มีคนวิจารณ์ว่าประเทศไทยกลายเป็นประเทศดาวร่วง หาใช่ดาวรุ่งอีกต่อไป เพราะเราผลิตแต่สินค้าโลกเก่า ไม่ผลิตสินค้าโลกใหม่ซึ่งเป็นที่ต้องการของโลก เช่น เราผลิตฮาร์ดดิสก์ แทนที่จะผลิต SSD หรือ Solid State Drive เราผลิต แอร์ ตู้เย็น เครื่องไฟฟ้าแบบเก่าๆ แทนที่จะผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชิฟ โทรศัพท์มือถือ เราผลิตปิโตรเลียม ก๊าซ เคมีภัณฑ์ พลาสติก แบบเดิมๆที่เป็นมลพิษและสร้างก๊าซเรือนกระจก แทนที่จะใช้วัตถุดิบการเกษตร มาผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพ พลาสติกชีวภาพ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้นและส่งออกไปยังตลาดโลกใหม่

เรายังเน้น ผลไม้ ผัก ปลา ไก่ กุ้ง ยางแผ่น ยางแท่ง ยางรถยนต์ น้ำมันปาล์ม มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมัน แทนที่จะพยายามแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าเหล่านี้ก่อนจึงค่อยส่งออก

“เกษตรกรไทยมีมากถึงสิบล้านคน ส่วนใหญ่มีรายได้น้อย เรามักมองมุมเดียวว่าการทำเกษตรคือการสร้างแหล่งอาหาร แต่ความจริงแล้ว การเกษตรเป็นมากกว่าอาหาร การตอบสนองต่อความต้องการสินค้าโลกใหม่ ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการแปรรูป นวัตกรรมเป็นอุปสรรคสำคัญการผลิตภาคเกษตรของไทย ที่ต้องการการสนับสนุนจากแนวนโยบาย จากโครงสร้างพื้นฐานทางการผลิตและโครงสร้างตลาดที่จะเชื่อมโยงสินค้าที่ล้นตลาดเหล่านี้ ไปสู่ความเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการ ที่อาจจะเรียกว่า สินค้าเกษตรโลกใหม่ ก็ว่าได้”

...

ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล กรรมการที่ปรึกษามูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย และอาจารย์สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บอกว่า ความจำเป็นในการลงทุน เพื่อเปลี่ยนระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อผลิตสินค้าเกษตรโลกใหม่ นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของรัฐบาล ที่ต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและรายได้ของเกษตรกร

แนวนโยบายการเพิ่มมูลค่าภาคการเกษตรจะสามารถขับเคลื่อนได้ จำเป็นต้องอาศัย 1. การมีโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรที่ดี คือ ระบบน้ำ ดิน ปุ๋ย โลจิสติกส์ นวัตกรรม ที่ช่วยให้เราผลิตสินค้าโลกใหม่ 2. การมีโครงสร้างทางการตลาดที่ดี เชื่อมโยงผลิตภัณฑ์โลกใหม่ไปสู่ตลาดโลกใหม่ 3. การมีเครื่องมือที่ดีในการขับเคลื่อนนโยบาย เช่น กฎ ระเบียบข้อบังคับต่างๆ เช่น หากเรามีที่ดินมากมายเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่มีข้อจำกัดในการใช้ที่ดินเพราะเรามีข้อกฎหมายที่ล้าหลัง ทำให้เราไม่สามารถใช้ ประโยชน์ในที่ดินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

“นักการเมืองต้องกล้าที่จะทุบโต๊ะและสร้างความเปลี่ยนแปลงในกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ รวมถึงจัดสรรงบประมาณให้โครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรมสินค้าโลกใหม่เกิดขึ้น ไม่งั้นเราไม่มีทางหลุดพ้นภาคเกษตรแบบโลกเก่าไปได้ ในขณะที่ข้อจำกัดที่สำคัญ คือโลกกำลังมองว่า กิจกรรมภาคเกษตรก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก 30% ของก๊าซเรือนกระจกโลก จากกิจกรรมการใช้พลังงาน ใช้แรงงาน ปุ๋ยและน้ำที่ไร้ประสิทธิภาพ และภาคเกษตรถูกมองว่าใช้น้ำมากถึง 70% ของน้ำจืดบนโลกใบนี้”

