ตลาดแรงงานทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายสำคัญ จากการพัฒนาของเทคโนโลยี “AI” หรือ “ปัญญาประดิษฐ์”...ที่เปรียบเสมือนคลื่นยักษ์สึนามิกำลังเตรียมถล่ม ด้วยว่าสังคมมีเวลาน้อยเกินไปในการเตรียมพร้อมผู้คนและธุรกิจต่างๆให้รับมือกับคลื่นเทคโนโลยีนี้ได้

คาดกันว่า...ภายในสองปีข้างหน้านี้ “AI” จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกการทำงานถึง 40% โดยเฉพาะงานในประเทศที่พัฒนาแล้วจะได้รับผลกระทบถึง 60%

ประเด็นสำคัญมีว่า...หากเราใช้งานเครื่องมือ AI ได้เป็นอย่างดี จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้อย่างมหาศาล ตรงกันข้ามหากใช้งานไม่เหมาะสม หรือไม่รู้จักวิธีใช้ก็อาจนำไปสู่ปัญหาใหม่ของสังคม โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลข่าวปลอม รวมถึงการขยายช่องว่างของความไม่เท่าเทียมกันในสังคมมากยิ่งขึ้น

รศ.ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร (MUT) มองว่า บอกว่า “AI (Artificial Intelligence)” หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” เรารู้จักกันมานานแล้วน่าจะ 50 ปี ยุคแรกเริ่มก็คือ ซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งที่เพิ่งเริ่มพัฒนา ไม่ฉลาดหลักแหลม ทำได้ไม่เหมือนคน

...

ต่างจากปัจจุบันมีการพัฒนารวดเร็วอย่างก้าวกระโดด ด้วยมีฮาร์ดแวร์ที่มาสนับสนุน พัฒนาลงลึกเรื่องดีพเลิร์นนิ่ง...สอนคอมพิวเตอร์ให้ประมวลผลข้อมูลในลักษณะที่อ้างอิงมาจากสมองมนุษย์

รศ.ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม
รศ.ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม

เมื่อมีฮาร์ดแวร์มาซัพพอร์ตก็ทำให้การพัฒนาเอไอไปไวก้าวกระโดด โดยเฉพาะเจนเนเรทีฟเอไอ...สร้างเนื้อหาใหม่ๆได้อย่างหลากหลายแบบอัตโนมัติ โดยที่ไม่ต้องมีมนุษย์เข้ามาช่วย เช่น ถามตอบ การแปลเอกสาร สร้างข้อความ รูปภาพ เพลง วิดีโอ ทำให้การพัฒนามีบริษัทต่างเข้ามาลงทุน ในเรื่องนี้มากขึ้น

จุดประกายให้วิศวกรอย่างเรารู้ว่าจะใช้เอไอไปในทิศทางไหน และคงต้องย้อนกลับไปในข้อกังวลที่ว่า เอไอจะเข้ามามีบทบาทแทนที่ในหลากหลายสาขาอาชีพ ซึ่งจะได้รับผลกระทบมากน้อยอย่างไร?

“ไม่ต้องพูดถึงในอนาคต เพราะปัจจุบันเริ่มมาทดแทนแล้ว เมื่อก่อนเอไออาจจะใช้มากในกระบวนการทำซ้ำในสายการผลิต ใส่ของซ้ำๆ ตรวจสอบสายการผลิตว่าของออกมาได้มาตรฐานหรือไม่ ถูกทดแทนมาสักพักแล้ว” รศ.ดร.ภานวีย์ ว่า “ที่สำคัญ...เชื่อมั่นได้เลยว่า AI จะพัฒนามาเรื่อยๆ มาทดแทนความเป็นสกิล...ทักษะของคนไปได้เรื่อยๆ คำตอบในคำถามนี้ จึงเป็นเรื่องยาก”

เอาว่า...ในเมื่อเรารู้อยู่แล้วว่าปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามามีบทบาทมาก เราจะใช้ประโยชน์ของเอไออย่างไรให้อาชีพของเราอยู่ได้ ยกตัวอย่างอาชีพ “ครู” วันนึงจะถูกทดแทนด้วยเอไอหรือเปล่า ไม่นานมานี้มีโอกาสไปร่วม ประชุมที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับหลักสูตรด้านวิศวกรรมศาสตร์ เป็นสิ่งที่พูดถึงกันมาก

กรณียกตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับครู ปัจจุบันครูกับผู้ช่วยครูหาได้ยาก เลยลองเอาเอไอมา...ข้อระวังสำคัญคือ ข้อมูลที่เอไอเอาเป็นคำตอบให้เรามาตอบให้นักเรียน...แล้วเอาข้อมูลที่ไม่มีมาตรฐาน คำตอบไม่ถูกต้องมาก็ได้ ก็เลยทดลองให้เอไอรับข้อมูลจากเลกเชอร์ เท็กซ์บุ๊ก...แบบเรียนเราอย่างเดียวเท่านั้น

เสร็จแล้ว นักเรียนสงสัย มีคำถาม หรือตอนที่ไม่มีครู ก็ให้เอไอเอาคำตอบจากข้อมูลที่รับไว้แล้วว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง น่าสนใจว่าตอนนี้สร้างครูเอไอได้แล้ว จะทำให้นักเรียนสามารถสอบถามเรื่องการเรียนการสอนได้ทุกเวลาทุกที่ ถึงตอนนี้ในส่วนภาคการศึกษาในเมื่อเราตระหนักว่าเอไอมาแน่ ก็ควรที่ต้องรู้จักใช้ได้อย่างถูกต้อง

...

“ที่ ม.มหานคร วิชาภาษาอังกฤษเราบอกเลยว่า เขียนประโยคที่เป็นภาษาไทยมาแล้วให้เอไอแปลเป็นภาษาอังกฤษ...เมื่อก่อนเราคงให้คะแนนการแปลภาษาไทยเป็นอังกฤษจบไปได้คะแนน แต่เราจะมาดูว่าภาษาอังกฤษที่แปลมีความถูกต้องขนาดไหน แล้วเรียนจากข้อผิดพลาดของเอไอให้เด็กได้ตระหนักขึ้น”

เอไอ...แปลคำพูดภาษาไทยออกมาเป็นภาษาอังกฤษแล้วผิดความหมาย ผู้เรียนจะทำอย่างไร นี่เป็นวัตถุประสงค์การรู้จักใช้เอไออีกด้านหนึ่ง ย้ำว่า...เราหยุดยั้งมันไม่ได้ ควรที่จะต้องยอมรับ และใช้...ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ท้ายที่สุดแล้วเชื่อว่าเอไอจะมีส่วนทำให้คนทำงานกลับสู่ครอบครัวได้มากขึ้น

“ทุกคนจะกลัวเอไอมาแย่งงานแล้วจะตกงาน ตรงกันข้ามผมคิดว่าถ้าเราใช้เอไอมาช่วยงานเรา แบ่งเบาเราให้มีเวลาไปทำในสิ่งที่เราอยากทำได้มากขึ้น เอกสารเยอะแยะไปหมด แปลเป็นหน้าๆ เขียนข้อความต่างๆ นำประโยชน์ของเจนเอไอเข้ามาช่วย สร้างภาพเพื่อให้ทำอินโฟกราฟิกได้ทันใจ ไม่ต้องมานั่งวาดรูปเอง”

สะท้อนว่าถ้าเราใช้เอไออย่างถูกวิธี จะทำให้เรามีเวลาเพิ่มขึ้น มีเวลาไปเล่นกับลูก กลับไปสู่ครอบครัว ไปทำในสิ่งที่เราอยากจะทำได้... “เวลาทำงานน้อยลง ถ้าเราใช้เอไออย่างถูกวิธี”

...

ถึงตรงนี้ด้านเทคโนโลยี “AI” ปัญญาประดิษฐ์ แบ่งออกได้เป็นสองมุมมอง หนึ่ง...คนที่พัฒนาเทคโนโลยี สร้างเอไอขึ้นมา ประเทศไทยวันนี้ถ้าจะทำอย่างนั้นปัญหาก็คือเจนเนอเรทีฟเอไอส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งรัฐบาลจีนลงทุนทำเป็นภาษาจีนขึ้นมาแล้ว

“แล้วถ้าเราต้องการสร้าง...มีโค้ดเอง มีกระบวนการคิดของตัวเองก็ต้องเป็นภาษาไทยด้วย เพื่อให้เข้าถึงคนส่วนใหญ่ในประเทศไทยได้ ถ้าเป็นสายวิศวะส่วนที่เรียนจบก็ควรที่จะรู้ว่าจะใช้เอไออย่างไร มีประโยชน์อย่างไรบ้างต่อกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในอนาคต”

ยกตัวอย่าง ฮาร์ดสกิล...ทักษะจำเพาะตอนนี้จะถูกทดแทนด้วยเอไอ เราไม่ต้องไปจำสูตรสมการ ไม่ต้องคิดคำนวณต่างๆแล้ว เด็กที่เรียนจบไปแล้วรู้การใช้เอไออย่างถูกต้องก็จะสามารถทำนายล่วงหน้าได้ว่าสายพานการผลิตนี้ต้องบำรุงรักษาเมื่อไหร่ จะเสียเมื่อไหร่ ต้องสั่งเมื่อไหร่

เอไอจะทำให้คนหนึ่งคนดูแลงานรับผิดชอบงานได้มากขึ้น แต่ ต้องใช้อย่างถูกต้อง ปัญหามีว่า...ถ้าเชื่อเอไออย่างเดียวเลย ก็อาจจะไม่ถูกต้อง มนุษย์จึงจะต้องมีความรู้พอประมาณว่า...สิ่งที่เอไอตอบมานั้นถูกต้องหรือเปล่า เป็นสิ่งที่ต้องการหรือไม่

ถัดมา...อย่างน้อยเด็กทุกคนที่ผ่านกระบวนการเรียนของประเทศไทย จะต้องรู้จักการใช้เอไอให้เกิดประโยชน์มากที่สุด วันนี้เราแค่ตื่นตระหนกหรือเปล่า? รศ.ดร.ภานวีย์ บอกว่า วันนี้หลายๆหน่วยงานก็เน้นเรื่องนี้แล้วแต่ต้องเป็นวาระระดับชาติ ลงทุน...กระบวนการพัฒนาเอนจิน ฮาร์ดแวร์

สมมติว่าเราอยากจะมีเอไอเซ็นเตอร์ขึ้นมาเขียนโค้ดเสร็จเรียบร้อย ดีพเลิร์นนิ่ง...เข้าไปแล้วฮาร์ดแวร์ที่จะประมวลผล...ระบบเซิร์ฟเวอร์คอมพิวเตอร์ที่ประมวลผลได้เร็วมีไหม เอไอจะพัฒนาได้ไม่ไกลถ้าขาดฮาร์ดแวร์ที่พร้อมประมวลผล นับรวมไปถึงบุคลากรบ้านเรามีผู้เชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์มากน้อยแค่ไหน

...

ประเทศไทยกับแผน “เอไอ”...ปัญญาประดิษฐ์ เป็นเรื่องใหญ่...และกว้างไกล มุมมองส่วนตัว ถ้าเราจะก้าวไปทางนี้ ประเทศไทยมีความโดดเด่นเรื่องการท่องเที่ยว จุดหมายของคนทั่วโลกและการเกษตร “ครัวของโลก” เราก็ถนัด สองเรื่องนี้ถ้าเราเน้นพัฒนาเอไอเฉพาะทาง น่าจะประสบความสำเร็จได้มากกว่า

“นำเอไอเข้ามาประยุกต์ใช้กับการเกษตร สิ่งแวดล้อม การขยายของเมืองมีผลต่อป่าไม้ เอาเอไอเข้ามาจับไหม...เราเป็นผู้นำ เอไอมาช่วยปลูกข้าว บริหารจัดการน้ำ เอามาช่วยดูคู่แข่ง...เวียดนามเก็บเกี่ยวแล้ว เราอย่าทำซ้ำกับเขา...ไม่ให้เก็บเกี่ยวพร้อมกัน แต่ผลิตออกมาในช่วงที่เขาไม่เก็บเกี่ยว เข้าสู่ตลาดโลกง่ายขึ้น”

แม้กระทั่งทุเรียน...ส่งไปจีน ให้เอไอมาจับ ถึงที่หมายแล้วสุกพอดี เรื่องเหล่านี้ควรเอาสิ่งที่เราเป็นผู้นำแล้วเอาเทคโนโลยีใส่ลงไป นำ “เอไอ”...ปัญญาประดิษฐ์ มาเติมเต็มเพิ่มศักยภาพ ไม่ควรเริ่มจากศูนย์ แต่เอามาต่อยอดพัฒนา แล้ว “ประเทศไทย” จะเดินหน้าไปได้ไกล
มากกว่าแน่นอน.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม