ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สอศ.) ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง แนวทางการพัฒนาระบบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบและแนวทางการทดสอบโอเน็ตที่สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่ง สกศ.ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ให้จัดทำข้อเสนอแนวทางการพัฒนาระบบการทดสอบโอเน็ต ซึ่งที่ผ่านมาช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ศธ.ปรับเปลี่ยนนโยบายการเข้ารับการทดสอบโอเน็ตเป็นภาคสมัครใจ แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจึงจำเป็นต้องทบทวนแนวนโยบายดังกล่าว

เลขาธิการ สกศ.กล่าวอีกว่า ผลกระทบที่เกิดจากนโยบายที่ให้ทดสอบโอเน็ตแบบสมัครใจมีหลายประการ อาทิ ผลการทดสอบไม่สามารถสะท้อนคุณภาพการศึกษาในภาพรวมของประเทศได้ เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมการทดสอบไม่เป็นตัวแทนของนักเรียนทั้งประเทศ ปัญหาเด็กนักเรียนที่สมัครสอบขาดสอบเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนในการจัดสอบสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ส่วนข้อดีที่เกิดก็มี อาทิ การทดลองปรับรูปแบบการจัดสอบ โดยใช้การสอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ระดับ ม.6 ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการทดสอบ

“ที่ประชุมมองว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของแนวทางการจัดสอบโอเน็ตที่ต้องดำเนินการเป็นลำดับแรก คือ ต้องสร้างแรงบันดาลใจและความกระตือรือร้นในการสอบให้เด็กนักเรียนเห็นประโยชน์และอยากเข้ารับการทดสอบโอเน็ตโดยการสร้างแรงจูงใจต่างๆ อาทิ การกำหนดให้คะแนนสอบเป็นเงื่อนไขพิเศษสำหรับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น การให้รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรตินักเรียนที่มีผลคะแนนที่ดีเยี่ยม ประเด็นต่อมา คือ การบูรณาการการทดสอบเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบปกติของโรงเรียน เพื่อลดภาระของทั้งนักเรียนและครู” เลขาธิการ สกศ. กล่าวและว่า สกศ.จะสังเคราะห์ข้อเสนอที่ได้ใช้เป็นข้อเสนอแนวทางการจัดการทดสอบโอเน็ตปีการศึกษา 2567 ให้ รมว.ศธ. พิจารณาสั่งการต่อไป สุดท้ายนี้ ระบบการศึกษาไทยในเชิงมหภาค ขณะนี้เรามีแผนการศึกษาแห่งชาติ มาตรฐานการศึกษาของชาติ และหากเรามีการทดสอบการศึกษาแห่งชาติที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ทั้ง 3 อย่างนี้จะกลายเป็น 3 เสาหลักในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของไทยต่อไป.

...