พลิกโฉมวงการสื่อสารในยุคดิจิทัลจาก “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)” ที่นับวันยิ่งเข้ามามีบทบาทในวงการสื่อสารมวลชนไทยทั้งงานข่าว งานภาพ กราฟิก ไม่เว้นแม้แต่การสร้างอวตารมาทำงานเป็นผู้ประกาศข่าวที่เข้ามาช่วยอ่านข่าวในสตูดิโอมากขึ้นเรื่อยๆ

ทว่าแม้ AI จะมีประโยชน์มากมายแต่อีกด้าน “ก็มีโทษมหันต์ส่งผลกระทบมหาศาล” หากมีผู้นำไปใช้ไม่คำนึงถึงจรรยาบรรณ จริยธรรมและขาดความรู้ดีพอ เนื่องใน “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 2567” สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย UNESCO สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาจึงได้จัดเสวนา “เสรีภาพสื่อในยุค AI”

เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนและรัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของเสรีภาพสื่อมวลชนโดย ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ ประธานอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย บอกว่า ปัจจุบันสื่อกำลังอยู่ภายใต้ระบบนิเวศใหม่ “เกี่ยวกับเทคโนโลยี” เป็นโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทต่างชาติทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก

อย่างเช่น ChatGPT โมเดลภาษาที่ถูกเขียนขึ้นให้สามารถใช้งาน และตอบโจทย์กับทุกคำถาม หรือข้อสงสัย ได้เติบโตอย่างรวดเร็วกว่าโซเชียลมีเดีย ทำให้วิถีการทำงานของสื่อมวลชนกำลังจะเปลี่ยนแปลง “มีตัวแปลสำคัญอย่าง AI เข้ามา” ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานแบบใหม่ในระบบนิเวศของสื่อยุคปี ค.ศ.2022-2024

...

โดยเฉพาะ AI Journalist 101 ที่เรียกว่า “วารสารศาสตร์ปัญหาประดิษฐ์ 101” เข้ามามีบทบาทใน 7 บริบท คือ 1.Data Gathering การรวบรวมข้อมูลข่าวสารในวารสารศาสตร์ต่างๆ 2.News - Script Writing การเขียนสคริปต์ข่าว 3.Fact-checking การนำ AI เข้ามามีบทบาทตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นด้านการข่าว

4.Audience Engagement มีส่วนร่วมของผู้ชมมากขึ้นทุกวัย 5.Automated Translation ถูกใช้แปลภาษาอัตโนมัติ 6.Personalized News-Content-Ads Delivery ข่าวส่วนบุคคล เนื้อหา การแสดงโฆษณา 7.Automated Video-Audio Production & Editing วิดีโออัตโนมัติในการผลิต และการตัดต่อเสียง

เช่นนั้นทำให้ “บทบาท AI ถูกนำมาทำงานด้านสื่อสารมวลชนมากขึ้น” โดยเฉพาะสำนักข่าวในต่างประเทศมีการใช้ AI พากษ์เสียงงานสื่อด้านต่างๆ การจัดการแข่งขันเทนนิสวิมเบิลดัน หรือการจัดรายการวิทยุ จนล่าสุดในปี 2023 หนังสือพิมพ์แท็บลอยเยอรมนีประกาศปลดพนักงาน 200 ตำแหน่ง และหันมาใช้ AI แทน

ไม่เท่านั้น “ฝั่งฮอลลีวูด” ก็จะใช้ AI เข้ามาสร้างเป็นนักแสดง หรือตัวประกอบเช่นกัน จนทำให้กลุ่มนักแสดง และคนเบื้องหลังนัดหยุดงานประท้วงครั้งแรกในรอบหลายสิบปีเมื่อปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้เคยไปดูงาน “เกาหลีใต้” ต่างมีการนำ AI มาตัดต่อจำลองภาพนักร้องช่วยแสดงร่วมแล้ว “ด้านสตูดิโอ” สั่งงานกล้องด้วย AI แม้แต่ผู้ประกาศข่าวก็ใช้ AI แถมพัฒนาสามารถพูดตอบโต้ได้มา 1-2 ปีนี้

แต่ถ้าย้อนกลับมาดู “ประเทศไทย” สำนักข่าวบางแห่งก็ประกาศ “เปิดตัวผู้ประกาศข่าว AI” ยิ่งกว่านั้น “มีการใช้ AI ในภาคการเมือง” ที่อาจใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารในการเลือก สว. เพื่อผลิตผลงานหาเสียงด้วยซ้ำ

ทำให้มีกรณีศึกษาเกี่ยวกับ “นโยบายกำกับดูแลองค์กรสื่อนานาชาติ” ในการบริหารจัดการนวัตกรรม AI มีแนวโน้ม 2 ประการ คือ 1.สื่อมวลชนร่วมมือกับบริษัท AI อย่างสำนักข่าว AP ประกาศความร่วมมือกับองค์กรต่างๆพัฒนาระบบ AI และ 2.ตั้งหน่วยงานของตัวเองขึ้นมาเพื่อพัฒนาระบบ AI โดยตรง

อย่างเช่น “นิวยอร์กไทม์ฟ้องการใช้ผลงาน” ดังนั้นโจทย์สำคัญจากนี้ “จะกำกับดูแลกันอย่างไร” เพราะที่ผ่านมามีการสร้างภาพปลอมขึ้นมาแล้วอาจถูกนำเสนอในช่วงการเลือก สว. ทำให้คนเชื่อข้อมูลส่วนนี้ก็ได้

“ตอนนี้สิทธิเสรีภาพสื่ออยู่ภายใต้ระบบนิเวศใหม่ที่เทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทหลายด้าน ทำให้ผู้ควบคุมมีส่วนสำคัญโดยเฉพาะแวดวงสื่อมวลชนยังเชื่อมั่นสมาคมสื่อต้องออกแนวปฏิบัติของตัวเอง ในการตรวจสอบข้อมูล และการใช้ AI เขียนชิ้นงาน และอาจร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิต AI ในการพัฒนาควบคู่กันไปด้วย” ดร.สิขเรศว่า

ขณะที่ พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ บอกว่า เรื่องข่าวสารไม่จริง-บิดเบือนใช้โจมตีบุคคลอื่นเป็นปัญหาใหญ่โดย The World Economic Forum มองว่าอีก 2 ปีข้างหน้าจะติดอันดับต้นของโลก เพราะการใช้ AI มีกระบวนการพัฒนามากกว่าเดิม สามารถทำได้เรียลไทม์

...

ไม่ว่าจะเป็นการนำภาพใบหน้าคนมาให้ AI เรียนรู้ใบหน้าท่าทางเสียงโทนการพูดบุคคล (Deepfake) ถ้ามีปัญหามักมอง 2 แบบ คือ “พัฒนาการให้คนตัดสินใจเอง หรือควบคุมกำกับ AI” เหตุนี้บทบาทสื่อมวลชนมีความสำคัญในการบอกว่า “สิ่งไหนจริง หรือไม่จริง” ด้วยปัจจุบันมีการนำความจริงมาปะปนแล้วเล่าไม่หมด

ตัวอย่างเช่นธนาคาร “หยุดให้บริการอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง” ทั้งที่มีงาน บริการอื่นแต่ไม่เล่าให้หมด “หลอกล่อให้คนโกรธ” เพราะอัลกอริทึมชอบให้คนคอมเมนต์ หรือกดไลก์เป็นเทคนิคการเล่าเรื่องให้ข้อมูลนั้นโด่งดัง

ปัญหามีอยู่ว่า “AI ถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างให้ร้ายแก่บุคคลอื่น” สิ่งนี้กำลังจะกลายเป็นปัญหาในอนาคตสำหรับการแยกแยะว่า “อะไรคือข่าวปลอม (Fake News) หรืออะไรเป็นเรื่องจริง” สิ่งนี้สื่อมวลชนมืออาชีพที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมต้องเป็นผู้ทำหน้าที่คอยตรวจสอบข้อมูลช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ

จึงอยากให้สื่อทุกคนมีเสรีภาพในความคิดก่อนนำเสนอสิ่งใดออกไป เพราะเราอยู่ในโลกความจริงมิใช่โลกเสมือนจริงแล้ว AI เหมือนจะมาเปลี่ยนแปลง โลก “สื่อไทย” เตรียมตัวแค่ไหนเพื่อให้รู้อย่างสนิทไม่ใช่ผิวเผิน

...

“เรื่องนี้เราควรมอง AI เป็นเครื่องมือใช้ประโยชน์วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อลดเวลาการค้นหาจะเป็นเรื่องดี แต่การเลือกใช้ AI นำเสนอข้อมูลข่าวสารตรงนี้ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบของท่านด้วย เพราะในอนาคตทุกคนมีโอกาสถูกหลอกทั้งเสียง ภาพบุคคล และการโต้ตอบจากการใช้ AI มากขึ้นเรื่อยๆ” พล.อ.ต.อมรว่า

เช่นเดียวกับ ชัชวาล สังคีตตระการ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ บอกว่า สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้ประชาชนในยุคสังคมก้าวเข้าสู่ AI เพื่อให้แยกแยะว่า “สิ่งไหนจริง หรือไม่จริง” เพราะแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหากไม่สังเกตดีๆก็แทบแยก AI ไม่ออกเหมือนกัน

เรื่องนี้ “สื่อมวลชน” ต้องเป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบให้ประชาชนระมัดระวังในการรับข้อมูลข่าวสารที่จะได้รับประโยชน์จาก “การเข้ามาของ AI” ด้วยทุกวันนี้เทคโนโลยีล้ำหน้าทำให้ใครก็เป็นสื่อได้ แล้วถ้านำ AI มาสร้างข้อมูลอาจจะทำให้ข้อมูลผิดเพี้ยนไม่ตรงกับข้อมูลจากหน่วยงานราชการก็ได้

ด้วยประเทศไทยไม่มีกฎหมายบังคับเหมือนต่างประเทศ “การกำกับใช้ AI ให้ปลอดภัยจึงทำได้ยาก” ดังนั้นช่วงแรกต้องขอให้ทุกฝ่ายมาช่วยกัน “ศึกษากรณีในต่างประเทศ” เพราะอย่างไรก็ตาม AI ไม่มีความปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ “ประชาชน” ควรต้องมีความรู้อย่างถ่องแท้จริงๆ เพื่อป้องกันผลทางลบจาก AI

...

“อนาคตทุกวงการจะมี AI เข้ามามีบทบาทด้านใดด้านหนึ่ง คงต้องมีการพูดคุยกับท่าทีต่อการใช้งาน เพราะ AI มีผลทั้งทางบวกและทางลบมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วอย่าไปไว้ใจ หรือวางใจ AI ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะ AI มักเขียนร้อยเรียงข้อความให้เราประทับใจ แต่อาจใช้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ดังนั้นถ้าจะใช้งานก็ต้องตรวจสอบ” ชัชวาลว่า

กนกวรรณ เกิดผลานันท์ หน.ข่าวต่างประเทศ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ บอกว่า เรื่อง AI คนรุ่นใหม่เข้าใจได้ดีสามารถใช้งานเขียน resume ใน Gemini แล้วหลายสื่อต่างประเทศก็ใช้ AI สรุปบทความเป็น bullet point เพื่อดึงหนุ่มสาวเพิ่มขึ้น 20% ทั้งมีการใช้ AI เปลี่ยนเสียงเป็นข้อความหลายภาษา เพราะนักข่าวจะใช้เวลาแปลนาน

นอกจากนี้ยังมี AI ที่ชื่อว่า Foiabot ช่วยเขียนคำฟ้องคดีและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ดีและยังสามารถเปลี่ยน Text เป็น Data ที่เหมาะกับการทำข่าวสืบสวนสอบสวนด้วย ในอนาคตสื่อก็จะมีการใช้ AI เข้ามาเป็นผู้ประกาศข่าว แม้แต่ในเว็บไซต์ข่าวก็แปลภาษาด้วย AI ทั้งภาษาไทย จีน อังกฤษ แต่ยังมีบางคำแปลไม่ตรงความหมาย

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า “เทคโนโลยี AI” แม้ล้ำหน้าเพียงใดแต่ก็มีข้อพกพร่องโดยเฉพาะการนำมาสร้างเนื้อหาข่าวมากเท่าใดก็ยังจำเป็นต้องเน้นความเป็นมนุษย์เข้ามาตรวจสอบมากขึ้นเท่านั้น.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม