ “ล้างบาง spot check”
พล.ต.ต.จรูญเกียรติกล่าวว่า การแข่งขันทางธุรกิจทำให้เกิดส่วยสติกเกอร์ แก้ไขปัญหาโดยสั่งย้ายตำรวจ 40 นาย ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด 6 นาย มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ หากเจ้าหน้าที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวจะส่งผลกระทบกับประชาชน สร้างความเสียหายให้ประเทศชาติ สำหรับเงินหมุนเวียนที่พบเกือบ 200 ล้าน ภายใน 4 ปี หากขยายผลไปถึงหรือพบใครเกี่ยวข้องจะดำเนินคดีให้หมด นอกจากเงินผ่านบัญชียังพบว่ามีเงินสดจำนวนมากที่ไม่สามารถระบุจำนวนได้ คาดว่าหลังจากนี้จะมีผู้ต้องหาเพิ่ม เชื่อว่ามีตัวการใหญ่ในกรมทางหลวงอยู่เบื้องหลัง ยืนยันไม่มีมวยล้มแน่


พล.ต.ต.ประสงค์กล่าวว่า เงินหมุนเวียนในบัญชีจำนวน 200 ล้านบาท เป็นเพียงเงินขาเข้าบัญชีที่มาจากผู้ประกอบการรถบรรทุกภาคอีสานประมาณ 200 ราย โอนผ่านบัญชีม้าของนายประทิน ก่อนแปลงเป็นเงินสดออกจากบัญชี ทั้งนี้ต้องขยายผลต่อว่าส่งต่อไปให้ใครบ้าง ตอนนี้มีผู้เสียหายให้ข้อมูลแล้วประมาณ 50 คน แต่ยังมีผู้ประกอบการ อีกหลายรายที่ไม่ได้เข้ามาให้ข้อมูลเนื่องจากกังวลว่าจะถูกดำเนินคดี เพราะยินยอมจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่เอง ปฏิบัติการนี้ตรวจสอบเพียงด่านเดียวจากทั้งหมด 12 ด่าน

ด้านนายจักรกฤชยอมรับว่า จากการตรวจสอบระบบกรมทางหลวง ในการชั่งน้ำหนักรถบรรทุกมีความหละหลวมเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถตอบคำถามว่ามีมาตรการติดตามรถบรรทุกที่น้ำหนักเกินได้อย่างไร อีกทั้งชุดเฉพาะกิจ Spot check บางชุด ไม่ได้รายงานผลการจับกุม เป็นลักษณะการปล่อยให้เจ้าหน้าที่ทำงานกันเอง เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีจำนวนน้อย ด่านชั่ง 1 ด่านมีเจ้าหน้าที่เพียง 1 คนที่เหลือเป็นเพียงลูกจ้างเท่านั้น

...

ส่วนนายกฤชนนท์กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญเรื่องส่วยทางหลวงที่เกิดขึ้น หลังจากนี้จะใช้ระบบ wim เข้ามาใช้แทนอุปกรณ์ spot check แต่เนื่องจากเพิ่งเริ่มใช้จึงยังไม่สามารถควบคุมทุกเส้นทาง ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ประจำด่านมีเพียงคนเดียว นอกนั้นเป็นลูกจ้างประจำอาจเกิดการทุจริตได้ ส่วนการแก้ปัญหามีการหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ประจำด่านทุก 1 ปี เพื่อป้องกันการสร้าง อิทธิพลและการแสวงหาผลประโยชน์ หลังปี 2565 ที่เกิดเรื่องส่วยทางหลวง กรมทางหลวงสั่งให้หยุดชุด spot check ทั้งหมดแล้ว รวมทั้งจะเปิดรับเจ้าหน้าที่ประจำด่านเพิ่ม เนื่องจากคนไม่พอกับด่านที่มีเกือบ 105 แห่งทั่วประเทศ

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่