ดร.บุรินทร์ อธิบายว่า สินค้าเกษตรโลกใหม่ ไม่ใช่แค่อาหาร แต่จะซ่อนอยู่ในทุกสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่าง มาเลเซียมีผงซักฟอกรักษ์โลก ที่มีส่วนผสมของปาล์มน้ำมันขายในห้างสรรพสินค้า มาเลเซียผลิตและส่งออกไปปีละนับล้านตัน ใครผลิตและส่งออกสินค้าโลกใหม่แบบนี้ได้ ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมส่งออก และผู้ผลิตคืออดีตผู้ผลิตน้ำมันพืชรายใหญ่นั่นเอง สินค้าแบบนี้เป็นที่ต้องการของประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และให้ราคาสูง น้ำมันเครื่องของยี่ห้อฝรั่งและญี่ปุ่นในงานมอเตอร์โชว์ ลิตรละพันบาท หยิบกระป๋องมาดู ก็พบว่า มีส่วนประกอบของน้ำมันพืชที่เรามีล้นประเทศ คนป่วยในโรงพยาบาลที่ต้องให้อาหารทางสายยาง ราคากระป๋องละพันบาท ก็มีส่วนผสมของโปรตีนที่แปรรูปมาจากแป้งหรือน้ำตาล ซึ่งเราก็มีล้นประเทศ ครีมบำรุงผิวยี่ห้อดังระดับโลก ส่วนผสมได้มาจากพืชที่เรามีล้นประเทศ

...

“เรามีพืชที่ให้คาร์โบไฮเดรต ให้แป้งและน้ำตาลล้นประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย เรามีพืชที่ไขมัน เช่น ปาล์มน้ำมัน ล้นประเทศทุกปี แต่เราขาดโปรตีน ต้องมีการนำเข้า เช่น นำเข้าถั่วเหลืองมาผลิตเป็นกากถั่วที่เป็นแหล่งโปรตีนอาหารสัตว์ แล้วยังเหลือผลพลอยได้เป็นน้ำมันถั่วเหลืองแข่งราคากับน้ำมันปาล์มที่เรามีล้นเหลือ แสดงให้เห็นว่าเราติดกับดักโครงสร้างการผลิตของตัวเอง ที่ไม่มีใครยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง”

แต่ในทางตรงกัน ข้ามฝรั่งกลับนำแป้งข้าวโพดที่ไม่มีโปรตีนมาแปรรูปด้วยกระบวนการชีวภาพ เป็นโปรตีนอาหารสัตว์ราคาถูกเลี้ยงสัตว์ ส่งออกหมู วัว ที่มีราคาถูกกว่าเราได้ ตอนหลังจีนก็เลียนฝรั่งแล้ว เอาแป้งข้าวโพด มาทำโปรตีน ตอนนี้ยังเอามาทำขวดทำถุงพลาสติกจากข้าวโพด ที่เขาทำกันมานานแล้ว

นี่คือตัวอย่างของ “สินค้าเกษตรโลกใหม่” ที่ ดร.บุรินทร์ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าเรายังมัวผลิตสินค้าเกษตรโลกเก่าอยู่แบบนี้ เราจะอยู่ในภาวะพายเรือวนในอ่างต่อไปอีกนาน และต้องแก้ปัญหาราคาตกต่ำกันไม่จบสิ้น เหมือนเลี้ยงไข้ไว้ยังไงชอบกล ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราต้องปรับโครงสร้างภาคเกษตรเสียใหม่ ปรับความคิดและแนวทางการทำงานใหม่ ไม่งั้นไม่มีทางบรรลุวิสัยทัศน์เพิ่มมูลค่า 3 เท่าใน 4 ปี ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ คนปัจจุบัน.

ชาติชาย ศิริพัฒน์

คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม